วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Cover Story > ปฏิรูปเศรษฐกิจไทย ภารกิจหลักหลังเลือกตั้ง?

ปฏิรูปเศรษฐกิจไทย ภารกิจหลักหลังเลือกตั้ง?

แม้ว่าพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ.2562 จะประกาศใช้และทำให้กรณีว่าด้วยเรื่องกำหนดวันเลือกตั้งที่เคยคลุมเครือมาก่อนหน้านี้ มีความชัดเจนมากขึ้น หากแต่ในอีกด้านหนึ่งของสังคมไทย กรณีว่าด้วยทิศทางและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไทย นับจากนี้จะเป็นอย่างไร ดูเหมือนจะเป็นประเด็นที่ยังปราศจากความชัดเจนอยู่ไม่น้อย

เพราะในขณะที่ธนาคารโลก ได้ระบุว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงปี 2562-2563 จะเติบโตในลักษณะชะลอตัว จากเดิมที่คาดการณ์ในเดือนตุลาคม 2561 ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2562 จะเติบโตในอัตราร้อยละ 3.9 ตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลก ลงมาเหลือการเติบโตในระดับร้อยละ 3.8 และอาจจะฟื้นตัวขึ้นเล็กน้อยในปี 2563 โดยการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยจะดำเนินไปภายใต้การพึ่งพาการบริโภคจากภายในประเทศ เนื่องจากการส่งออกได้รับผลกระทบจากอุปสงค์ของตลาดโลกที่ลดลง

หากแต่กลไกภาครัฐกลับแสดงความพึงพอใจกับการคาดการณ์เศรษฐกิจไทยของธนาคารโลกดังกล่าว โดยประเมินว่าการคาดการณ์ของธนาคารโลกสะท้อนความเชื่อมั่นและมั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างแข็งแรง ซึ่งสะท้อนจากรายงานตามติดเศรษฐกิจไทย : ความเหลื่อมล้ำ โอกาส และทุนมนุษย์ โดยระบุว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2561 ถือว่าเติบโตได้ดีมาก เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน และสิ่งสำคัญที่สุดคือการเติบโตนั้น มาจากอุปสงค์ภายในประเทศมากขึ้น ทั้งการบริโภคและการลงทุนของเอกชน ตลอดจนการลงทุนภาครัฐ

ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจจากข้อมูลของธนาคารโลกอีกด้านหนึ่งอยู่ที่ การระบุว่า เศรษฐกิจของประเทศไทยในช่วงที่ผ่านซึ่งเติบโตช้ากว่าประเทศอื่นๆ ในอาเซียน จะชะลอตัวลงในปี พ.ศ.2562-2563 เนื่องจากการบริโภคภายในประเทศที่เข้มแข็งเพียงอย่างเดียวนั้นไม่สามารถชดเชยการชะลอตัวของการส่งออกสุทธิได้ ซึ่งนโยบายกีดกันการค้าและความผันผวนของตลาดเงินจะส่งผลต่อแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะกลาง อีกทั้งจะส่งผลลบต่อกลุ่มคนยากจนที่สุดและกลุ่มเปราะบางในช่วงเวลานี้ โดยผู้กําหนดนโยบายควรใช้ความระมัดระวัง เตรียมความพร้อม และสร้างความยืดหยุ่นไว้ล่วงหน้า เพื่อให้ประเทศสามารถรับมือกับสภาวะเศรษฐกิจได้

ภายใต้สถานการณ์ที่เต็มไปด้วยความเสี่ยงเช่นนี้ ประเทศกําลังพัฒนาในภูมิภาคจะต้องใช้นโยบายด้านเศรษฐกิจมหภาค ด้านการกํากับดูแล และด้านโครงสร้างอย่างรอบคอบเพื่อให้สามารถรับมือกับปัจจัยลบจากภายนอกได้อย่างราบรื่น และเพิ่มอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างเต็มศักยภาพ ซึ่งสำหรับประเทศไทย ควรมุ่งพัฒนาทุนมนุษย์ ปรับปรุงการศึกษา ที่จะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจไทยให้มีความสามารถในการแข่งขันในกลุ่มรายได้ระดับกลาง-สูงและแข่งขันในเวทีโลกได้

ข้อเสนอที่น่าสนใจจากธนาคารโลกอยู่ที่การระบุถึงการปฏิรูปโครงสร้างเชิงลึกรวมถึงการเปิดเสรีในภาคส่วนที่สําคัญ การปรับปรุงบรรยากาศการลงทุนและการกระตุ้นขีดความสามารถในการแข่งขัน การช่วยให้ SMEs สามารถแข่งขันกับบริษัทขนาดใหญ่ รวมถึงระหว่างบริษัทในประเทศกับบริษัทต่างชาติสามารถแข่งขันกันได้ ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการจัดสรรทรัพยากรที่ผิดพลาดและสร้างงานที่ดีได้

รวมถึงการสร้างความเข้มแข็งให้กับความปลอดภัยทางเศรษฐกิจ และส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ ผ่านโครงการให้เงินช่วยเหลือแบบมีเงื่อนไขในกลุ่มเป้าหมาย ระบบการประกันสังคมที่มีความยั่งยืนทางการเงิน การพัฒนาการ เข้าถึงบริการก่อนคลอดและการดูแลเด็กในวัยก่อนเรียนให้ดีขึ้น การให้ทรัพยากรแก่โรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่กันดาร รวมถึงการลดช่องว่างในการเข้าถึงและคุณภาพทางการศึกษา

จริงอยู่ที่ว่าเศรษฐกิจไทยยังมีความยืดหยุ่นภายใต้แรงกดดันและปัจจัยพลิกผันจากภายนอก แม้การส่งออก และการท่องเที่ยวจะเริ่มชะลอลงตั้งแต่ไตรมาส 3 ปี 61 จากปัจจัยทั้งในและต่างประเทศ แต่การบริโภคและการลงทุนในประเทศมีแนวโน้มกระเตื้องขึ้น ขณะที่การลงทุนของภาครัฐมีความชัดเจนมากขึ้นด้วย และคาดว่าการลงทุนภาครัฐจะเติบโตต่อเนื่องในปีนี้และปีหน้า

หากแต่เมื่อพิจารณาประเด็นว่าด้วยปัญหาสงครามการค้า สินค้าไทยได้รับผลกระทบพอสมควร แม้การส่งออกของไทยไปจีนจะลดลงบ้าง แต่ในภาพรวมแล้วสินค้าไทยสามารถส่งออกไปในกลุ่มอาเซียนได้มากขึ้น ซึ่งในส่วนนี้สามารถชดเชยกันได้เป็นอย่างดี เพราะการส่งออกสินค้าของไทยยังมีความสามารถในการแข่งขันได้สูง แม้ประเทศปลายทางจะได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า แต่ไทยก็ยังสามารถปรับตัวและส่งออกไปยังประเทศอื่นทดแทนได้

กระนั้นก็ดี การที่ธนาคารโลกประเมินภาวะเศรษฐกิจไทยในปี 2562 ในลักษณะชะลอตัวไว้ที่ระดับร้อยละ 3.8 อยู่ภายใต้สมมุติฐานที่ว่าจะไม่มีเหตุความวุ่นวายทางการเมืองเกิดขึ้นจากผลของการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น ซึ่งปัจจัยทางการเมืองดังกล่าว นับเป็นปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจ เพราะจะส่งผลให้การลงทุนภาครัฐชะลอตัว การเบิกจ่ายภาครัฐอาจจะลดต่ำลงได้อีกจากที่ต่ำกว่าเป้าหมายเป็นปกติอยู่แล้ว

ประเด็นที่น่าสนใจของการพัฒนาเศรษฐกิจไทยในห้วงเวลานับจากนี้ อาจไปไกลมากกว่าการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ หากแต่อยู่ที่ประเด็นปัญหาว่าด้วยการขจัดความเหลื่อมล้ำ การกระจายโอกาส และการส่งเสริมผลักดันการลงทุนด้านทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งแม้การวัดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ของประเทศไทยยังไม่ถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน แต่ความเหลื่อมล้ำยังคงเป็นประเด็นสำคัญในลำดับต้นๆ ของประเทศ เพราะความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ส่งผลเสียที่สำคัญต่อประเทศ 2 ประการ คือ ความไม่เสมอภาคในโอกาสทางเศรษฐกิจ และทำให้สูญเสียศักยภาพในการผลิต ก่อให้เกิดผลเสียต่อการลงทุน นวัตกรรม และการจัดการความเสี่ยง

การรักษาระดับคุณภาพของการปฏิรูปด้านโครงสร้างของประเทศให้ยั่งยืน เป็นเรื่องสำคัญสำหรับประเทศไทยในการลดความยากจน และช่วยยกระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในระยะยาวให้สูงกว่าร้อยละ 4 ในภาวะที่ต้องเผชิญกับสังคมผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ธนาคารโลกระบุว่า ประเด็นสำคัญเพื่อปรับปรุงทุนมนุษย์ของประเทศไทย อยู่ที่การเผชิญกับความท้าทายในการจัดการโรงเรียนขนาดเล็กที่ได้รับการศึกษาคุณภาพต่ำ การปรับปรุงโดยใช้โรงเรียนเป็นศูนย์กลาง และการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้จ่ายภาครัฐ นอกจากนี้ การส่งเสริมให้คนมีสุขภาพที่ดีกว่าเดิม โดยเฉพาะการมุ่งเน้นไปที่การป้องกันและลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ล้วนมีความสำคัญต่ออัตราการรอดชีวิตของผู้ใหญ่

การให้ความสำคัญเรื่องการลงทุนด้านทุนมนุษย์ นับเป็นเรื่องสำคัญในการสร้างอนาคตที่ดีกว่าสำหรับคนไทยทุกคน และการให้ความสำคัญกับการศึกษา และสาธารณสุขจะเป็นการเปิดโอกาสที่เท่าเทียมกันให้แก่คนรุ่นต่อไปในระยะยาว

ในห้วงยามที่สังคมไทยกำลังเดินหน้าทางการเมือง เข้าสู่วิถีแห่งการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยที่ห่างหายไป ไม่ว่าการปฏิรูปทางการเมืองที่เคยเป็นข้อเรียกร้องมาในช่วงก่อนหน้านี้จะมีผลสัมฤทธิ์ หรือการดำเนินการมาอย่างไรหรือไม่

หากแต่ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจและปากท้องของประชาชนในปัจจุบัน ดูเหมือนว่านโยบายทางเศรษฐกิจ ซึ่งอาจรวมถึงแนวทางในการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจของไทย อาจเป็นปัจจัยสำคัญที่นอกจากจะสะท้อนวิสัยทัศน์ของพรรคการเมืองและผู้สมัครรับเลือกตั้งแต่ละพรรคแต่ละรายแล้ว บางทีการปฏิรูปทางเศรษฐกิจ ซึ่งหมายถึงการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในการผลิต อาจเป็นภารกิจหลักของสังคมไทยภายหลังการเลือกตั้งที่ต้องร่วมพิจารณาอย่างจริงจังนับจากนี้

ใส่ความเห็น