“ไก่งามเพราะขน คนงามเพราะแต่ง” ยังคงเป็นวลีที่ครองใจและสะท้อนภาพความเป็นไปของสังคมในยุคที่ “รู้หน้า แต่อาจไม่รู้ใจ” ได้เป็นอย่างดี และนี่อาจเป็นเหตุให้ไม่ว่าเศรษฐกิจจะขึ้นหรือลง ธุรกิจความงามก็ยังคงทะยานเติบโตอย่างต่อเนื่อง
เพราะผู้หญิงกับความงามกลายเป็นของคู่กันอย่างยากจะแยกออก ขณะที่ตลาดรวมผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางหรือเวชสำอางของไทยนั้นมีมูลค่าสูงกว่าสองแสนล้านบาท โดยเติบโตกว่าปีก่อนถึง 18% ท่ามกลางการแข่งขันของผลิตภัณฑ์ทั้งไทยและเทศ
ล่าสุด จิลมิกา เฉลิมสุข ผู้บริหารสาวมากความสามารถ เจ้าของธุรกิจนำเข้าเครื่องสำอางชื่อดังจากญี่ปุ่น ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Jill Mika มัลติแบรนด์ความงาม ซึ่งรวบรวมสุดยอดเครื่องสำอางจากญี่ปุ่นไว้มากที่สุดถึง 11 แบรนด์ เสริมทัพด้วยการนำ “ฟราโคร่า” เข้ามาประเดิมปักธงในไทยเป็นประเทศแรกนอกญี่ปุ่น
“ไทยถือเป็นประเทศที่ตลาดเครื่องสำอางมีศักยภาพและมีอัตราการเติบโตสูง ดังนั้นเพื่อเป็นการรองรับตลาดที่ขยายตัวต่อเนื่อง บริษัท ทูเดอะนายน์ จำกัด จึงได้ร่วมมือกับ บริษัท เคียววะ (ประเทศญี่ปุ่น) จำกัด ทุ่มงบ 100 ล้านบาท จัดตั้งบริษัท ฟราโคร่า (ประเทศไทย) จำกัด นำเข้ากลุ่มเครื่องสำอางประเภทสกินแคร์และอาหารเสริมทำตลาดในประเทศไทย” จิลมิกา เฉลิมสุข ในฐานะกรรมการผู้จัดการบริษัทฟราโคร่า (ประเทศไทย) จำกัด ระบุ
ข้อมูลที่น่าสนใจประการหนึ่งจากการรุกคืบของเครื่องสำอางจากต่างประเทศก็คือ สินค้านำเข้าทั้งจากกลุ่มประเทศตะวันตก ทั้ง สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และกลุ่มประเทศเอเชีย โดยเฉพาะญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ได้รับอานิสงส์จากการลดภาษีนำเข้า ซึ่งทำให้เครื่องสำอางจากต่างประเทศเอ่อทะลักเข้ามาให้สาวไทยได้แต่งเติมความงามกันอย่างเต็มที่
ตามแผนของ ฟราโคร่า จะเปิดแนวรุกตลาดเครื่องสำอางเป็นลำดับแรก ก่อนที่จะขยายไปสู่การนำเข้าผลิตภัณฑ์กลุ่มอาหารเสริมเพื่อความงาม ที่คาดว่าจะเริ่มทำตลาดในปีหน้าเพิ่มเติม ภายใต้ความมุ่งหมายที่จะเป็นผู้นำในตลาดผลิตภัณฑ์พลาเซนต้า และอาหารเสริมในอนาคต
จุดเด่นของผลิตภัณฑ์ฟราโคร่า อยู่ที่การเป็นผลิตภัณฑ์จากสารสกัดพลาเซนต้า หรือรก ที่เป็นช่องทางในการส่งต่อสารอาหารจากแม่ไปสู่ลูก ซึ่งเชื่อว่าเปี่ยมด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ จะช่วยบำรุงผิวหน้าให้เต่งตึงไม่หย่อนคล้อย ที่น่าสนใจคือมีผลิตภัณฑ์เซรั่มบำรุงผิวที่สกัดจากพลาเซนต้าของหมู ให้สาวๆ ได้ลิ้มลองความตึงกระชับ กระจ่างใสสุขภาพดีด้วย
จากจุดเริ่มต้นที่เริ่มสนใจธุรกิจเครื่องสำอาง ด้วยผลของการเป็นคนชอบท่องเที่ยว และมีโอกาสสัมผัสทดลองผลิตภัณฑ์หลากหลาย ก้าวย่างและแนวคิดทางธุรกิจของจิลมิกาจึงมีความน่าสนใจไม่น้อย
โดยเฉพาะประเด็นว่าด้วยการสร้างแบรนด์และกิจกรรมทางการตลาด ซึ่งกว่า 60-70% จะโฟกัสไปที่การทำตลาดในรูปแบบออนไลน์ ทั้งโดยผ่านช่องทางของโซเชียลเน็ตเวิร์ก และผ่าน blogger ที่อยู่ในกระแสความนิยม เรียกได้ว่าขายทั้งชื่อเสียงของเครื่องสำอาง และขายผ่านชื่อเสียงของตัว blogger กันเลยทีเดียว
ประเด็นที่น่าจับตามองในกรณีของฟราโคร่า ประการหนึ่งก็คือ นอกเหนือจากช่องทางการจำหน่ายผ่านเคาน์เตอร์แบรนด์ Jill Mika แล้วยังเสริมช่องทางการจำหน่าย Fracora ผ่านพันธมิตรธุรกิจอย่างซูรูฮะ ซึ่งถือเป็นการผสานจุดเน้นของทั้งสองธุรกิจได้อย่างลงตัว
เพราะนอกเหนือจากการรุกตลาดเครื่องสำอางในประเทศไทยแล้ว ทั้งซูรูฮะและ Fracora ต่างมุ่งหมายที่จะขยายธุรกิจรุกเข้าสู่ตลาดอาเซียนรองรับการเปิด AEC เพื่อเพิ่มพูนรายได้และโอกาสทางธุรกิจไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน
ขณะที่เคียววะจากญี่ปุ่นซึ่งเป็นเจ้าของแบรนด์ฟราโคร่าก็ให้ความสำคัญในการรุกเข้าทำตลาดต่างประเทศและประเมินประเทศไทยในฐานะที่จะเป็นสปริงบอร์ดในการรุกเข้าสู่ประเทศต่างๆ ในอาเซียน โดยปัจจุบันเคียววะถือเป็นผู้ประกอบการที่สามารถครองตลาดอาหารเสริมเพื่อความงามเป็นอันดับ 2 ในญี่ปุ่นไว้ได้อย่างเหนียวแน่น ขณะที่เรือธงของฟราโคร่าในตลาดพลาเซนต้า (รก) สามารถครองตลาดเป็นอันดับ 1 ในญี่ปุ่นด้วย
ฟราโคร่าวางเป้าหมายรายได้ในปี 2558 ซึ่งเป็นปีแรกในการทำตลาดไว้ที่ 100 ล้านบาท จากกลุ่มอาหารเสริมเพื่อความงาม 60% และกลุ่มสกินแคร์ 40% โดยในอีก 3 ปีข้างหน้าจะขยับเป้าหมายรายได้ไว้ที่ 250 ล้านบาท และมีส่วนแบ่ง 0.18% ในตลาดเครื่องสำอางและอาหารเสริมของไทย
แต่การมาถึงของฟราโคร่าไม่ได้อยู่ท่ามกลางสุญญากาศ เพราะตลาดเครื่องสำอางประกอบส่วนด้วยคู่แข่งขันหลายราย และมีเจ้าตลาดที่มีความแข็งแกร่งครอบครองอยู่ก่อนแล้ว ขณะที่ผู้ประกอบการรายใหม่ต่างทยอยรุกเข้ามายึดหัวหาดและต่างมุ่งหวังที่จะเดินหน้าเข้าครองพื้นที่เพื่อเป็นที่อยู่ที่ยืนเช่นกัน
ล่าสุด “แฟชั่นควีน” เป็นผู้ประกอบการอีกรายที่เปิดเกมรุกเดินหน้าขยายธุรกิจเครื่องสำอางในไทย ด้วยการนำแบรนด์ “เอสเซนส์” จากเยอรมนีเข้ามาทำตลาดในประเทศไทย
ก่อนหน้านี้แฟชั่นควีนมีแบรนด์ Kiss และ Kiss Me จากญี่ปุ่นเข้ามาทำตลาดแล้ว แต่การนำ “เอสเซนส์” เข้ามาเปิดตัวในไทยถือเป็นการสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง โดยเจาะตลาดกลุ่มสาววัยรุ่นและวัยทำงาน อายุระหว่าง 14-40 ปี ด้วยสโลแกน “สวยง่ายๆ ไม่รู้เบื่อ”
วิถีการทำตลาดและสร้างแบรนด์ของสินค้าในกลุ่มนี้ ดูเหมือนจะเป็นสูตรสำเร็จที่สอดรับกับไลฟ์สไตล์หน้าสื่อออนไลน์ราคาถูก ที่ประกอบส่วนด้วยเฟซบุ๊ก แฟนเพจ ควบคู่กับการเหวี่ยงแหขยายจุดขายให้ได้มากที่สุด ทั้งห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์เซ็นเตอร์และดรักสโตร์ทั่วไป
อาทิตยา ดิถีเพ็ญ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท แฟชั่นควีน จำกัด ระบุว่า แบรนด์เอสเซนส์จะได้รับการขับเน้นเป็นพิเศษ เพราะถือเป็นแบรนด์ใหม่ที่มีจุดแข็งของสินค้า ซึ่งนอกจากจะมีราคาไม่แพงแล้ว จะเน้นการเป็นผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าจากยุโรปที่มีคุณภาพสูงควบคู่ไปด้วย
สมรภูมิเครื่องสำอางที่ผู้ประกอบการต่างนำเข้าผลิตภัณฑ์ทั้งจากอเมริกา ยุโรป เกาหลี ญี่ปุ่น มาละเลงแต่งแต้มสีสัน ดูจะเป็นอีกสังเวียนหนึ่งที่กำลังมีการประลองแข่งขันเพื่อแย่งชิงพื้นที่และส่วนแบ่งทางการตลาดที่มีมูลค่าสูงกว่า 120,000 ล้านบาท และมีอัตราการเติบโตขยายตัวต่อเนื่องในระดับไม่ต่ำกว่าร้อยละ12ต่อปี
ปัญหาอยู่ที่ว่าความต้องการในการแต่งเติมความงามบนใบหน้าที่บอบบางของสาวไทย จะสามารถทนทานกับสีสันและความร้อนแรงของการแข่งขันที่กำลังระอุเดือดนี้ได้มากน้อยแค่ไหน