วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > Life > 6 ปัจจัยเพิ่มเสี่ยงหัวใจวาย

6 ปัจจัยเพิ่มเสี่ยงหัวใจวาย

Column: Well – Being

ศูนย์เพื่อการควบคุมโรค (ซีดีซี) รายงานว่า แต่ละปีมีชาวอเมริกันเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจ 610,000 ราย หรือราวหนึ่งในสี่ของจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมด ทำให้โรคหัวใจเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตระดับต้น ๆ ทั้งของชายและหญิงในสหรัฐฯ

ซีดีซีให้ข้อมูลต่อไปว่า แม้อาการหัวใจวายจะไม่ได้หมายถึงการเสียชีวิตทุกครั้งไป แต่ซีดีซีประเมินว่า แต่ละปีมีชาวอเมริกันราว 735,000 คน ต้องทุกข์ทรมานกับอาการหัวใจวาย ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่าตกใจกลัวไม่เบา

ตราบใดที่คุณควบคุมระดับโคเลสเตอรอลได้ รวมทั้งสามารถจำกัดปริมาณการบริโภคอาหารจานด่วน คุณก็ปลอดภัยใช่ไหม?

โชคร้ายที่ทุกอย่างไม่ได้เรียบง่ายตรงไปตรงมาอย่างนั้น ขณะที่หลาย ๆ ปัจจัยอย่างเช่น การขาดการออกกำลังกาย การบริโภคอาหารไม่ถูกหลัก และคนในครอบครัวมีประวัติหัวใจวาย จะเพิ่มความเสี่ยงหัวใจวายก็จริง แต่ยังมีอีก 6 ปัจจัยที่สามารถเพิ่มความเสี่ยงจากอาการหัวใจวายได้อย่างน่าประหลาด นิตยสาร Prevention นำเสนอ 6 ปัจจัยดังกล่าวได้แก่

1 โรคแพ้ภูมิตัวเอง
นีก้า โกลด์เบิร์ก แพทย์โรคหัวใจและผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ของศูนย์เพื่อสุขภาพสตรีโจน เอช. ทิสช์ มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก กล่าวว่า ถ้าคุณมีประวัติเป็นโรคแพ้ภูมิตัวเอง เช่น โรคลูปัส โรคไขข้ออักเสบ หรือโรคข้ออักเสบสะเก็ดเงิน คุณมีแนวโน้มจะมีอาการหัวใจวายมากขึ้น โดยเฉพาะผู้หญิงที่เป็นโรคแพ้ภูมิตัวเองระหว่างตั้งครรภ์ อาจมีความเสี่ยงมากเป็นพิเศษ

“ในผู้หญิงที่มีประวัติเป็นโรคความดันโลหิตสูงระหว่างตั้งครรภ์ หรือมีอาการครรภ์เป็นพิษ หรือชักจากการตั้งครรภ์ จะเพิ่มความเสี่ยงต่ออาการหัวใจวายและโรคหลอดเลือดสมองในวัยกลางคนได้ นอกจากนี้ โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานชนิดที่ 2 และโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ก็สามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดถึง 5 เท่า” ดร.โกลด์เบิร์ก สรุป

2 ข้างนอกอากาศหนาวเย็น
สัญชีพ ปาเทล แพทย์โรคหัวใจแห่งสถาบันหลอดเลือดและหัวใจเมโมเรียล แคร์ ประจำศูนย์การแพทย์ออเรนจ์ โคสต์ กล่าวว่า ฤดูหนาวสามารถเป็นภัยต่อสุขภาพของคุณ และมีหลายเหตุผลที่อธิบายว่า ความหนาวเย็นอาจเพิ่มความเสี่ยงหัวใจวายได้

“การที่อุณหภูมิลดต่ำลงมาก สามารถเป็นสาเหตุของหัวใจวายได้เพราะเมื่ออากาศหนาวเย็น ร่างกายพยายามรักษาความร้อนไว้ภายในแกนลำตัว ด้วยการพยายามไม่ให้ร่างกายสูญเสียความร้อนไป ซึ่งบางครั้งนำไปสู่ภาวะหัวใจวาย เพราะหลอดเลือดและหลอดเลือดแดงหดตัวและตีบแคบลง” ดร.ปาเทลอธิบาย

3 เริ่มออกกำลังกายด้วยกฎเกณฑ์ใหม่
ดร.ปาเทลเตือนว่า การที่คุณตัดสินใจดูแลรักษารูปร่างให้สมส่วนนั้น เป็นสิ่งที่วิเศษมาก แต่สิ่งสำคัญคือ ต้องระมัดระวังถึงวิธีออกกำลังกายของคุณด้วย ถ้าเดิมทีคุณเป็นคนนั่ง ๆ นอน ๆ แล้วจู่ ๆ ก็ลุกขึ้นออกกำลังกายอย่างหนักล่ะก็ นั่นอาจนำไปสู่ภาวะหัวใจวาย

“ถ้าคุณเตรียมตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป และฝึกฝนตนเองอย่างช้า ๆ นั่นเป็นสิ่งที่ควรทำ” ดร.ปาเทล แนะนำ แต่ถ้าทำอย่างหักโหมและเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน ก็อาจทำให้หัวใจวายได้ รวมถึงการออกแรงอย่างหักโหมระหว่างมีเพศสัมพันธ์ (โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ) “ในเงื่อนไขที่พูดถึงทั้งหมดนี้ อันตรายคือ การเปลี่ยนแปลงในระดับฮอร์โมนความเครียดอย่างฉับพลัน ที่สามารถนำไปสู่ภาวะไม่เสถียรของเลือดที่ไหลเวียนไปสู่หัวใจ ซึ่งเป็นสาเหตุของหัวใจวาย”

4 เป็นมะเร็ง
ดร.โกลด์เบิร์กกล่าวว่า นักวิจัยเริ่มศึกษาหาความเชื่อมโยงระหว่างโรคหัวใจกับโรคมะเร็ง ซึ่งเป็นสองโรคร้ายที่เป็นสาเหตุสำคัญของการคร่าชีวิตคนทั่วโลก วิธีรักษาโรคมะเร็งบางอย่าง เช่น การฉายแสง (รังสี) ไปที่ทรวงอก โดยเฉพาะบริเวณทรวงอกด้านซ้าย จะเพิ่มความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจได้ ซึ่งเธอลงไปในรายละเอียดว่า การฉายแสงเป็นการ “ทำให้โคเลสเตอรอลสะสมในผนังหลอดเลือดแดงที่นำเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ” ผลที่ตามมาคือ เพิ่มโอกาสให้คุณเกิดภาวะหัวใจวาย นอกจากนี้ ยารักษาโรคมะเร็งบางตัว เช่น Adriamycin และ Herceptin ก็เพิ่มความเสี่ยงให้หัวใจล้มเหลว

5 อยู่ในย่านมีมลพิษทางอากาศ
การที่คุณต้องใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางอากาศคุณภาพเลว หรืออยู่ในย่านที่มีมลพิษทางอากาศ สามารถส่งผลกระทบเชิงลบมากมายนับไม่ถ้วนต่อสุขภาพของคุณ รวมทั้งเพิ่มความเสี่ยงหัวใจวายด้วย “การอยู่ท่ามกลางอากาศคุณภาพเลวนำไปสู่ภาวะหัวใจวาย เพราะการอักเสบ” ดร.ปาเทล อธิบาย

เขายังเพิ่มเติมว่า การอยู่ในย่านที่มีมลพิษทางอากาศเรื้อรัง เป็นสาเหตุของการอักเสบ เมื่อคุณต้องหายใจสิ่งที่ทำให้ระคายเคืองเข้าไปในร่างกาย ทำให้ปอดของคุณเกิดการระคายเคือง ร่างกายของคุณก็ต้องทำงานหนักขึ้น ซึ่งอาจทำให้เกิดหัวใจวายหรือโรคหลอดเลือดสมองได้ ผลที่ตามมาจากการอยู่ท่ามกลางมลพิษทางอากาศคือ คุณอาจออกกำลังกายน้อยลง หรือออกไปข้างนอกน้อยลง ซึ่งเป็นการเพิ่มปัจจัยเสี่ยงได้ทั้งสิ้น”

6 เป็นตะคริวที่ขาเรื้อรัง
คุณอาจเป็นตะคริวที่ขาได้เพราะสาเหตุมากมาย และส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง แต่ถ้าคุณเกิดอาการนี้เกือบทุกครั้งที่ต้องเดินระยะทางสั้นๆ และรู้สึกว่าอาการตะคริวดีขึ้นเมื่อได้นั่งลง นั่นอาจเป็นสัญญาณว่า คุณเป็นโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายอุดตัน ถ้าเป็นอย่างนั้นจริง การเป็นตะคริวอาจมีสาเหตุจากโรคหลอดเลือดแดงตีบ หรือหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบแคบและอุดตันเหมือนที่เกิดขึ้นกับขาของคุณ ถ้าไม่รักษา โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายอุดตันสามารถนำไปสู่ภาวะ เนื้อตายเน่า การตัดขา หรือท้ายที่สุดแล้วเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ และหัวใจวาย

ดร.โกลด์เบิร์ก ย้ำว่า นอกเหนือจากสัญญาณอันตรายที่ไม่คาดคิดทั้ง 6 ปัจจัยนี้แล้ว สิ่งสำคัญคือ คุณต้องไม่ละเลยอาการทั่วไปของโรคหัวใจด้วย ได้แก่ เจ็บแน่นและ/หรือรู้สึกเหมือนมีอะไรกดทับหน้าอก หายใจไม่เต็มปอด หัวใจเต้นเร็ว เป็นลมหรือหน้ามืดจะเป็นลม ให้พบแพทย์ทันทีที่เกิดอาการหนึ่งในบรรดาอาการที่กล่าวมาทั้งหมด

ใส่ความเห็น