ในที่สุดนโยบายพลังงานทดแทนของรัฐบาลชุดปัจจุบันมีความชัดเจนขึ้น เมื่อกระทรวงพลังงานจัดทำกรอบนโยบายโครงการโซลาร์ภาคประชาชนเสร็จสิ้นเมื่อปีที่ผ่านมา อีกทั้งยังออกข้อกำหนดกฎระเบียบเพื่อออกเป็นประกาศสำหรับการซื้อขายไฟฟ้า โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นภาคครัวเรือนทั่วประเทศ
เมื่อวันที่ 20 มีนาคม ที่ผ่านมา คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดตัวโครงการ “โซลาร์ภาคประชาชน” นำร่อง 100 เมกะวัตต์แรกที่เจ้าของบ้านและอาคารที่อยู่อาศัยซึ่งเข้าร่วมโครงการ โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตจะรับซื้อในส่วนที่เหลือใช้เข้าสู่ระบบในราคาไม่เกิน 1.68 บาทต่อหน่วย ซึ่งมีระยะเวลารับซื้อ 10 ปี พร้อมเปิดโอกาสให้ผู้สนใจลงทะเบียนและรับข้อเสนอในเดือนพฤษภาคม 2562
การเปิดตัวโครงการของกระทรวงพลังงานน่าจะทำให้ประชาชนจำนวนไม่น้อยที่ตระหนักและเห็นคุณค่าของพลังงานทางเลือกและดำเนินการติดตั้งแผงโซลาร์บนหลังคาบ้านของตัวเองยิ้มออก เมื่อโครงการดังกล่าวเป็นการแสดงให้เห็นถึงความตื่นตัวของภาครัฐต่อนโยบายพลังงานทดแทน
ทั้งที่ก่อนหน้านี้ ท่าทีของกระทรวงพลังงานสร้างความไม่พอใจให้แก่นักลงทุนไม่น้อย เมื่อภาครัฐกลับลำให้ชะลอการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในช่วงเวลา 5 ปี (พ.ศ. 2562-2565) โดยมีเหตุผลว่า กำลังการผลิตไฟฟ้าเพียงพอต่อความต้องการแล้ว ซึ่งดูจะสวนทางกับความพยายามที่จะก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน
ความไม่พอใจของนักลงทุนที่เกิดขึ้นน่าจะมาจากก่อนหน้านี้มีการออกนโยบายของภาครัฐเกี่ยวกับพลังงานทดแทน ที่ภาครัฐเคยประกาศใช้แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2558-2579 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาพลังงานทดแทนให้เป็นพลังงานหลักของประเทศทดแทนการนำเข้าน้ำมันได้ในอนาคต เสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ สนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตเทคโนโลยีพลังงานทดแทนในประเทศ และเพื่อวิจัยพัฒนาส่งเสริมเทคโนโลยีพลังงานทดแทนสัญชาติไทยให้สามารถแข่งขันในตลาดสากล
นั่นทำให้นักลงทุนจำนวนไม่น้อยเริ่มหันมาลงทุนกับโครงการพลังงานทางเลือก ทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำ แต่ทุกอย่างต้องหยุดชะงัก นักวิเคราะห์หลายคนให้ความเห็นต่อกรณีดังกล่าวและใช้คำว่า “ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน” เพื่อปลอบใจตัวเอง
ทั้งนี้ ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการโซลาร์ภาคประชาชนว่า ตนได้ให้นโยบายต่อคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เพื่อพิจารณาให้กลุ่มผู้เข้าร่วม โครงการนำร่องการส่งเสริมการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์บนหลังคาแบบเสรี ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม 2559 สามารถเข้าร่วมโครงการโซลาร์ภาคประชาชนในครั้งนี้ได้เช่นเดียวกับประชาชนทั่วไปได้
ทว่า โครงการโซลาร์รูฟทอปในปี 2559 กลับไม่ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ เมื่อมีผู้เข้าร่วมโครงการเพียง 30 กว่าเมกะวัตต์ จากเดิมที่ตั้งเป้าไว้ที่ 100 เมกะวัตต์ นั่นน่าจะมาจากโครงการดังกล่าวไม่เปิดรับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินเหมือนโครงการโซลาร์ภาคประชาชนที่กำหนดอัตรารับซื้อไว้ที่ 1.68 บาทต่อหน่วย
นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานแสดงความมั่นใจว่า โครงการดังกล่าวจะไม่ได้รับผลกระทบหากมีการเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ เนื่องจากเป็นโครงการตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และมีมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) รองรับ โดยหากรัฐบาลใหม่จะเปลี่ยนหรือยกเลิกโครงการจะต้องมีเหตุผลที่ดีพอ เพราะโซลาร์ภาคประชาชนเป็นโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนจำนวนมาก
ขณะที่ สหัส ประทักษ์นุกูล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน ประเมินระยะเวลาคืนทุนสำหรับบ้านที่ได้ติดตั้งโซลาร์รูฟทอปขนาดติดตั้ง 5 กิโลวัตต์ วงเงินลงทุนประมาณ 150,000–200,000 บาท โดยหากเป็นการผลิตเพื่อขายเข้าระบบ 100 เปอร์เซ็นต์ จะได้ราคารับซื้อไฟฟ้า 1.68 บาทต่อหน่วย คิดเป็นรายได้ต่อปีประมาณ 12,500 ระยะเวลาคืนทุนประมาณ 12-16 ปี
ทั้งนี้การติดตั้งโซลาร์รูฟทอปเพื่อใช้เอง 100 เปอร์เซ็นต์ โดยไม่ได้ปล่อยขายเข้าระบบเลยจะสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายไฟฟ้าได้ถึง 3.8 บาทต่อหน่วย หรือประมาณ 28,000 บาทต่อปี
นอกจากโครงการโซลาร์ภาคประชาชน จะแสดงให้เห็นถึงการตื่นตัวของภาครัฐต่อนโยบายพลังงานทดแทนแล้ว ก่อนหน้านี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเคยเปิดเผยถึงการหารือร่วมระหว่างผู้ประกอบการผลิตและจำหน่ายแผงผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์กว่า 30 ราย
นับว่าเป็นโอกาสดีสำหรับนักลงทุนด้านพลังงานทดแทนอีกครั้ง เมื่อมีหนทางที่จะเติบโตมากขึ้น เนื่องจากแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP2018) ปี พ.ศ. 2561-2580 ที่กำหนดซื้อไฟฟ้าโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งบนหลังคาที่อยู่อาศัย หรือโซลาร์ภาคประชาชน 10,000 เมกะวัตต์ และ โครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำขนาดใหญ่ 2,725 เมกะวัตต์
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันไทยมีการติดตั้งโซลาร์เซลล์ไปแล้ว 3,449 เมกะวัตต์ (ข้อมูลล่าสุด ธันวาคม 2561) ประกอบด้วย Solar Farm, Solar PV Rooftop และโครงการของภาครัฐ โดยมีเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ 6,000 เมกะวัตต์ ตามแผน PDP2015
ซึ่งต่อมาได้จัดทำตามแผน PDP2018 โดยมีเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มขึ้นอีก 12,725 เมกะวัตต์ ในอีก 18 ปีข้างหน้า โดยแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ โซลาร์ภาคประชาชน 10,000 เมกะวัตต์ และจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยในโครงการผลิตไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำ 2,725 เมกะวัตต์
ความเคลื่อนไหวของกระทรวงพลังงานต่อนโยบายพลังงานทดแทน น่าจะเป็นสัญญาณที่ดีที่แสดงให้เห็นถึงความใส่ใจต่อสถานการณ์โลกร้อน ขณะที่ในประเทศอื่นๆ ให้ความสำคัญกับพลังงานทดแทนและพยายามลดบทบาทของพลังงานฟอสซิล เช่น ประเทศจีน อินเดีย และญี่ปุ่น
คงต้องจับตาดูกันต่อไปว่าโครงการโซลาร์ภาคประชาชนจะประสบความสำเร็จเป็นไปตามเป้าหมายที่กระทรวงพลังงานวาดหวังไว้หรือไม่
และทิศทางของกระทรวงพลังงานเรื่องนโยบายพลังงานทดแทนจะดำเนินต่อไปอย่างไร เมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาลในช่วงกลางปี โครงการที่สร้างประโยชน์ให้กับประชาชนในระยะยาวและเป็นผลดีต่อสภาพแวดล้อมของโลกจะมีผู้สานต่อหรือไม่ ยังรอการพิสูจน์
Photo Credit: บ้านรักษ์ต้นไม้