วันอังคาร, ตุลาคม 15, 2024
Home > Cover Story > นั่งเพิงพัก ชมไร่คุณองุ่น ความมุ่งมั่นของยังสมาร์ตวัย 60

นั่งเพิงพัก ชมไร่คุณองุ่น ความมุ่งมั่นของยังสมาร์ตวัย 60

“ผมกับครอบครัวชอบท่องเที่ยวเชิงเกษตร โดยเฉพาะไร่องุ่น แต่ทุกที่เก็บค่าเข้าชม คนไปจากกรุงเทพฯ รถกระบะสามสี่คัน ผมมาคิดไหนๆ ตั้งใจอยากทำเกษตรในกรุงเทพฯ ปลูกองุ่นกันดีกว่า เปิดพื้นที่ให้คนเข้าชมแบบไม่ต้องเสียเงิน”

“อีกอย่างอยากทำเซอร์ไพรส์ภรรยา ภรรยาชื่อองุ่น ต้องปลูกองุ่นและตั้งชื่อว่า ไร่คุณองุ่น…”

สุวัฒน์ เทียนสว่าง เจ้าของไร่คุณองุ่น ย่านคลองสามวา เล่าให้ “ผู้จัดการ 360 องศา” ฟังถึงจุดเริ่มต้นการพลิกชีวิตจากผู้จัดการโรงงานผลิตปุ๋ยมาเป็นเกษตรกรชาวไร่ที่ท้าทายนำพืชเมืองหนาวจากทางภาคเหนือมาปลูกในพื้นที่กรุงเทพฯ เมื่อ 4 ปีก่อน

“จริงๆ ผมเป็นคนสุพรรณบุรี แต่มาเรียนและเติบโตในกรุงเทพฯ ผมทำงานบริษัทปุ๋ย เราอยู่มานาน อายุ 60 ปีแล้ว และเริ่มเกิดอาการแพ้ควันรถสิบล้อ ภูมิต้านทานไม่ดี ผมชอบการเกษตรอยู่แล้ว เราอยากทำการเกษตร ทำพื้นที่เกษตรเพื่อการพักผ่อนให้ครอบครัวและบังเอิญผู้ใหญ่ที่นับถือซื้อที่ดินแถวคลองสามวา เราคุยกัน เขาว่า เอ้า..ถ้าอยากทำมาทำเลย”

แต่กว่าจะเริ่มลงมือปลูกองุ่นต้นแรก ลุงสุวัฒน์ใช้เวลาศึกษาข้อมูลต่างๆ พูดคุยกับอาจารย์ทางภาคเหนือและทดลองปลูกต้นองุ่นในกระถางที่บ้านอำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี ซึ่งสภาพอากาศคล้ายพื้นที่คลองสามวา ทดลองอยู่นานจนวันที่ต้นองุ่นในกระถางออกลูกได้ จึงลุยปรับสภาพดินในไร่ช่วงปลายปี 2562 และลงพันธุ์ปลูกปลายปี 2563

เวลานั้น ไร่คุณองุ่นเปิดให้บริการแบบทยอยๆ พัฒนาจากพื้นที่รวม 5 ไร่ โดยแบ่งพื้นที่ปลูกองุ่น ลักษณะร่องสวน 5 ร่อง ความยาว 62 เมตร ร่องละ 12 ต้น พื้นที่บ่อน้ำสำรอง เพื่อกักเก็บน้ำไว้ในไร่ผ่านระบบกรองธรรมชาติ โดยดันน้ำทิ้งจากหมู่บ้านใกล้เคียงผ่านชั้นดินกรองหลายรอบจนสะอาดและเลือกเลี้ยงปลาตะเพียนไว้ในบ่อ เพราะเป็นพันธุ์ปลาที่สามารถวัดค่าน้ำได้อย่างดี ถ้าน้ำสกปรก ปลาตะเพียนจะโผล่ขึ้นมาหายใจทันที นอกจากนั้น แบ่งพื้นที่ทำร้านอาหารและร้านกาแฟเล็กๆ มีเพิงให้ลูกค้านั่งให้อาหารปลา ชมธรรมชาติ มีเรือลำเล็กให้พายเล่น

ที่สำคัญ ลูกค้าสามารถชมแปลงไร่องุ่นและเลือกซื้อจากต้นได้ด้วย ราคาไม่แพงจากท้องตลาด กิโลกรัมละ 200 บาท

แน่นอนว่า หลายคนสงสัยการปลูกต้นองุ่น พืชเมืองหนาวในกรุงเทพฯ ทำได้อย่างไร โดยเฉพาะการปลูกแบบไม่ใช้สารเคมี 100%

เจ้าของไร่คุณองุ่นตอบทันทีว่า  สิ่งที่ต้องคำนึงมากที่สุด คือ น้ำกับดิน อากาศไม่ได้เป็นปัญหามาก และองุ่นเหมือนคนเรา เราเกิดในประเทศเขตร้อน แต่ไปอยู่อเมริกา อากาศหนาวได้ ต้นไม้สามารถปรับตัวได้เช่นกัน

“เทคนิคผม คือ ทุกครั้งที่สั่งพันธุ์มาจะพักไว้ก่อน 1-2 เดือน ต้นไหนไม่แข็งแรงจะตายไป และเอาต้นที่แข็งแรงมาปลูก โตขึ้นได้ จริงๆ พืชทุกอย่างปลูกได้ แต่ผลผลิตอยู่ที่การดูแลและอาศัยเทคนิคใช้กระดูกสัตว์ป่นผสมสารอินทรีย์หว่านดิน เพื่อเพิ่มสารอาหารทำให้องุ่นให้ผลผลิตดก มีทั้งพันธุ์ไวท์มะละกา บิ๊กเพอร์เลท แบล็คโอปอล และไชน์ มัสแคท”

ส่วนปัจจัยโรคพืช ศัตรูพืช ซึ่งองุ่นจะเจอปัญหาเยอะมากและไร่อยู่ใกล้ที่นา พอที่นาใช้สารเคมี เพลี้ยไฟมักหนีบินหอบมาหาไร่ จึงต้องฉีดสารธรรมชาติพวกน้ำส้มควันไม้กันไว้ก่อนและฉีดบ่อยๆ

อย่างไรก็ตาม ช่วงปี 2563-2564 เกิดสถานการณ์โควิดแพร่ระบาดทำให้ไร่ต้องเปิดๆ ปิดๆ แต่ผลผลิตชุดแรกที่ออกช่วงปี 2564 สวยมาก และออกได้ต่อเนื่อง ต้นหนึ่ง 30-40 ช่อ ช่อหนึ่งประมาณ 1 กิโลกรัม

“ตอนนั้น ร้านอาหารต้องปิดเพราะโควิด เราใช้วิธีให้ลูกค้าเข้ามาสั่งจองช่วงผลผลิตออกและรอโตเต็มที่  โดยให้เลือกจะเอาพวงไหน ติดป้ายชื่อไว้จนถึงเวลาตัดแต่งได้ จะให้ลูกค้าเข้ามาตัดแต่งเองเลย ผมอยากให้ลูกค้าเกิดความรู้สึกว่า ที่นี่เป็นไร่ของทุกคน”

ทว่า เส้นทางความมุ่งมั่นของเกษตรกรที่ต้องการสร้างพื้นที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตรต้องเจออุปสรรคมากมาย โดยเฉพาะปัจจัยทางธรรมชาติที่ควบคุมไม่ได้ภายใต้ต้นทุนและกำลังคนจำกัด เพราะลุงสุวัฒน์ปลูกเอง ทำเอง ไม่เว้นแม้กระทั่งการทำอาหาร ในฐานะอดีตเชฟในร้านอาหารของพี่สาว ฝีมืออร่อยชนิดที่คุณองุ่น ภรรยาต้องยกนิ้วและสั่งให้เป็นพ่อครัวในไร่อีกตำแหน่งหนึ่งด้วย

“ผมไม่ได้จ้างคน ปลูกเอง ทำเอง ลูกๆ ไปทำงาน กำลังคนไม่ไหว และมาเจอปัญหาสภาพแวดล้อม ผลผลิตกำลังแก่เก็บ เจอร่องลมแรงพัดโรงเรือนล้มหลายรอบ เหลือไม่กี่ต้น บางครั้งล้มต่อหน้าต่อตาจนท้อ และการไม่ใช้สารเคมีเคลือบผิวองุ่นทำให้สู้พวกแมลงไม่ไหว กิ้งกือ เพลี้ยไฟ องุ่นแตกเสียหายง่ายอีก”

“มีปัญหาเยอะ ไร่ยังมีรายได้ไม่พอ แต่เตือนตัวเองตลอด เราทำไร่เพราะความชอบจริงๆ เน้นความเป็นธรรมชาติมากที่สุด เพื่อให้เด็กๆ เข้ามาเที่ยวเล่น ไม่เจอสารเคมี ถ้าเราคิดถึงเชิงพาณิชย์ สารเคมีต้องมาอันดับหนึ่ง ผมอยู่โรงงานปุ๋ย ผมรู้ แต่ผมยังยืนยันไม่ใช้สารเคมี”

ในที่สุด ลุงสุวัฒน์ตัดสินใจปรับพื้นที่มาปลูกพืชอื่นๆ ระหว่างฟื้นฟูแปลงไร่องุ่นให้เหมือนเมื่อช่วงปีแรกๆ เช่น เสาวรส กล้วยหอมทอง มะม่วง มะยงชิด และกำลังหาพันธุ์อ้อยสิงคโปร์ อ้อยไต้หวัน เพื่อปลูกไว้คั้นน้ำขายอีกทางหนึ่ง เพราะตั้งเป้าหมายต้องทำให้ไร่คุณองุ่นเป็นศูนย์เรียนรู้เชิงเกษตรเต็มรูปแบบ ทั้งสถานที่จัดอบรมและพื้นที่เรียนรู้ของทุกคนที่อยากเป็นเกษตรกร ซึ่งก่อนหน้านี้ สำนักงานเกษตรพื้นที่กรุงเทพมหานครประกาศให้ไร่คุณองุ่นเป็นศูนย์เครือข่ายของศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร ศูนย์เรียนรู้การปลูกองุ่นในเมืองกรุง และให้ลุงสุวัฒน์เป็นหนึ่งใน Young Smart Farmer ให้ความรู้การปลูกพืชเมืองหนาว

“ทุกวันนี้ ไร่คุณองุ่นเปิดเฉพาะวันเสาร์อาทิตย์ ผมยังทำอาหารเองเหมือนเดิม แต่อยากมีเวลาฟื้นฟูไร่มากขึ้น อยากทำที่นี่เป็นศูนย์เรียนรู้จริงๆ มีผลผลิต มีความร่มรื่น เป็นแหล่งฟื้นฟูร่างกายให้ครอบครัวและทุกคน แต่ต้องใช้เวลาปรับปรุงอีกปีสองปี จะทำให้เป็นสวนองุ่นจริงๆ คนกรุงเทพฯ ไม่ต้องเดินทางไกลถึงต่างจังหวัดไปเสียเงินชมไร่ เก็บเงินเป็นค่าอาหารดีกว่า”

Young Smart Farmer วัย 60 ยังย้ำทิ้งท้ายว่า “ผมลงเงินไปเยอะ  โรงเรือนล้ม จิตใจห่อเหี่ยว ท้อมาเยอะ แต่สุดท้ายต้องลุกขึ้นมา ทำเกษตรในกรุงเทพฯ ต้องอดทนครับ”.

5 สายพันธุ์ยอดนิยม องุ่น หวานกรอบ

เส้นทางผลไม้ “องุ่น” น่าจะเข้ามาในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยพระองค์ท่านมักนำพันธุ์ไม้แปลก ๆ จากต่างประเทศที่เสด็จประพาสมาปลูกในประเทศไทย เชื่อว่า หนึ่งในจำนวนพันธุ์ไม้แปลก ๆ เหล่านั้นน่าจะมีพันธุ์องุ่นรวมอยู่ด้วย

ขณะที่มีหลักฐานยืนยันว่า ประเทศไทยเริ่มปลูกองุ่นในสมัยรัชกาลที่ 7 แต่ผลองุ่นที่ได้มีรสเปรี้ยว การปลูกจึงซบเซาไป กระทั่งปี 2493 เริ่มมีการปลูกองุ่นอย่างจริงจัง โดยหลวงสมานวนกิจนำพันธุ์มาจากมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา และปี  2497 ดร. พิศ ปัญญาลักษณ์ นำพันธุ์องุ่นจากทวีปยุโรปและสามารถปลูกได้ผลดี นับแต่นั้นมาการปลูกองุ่นในประเทศไทยจึงแพร่หลายมากขึ้น เช่น อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี อำเภอสามพรานและอำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร

แต่เกษตรกรบางรายต้องเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นเนื่องจากเจอปัญหาโรคแมลงระบาดมากและแมลงดื้อยา ทำให้พื้นที่ปลูกองุ่นในแถบนี้ลดลง แต่มีขยายไปในพื้นที่อื่นๆ ในแถบภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือบ้าง

สำหรับพันธุ์องุ่นที่นิยมปลูก ได้แก่ พันธุ์ไวท์มะละกา มี 2 สายพันธุ์ ผลกลมและผลยาว ลักษณะช่อใหญ่ยาว ติดผลดี ผลมีสีเหลืองอมเขียว รสหวานแหลม เปลือกหนาและเหนียว ในผลหนึ่งๆ มี 1-2 เมล็ด ช่วงเวลาหลังจากตัดแต่งกิ่งจนเก็บผลได้ประมาณ 4 เดือนครึ่ง ปีหนึ่งให้ผลผลิต 2 ครั้ง 10-15 กิโลกรัม/ต้น/ครั้ง เป็นพันธุ์ที่คนไทยนิยมกินมากที่สุด

พันธุ์แบล็คโอปอล ผลกลมรียาว สีแดงอมม่วง ไม่มีเมล็ด เนื้อแน่น รสหวานกรอบ ติดผลดกเป็นพวงแน่น เป็นองุ่นที่ปลูกง่าย ใช้เวลาปลูก 10-12 เดือน ติดผลและสามารถปลูกในบริเวณบ้านที่มีพื้นที่ไม่มากได้

พันธุ์คาร์ดินัล ลักษณะช่อใหญ่ ผลดก ผลกลมใหญ่ มีสีแดงหรือม่วงชมพู รสหวาน กรอบ เปลือกบาง ในผลหนึ่งๆ มีเมล็ด 1-2เมล็ด ช่วงเวลาหลังจากตัดแต่งกิ่งจนเก็บผลได้ใช้เวลา 3-3 เดือนครึ่ง ในเวลา 2 ปี สามารถให้ผลผลิตถึง 5 ครั้ง ผลผลิต 10-15 กิโลกรัม/ต้น

พันธุ์บิ๊กเพอร์เลท ใช้เวลาปลูก 8-12 เดือนเริ่มให้ผลผลิตรสชาติหอมหวาน ไร้เมล็ด สีเขียว เนื้อกรอบ

พันธุ์ไชน์ มัสแคท เกิดจากการวิจัยและปรับปรุงพันธุ์ในประเทศญี่ปุ่น โดยใช้เวลานานถึง 18 ปี จนได้ขึ้นทะเบียนพันธุ์เมื่อปี 2549 เป็นองุ่นมีเมล็ด ผลกลม ขนาดใหญ่ ผิวสีเขียวอ่อนเหมือนกำมะหยี่ เนื้อแน่น กรอบ หวาน ทนร้อนและหนาวเย็นได้ดี ราคาสูงถึง กก. ละ 2,000-5,000 บาท.