วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Cover Story > ตลาดเครื่องสำอาง “โตเงียบ” แต่มูลค่ามหาศาล

ตลาดเครื่องสำอาง “โตเงียบ” แต่มูลค่ามหาศาล

 
ธุรกิจเครื่องสำอางและความงามเป็นธุรกิจที่มีอัตราการเจริญเติบโตและขยายอย่างต่อเนื่องทุกปี การบริโภคเครื่องสำอางในปัจจุบันคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เพราะคนในยุคปัจจุบันทั้งเพศชาย เพศหญิง และทุกๆ ช่วงวัย ต่างให้ความสนใจใส่ใจเกี่ยวกับสุขภาพ ความงาม และผิวพรรณ รวมทั้งการดูแลตัวเองมากขึ้น มีความต้องการอยากให้ตัวเองดูดีขึ้น 
 
และเป็นเหตุให้ธุรกิจด้านความงาม คลินิกดูแลรักษาผิวพรรณ เครื่องสำอางแบรนด์ชั้นนำต่างๆ จึงเกิดขึ้นมากมายเพื่อรองรับกับความต้องการที่สูงขึ้นทุกปี
 
ภายใต้คุณลักษณะของการเป็นธุรกิจที่ “โตเงียบ” ไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร ธุรกิจความงามจึงเปรียบเสมือนแหล่งขุมทรัพย์ ที่รอแจ้งเกิดผู้ประกอบการที่มองเห็นโอกาสในการเข้ามาช่วงชิงส่วนแบ่งทางการตลาดก่อนใคร 
 
ปัจจุบันจะพบว่าตลาดผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางมีความหลากหลายทั้งในเรื่องของราคาและคุณภาพที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคและเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างชัดเจน นำไปสู่ภาวะการแข่งขันกันเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาดที่มีมูลค่ามหาศาลเพิ่มสูงขึ้นทั้งตลาดภายในประเทศและตลาดนอกประเทศ และทวีความรุนแรงมากขึ้น
 
ข้อมูลของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่ได้ทำการจัดอันดับ 10 ธุรกิจที่โดดเด่น โดยประเมินจาก ปี 2554-2557 พบว่า ธุรกิจที่เกี่ยวกับสุขภาพและความงาม อาทิ อาหารเสริม เครื่องสำอาง ขึ้นแท่นเป็นธุรกิจมาแรงครองอันดับ 1 ติดต่อกัน เนื่องจากกระแสการให้ความสำคัญกับการรักษาสุขภาพและการดูแลความงามเพิ่มมากขึ้น
 
ในขณะที่ธุรกิจเด่นในปีนี้ ธุรกิจที่เกี่ยวกับความสวยความงาม ก็ยังครองเบอร์หนึ่งอีกเช่นกัน
 
สำหรับตลาดสินค้าเพื่อสุขภาพและความงามเกิดขึ้นในเมืองไทยเมื่อ 17 ปีก่อน โดยปัจจุบันวัตสันถือเป็นแบรนด์ที่มีสาขามากที่สุด รองลงมาได้แก่ บู๊ทส์, เอ็กซ์ตร้า (ในเครือซีพี ออลล์) 
 
นอกจากนี้ยังมีแบรนด์ใหม่ที่เกิดขึ้นในตลาด เช่น ซูรูฮะ ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างสหพัฒน์ฯ กับซูรูฮะประเทศญี่ปุ่น, โอเกนกิ ของบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) และในอนาคตเชื่อว่าจะมีแบรนด์ “มัทซึโมโตะ” ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกลุ่มเซ็นทรัล และมัทซึโมโตะ ประเทศญี่ปุ่น เพิ่มขึ้นอีกแบรนด์หนึ่งด้วย
 
หลังจากที่ตลาดเครื่องสำอางเกาหลีที่แข่งขันอย่างดุเดือดช่วง 3-4 ปีก่อน จากกระแสกิมจิที่ฮอตฮิตโดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น ด้วยจุดขายราคาที่เข้าถึงง่าย ทำให้เครื่องสำอางค่ายญี่ปุ่น ซึ่งมีความพรีเมียมในราคาที่สูงกว่าได้รับผลกระทบในแง่ของกระแสและความนิยม
 
แต่ปัจจุบันกระแสความนิยมเครื่องสำอางของประเทศเกาหลีเริ่มลดลง ซึ่งผลส่วนหนึ่งมาจากผู้บริโภคเริ่มคำนึงถึงคุณภาพการดูแลผิวพรรณในระยะยาวมากขึ้น จากปัจจัยเหล่านี้ ทำให้กลุ่มเครื่องสำอางจากประเทศญี่ปุ่นและเคาน์เตอร์แบรนด์จากประเทศแถบยุโรปมีความได้เปรียบมากกว่า 
 
ขณะที่แนวโน้มการแข่งขันในตลาดกลุ่มเครื่องสำอางนั้น แบรนด์ชั้นนำของเกาหลียังคงเติบโตได้ดีในกลุ่มสกินแคร์โดยเฉพาะไวเทนนิ่งที่สามารถทำยอดขายในกลุ่มนี้ได้อย่างสูงสุดและคาดว่า ผู้ประกอบการอีกหลายรายในต่างประเทศทั้งเอเชียและยุโรปที่จะหันมารุกตลาดเครื่องสำอางในประเทศไทยมากขึ้น
 
จากไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไป กำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น คนหันมานิยมสินค้าที่เน้นจุดขายด้านคุณภาพ บวกกับกระแสการเข้ามาของแบรนด์ใหญ่ๆ โดยเฉพาะการเปิดตัว “เซโฟร่า” มัลติแบรนด์ความงามระดับโลก, การเปิดตัว ซูรูฮะ เชนดรักสโตร์ร้านค้าปลีกเพื่อสุขภาพและความงามชั้นนำจากญี่ปุ่น เมื่อสองปีที่แล้ว ทำให้ตลาดมีความตื่นตัวมากขึ้น และทำให้เครื่องสำอางญี่ปุ่นหลายค่ายออกมาประกาศรุกหนักเพื่อชิงตลาดและฐานลูกค้ากลับคืนมา
 
โดยชูจุดแข็งของแบรนด์ญี่ปุ่นในเรื่องคุณภาพสินค้า และความเป็นพรีเมียม ซึ่งตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคปัจจุบัน
 
ในขณะเดียวกัน บรรดาค่ายเครื่องสำอางทั้งหลายที่พาเหรดเข้ามาในตลาดความงามไทย ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ ชิเซโด้ เบอร์หนึ่งในตลาดเครื่องสำอางญี่ปุ่น คาเนโบ, คัฟเวอร์มาร์ค, เคเอ็มเอ, โคเซ่, โพลา, THREE รวมถึงฟราโคร่าด้วย
 
แบรนด์เครื่องสำอางเหล่านี้ แต่ละค่ายต่างมีกลยุทธ์ทางการตลาด เพื่อขยายฐานลูกค้าในสนามความงาม ที่มีมูลค่านับแสนล้าน โดยค่ายแบรนด์ชิเซโด้ได้ปรับภาพแบรนด์ให้ดูเด็กลง เพื่อขยายฐานลูกค้าให้กว้างขึ้น จากเดิมที่มีจุดแข็งในกลุ่มผู้ใหญ่และวัยทำงาน ในขณะที่ค่ายคาเนโบรุกด้านการตลาด  การประชาสัมพันธ์ และการสร้างแบรนด์อะแวร์เนสให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น การเปิดแบรนด์ซันเกรซของกลุ่มเครื่องสำอางคัฟเวอร์มาร์ค, การนำเข้าแบรนด์ฟราโคร่า ผู้นำผลิตภัณฑ์ผิวหน้าและอาหารเสริมของญี่ปุ่นที่เคาน์เตอร์จิล มิกะ  
             
ทั้งนี้ สำหรับตลาดเครื่องสำอางระดับเคาน์เตอร์แบรนด์ มีโอกาสเติบโตอยู่ที่ 10% เห็นได้จากแบรนด์ใหม่ๆ ที่ทยอยเข้ามาทำตลาดอย่างต่อเนื่อง เครื่องสำอางจากญี่ปุ่นยังคงได้รับความนิยมจากผู้บริโภค ไม่แพ้แบรนด์จากฝั่งตะวันตก เนื่องจากความเข้าใจในสภาพผิวของคนเอเชีย และการค้นคว้าวิจัยที่ใส่ใจรายละเอียดสไตล์ญี่ปุ่น ทำให้ผู้บริโภคเกิดความยอมรับและมั่นใจ
 
ตลาดเครื่องสำอางในช่วง 5 ปี ที่ผ่านมามีการเติบโตแบบก้าวกระโดดเฉลี่ย 18% ต่อปี โดยมีมูลค่าตลาดรวม 2.1 แสนล้านบาท แบ่งเป็นตลาดในประเทศ 60% มูลค่า 1.2 แสนล้านบาท และตลาดส่งออก 40%  มูลค่า 9 หมื่นล้านบาท
 
ขณะที่ภายหลังจากการเปิดประชาคมอาเซียนในปี 2558 ที่กำลังจะเกิดขึ้น ธุรกิจเครื่องสำอางจะแข่งขันกันรุนแรงและคาดว่าในปี 2563 มูลค่าตลาดรวมจะเติบโตกว่าเท่าตัว โดยเฉพาะภาคการส่งออก ซึ่งมีโอกาสขยายตัวไปกว่า 2 แสนล้านบาท
 
ตลาดอุตสาหกรรมเครื่องสำอางในประเทศไทยกลุ่มสกินแคร์ มีมูลค่าสูงถึง 400,000 ล้านบาท เป็นผลิตภัณฑ์บำรุงเพื่อผิวขาวถึง 48% ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวแบบทั่วไป 43% และผลิตภัณฑ์บำรุงแบบให้คุณประโยชน์เฉพาะ 9%    
 
ถือว่า “สกินแคร์” เป็นตลาดที่ใหญ่มาก และขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งกลุ่มสินค้าก็มีหลากหลายมากยิ่งขึ้น ทั้งกลุ่มคอสเมติกส์ กลุ่มอาหารเสริม กลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลรูปร่าง กลุ่มคลินิกความงาม และกลุ่มสปา ซึ่งมีการแข่งขันทางการตลาดสูง ธุรกิจในแต่ละกลุ่มล้วนคิดและสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เข้ามาทำให้ตลาดมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
 
เป็นที่คาดหมายว่าในการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปลายปี 2558 นี้ จะส่งผลให้เครื่องสำอางแบรนด์ดังจากต่างประเทศทยอยเข้ามาทำตลาดในประเทศไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่องและมากขึ้น ทั้งจากจีน ญี่ปุ่น เกาหลี ฟิลิปปินส์ เพราะประตูการค้าการลงทุนเปิดแล้ว ซึ่งคาดว่าจะเห็นแบรนด์เครื่องสำอางต่างๆ เข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น ในขณะที่ไทยเองก็สามารถไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านได้ง่ายขึ้นเช่นกัน
 
เมื่อเปิดเออีซีคาดว่าตลาดเครื่องสำอางจะมีมูลค่าระดับ 1.4 แสนล้านบาท จากปัจจุบันอยู่ที่ 1.3 แสนล้านบาท โดยไทยมีส่วนแบ่งตลาดประมาณ 40% ขณะที่สินค้าเครื่องสำอางจากประเทศเพื่อนบ้านก็ทยอยเข้ามาตีตลาดเครื่องสำอางไทยมากขึ้น ในอุตสาหกรรมความงามไทย ทั้งภาครัฐ-เอกชนร่วมกันผลักดันศักยภาพของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลาง (ฮับ) ด้านการผลิตในอาเซียน ทั้งในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและความงามของโลก โดยเชื่อว่าในอนาคตไทยจะมีโอกาสเป็นทั้งฐานการผลิตและรับจ้างผลิตควบคู่กันไปกับตลาดแห่งความงาม
 
ตลาดความงาม ตลาดที่อยู่ภายใต้การแข่งขันกันอย่างดุเดือดในมูลค่าที่ค่อนข้างสูงจากผู้ประกอบการ ทั้งแบรนด์ไทยหรือแบรนด์เทศ ที่มุ่งหวังเข้ามาชิงพื้นที่ในสมรภูมิความงามนี้