วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Cover Story > ปฏิรูปการศึกษาไทย คุณภาพ มาตรฐาน และความเหลื่อมล้ำ!

ปฏิรูปการศึกษาไทย คุณภาพ มาตรฐาน และความเหลื่อมล้ำ!

การศึกษาไทยมีประเด็นที่น่าสนใจรับศักราชใหม่ จากแนวความคิดอันสร้างสรรค์ของ ศุภกิจ จิตคล่องทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยที่ให้นักเรียนเริ่มทดลองแต่งชุดไปรเวตมาเรียน สัปดาห์ละ 1 ครั้ง

นัยสำคัญของการทดลองนี้อยู่ตรงที่เพื่อศึกษาถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากเครื่องแต่งกายที่ไม่ใช่เครื่องแบบนักเรียน ว่าจะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาของนักเรียนในเชิงสร้างสรรค์หรือไม่

และในวันที่ 8 มกราคมที่ผ่านมา ภาพนักเรียนจากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ที่แสดงออกอย่างสร้างสรรค์ด้วยการแต่งชุดไปรเวต มุมหนึ่งต้องยอมรับว่า การแสดงออกของนักเรียนกลุ่มนี้สร้างสีสันและอุดมไปด้วยไอเดีย

ทว่า อีกแง่มุมหนึ่งกลายเป็นประเด็นให้สังคมได้ถกแถลง เมื่อหลายฝ่ายมองว่าการเปิดโอกาสให้นักเรียนได้แสดงออกด้วยการใส่ชุดไปรเวตไม่ใช่เรื่องผิดแปลก อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนให้เด็กเหล่านี้ได้มีอิสระทางความคิด รู้จักแสดงออกในทางที่เหมาะสม

ขณะที่อีกฟากฝั่งกลับร้องหาความถูกต้องเหมาะสม ภายใต้เงื่อนไขอันว่าด้วยกฎระเบียบมากมายที่ถูกบัญญัติขึ้นในยุคสมัยหนึ่ง แม้ว่าโลกจะหมุนไปทุกวินาที และปัจจุบันเราใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางโลกยุคดิจิทัลที่เต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลง ทุกอย่างพัฒนาไปอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว

การทำงานเชิงรุกของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ส่งหนังสือแจ้งไปยังโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย เพื่อขอให้โรงเรียนทบทวนเรื่องดังกล่าว ว่ามีความเหมาะสมหรือไม่เพียงใด

แม้โรงเรียนจะชี้แจงไปก่อนหน้าแล้วว่า “นี่เป็นการทดลองทำวิจัยเรื่องการแต่งเครื่องแบบนักเรียนเท่านั้น” ซึ่ง สช. แสดงความกังวลว่า แนวทางดังกล่าวของโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย อาจส่งผลกระทบต่อเรื่องระเบียบวินัยและค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง บริบทของสังคมไทย และปัญหาสังคม

แน่นอน หากเปิดใจให้กว้าง ความกังวลของ สช. ดูจะไม่ใช่เรื่องผิดแต่อย่างใด ขณะที่การศึกษาไทยอยู่ในขั้นวิกฤต มีหลายปัญหาที่สะสมมาอย่างยาวนาน และฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรจะต้องหันมาระดมความคิดเข้าแก้ไขปัญหา ทั้งเรื่องการขาดแคลนทรัพยากร บุคลากรที่มีศักยภาพ การศึกษาที่เด็กนักเรียนสามารถนำไปใช้งานได้จริงในชีวิตประจำวัน หรือความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

และการอนุญาตให้นักเรียนโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย สามารถแต่งชุดไปรเวตได้ 1 วันใน 1 สัปดาห์ ไม่น่าจะสร้างปัญหาให้กับระบบการศึกษาไทยได้ นอกเสียจากเป็นเรื่องดีที่เปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงออกทางความคิด ซึ่งอาจต่อยอดพัฒนาการด้านสังคม การใช้ชีวิต และลดความกดดันที่เกิดขึ้นจากการคร่ำเคร่งกับการเรียนได้อีกด้วย

จากคำกล่าวที่ว่า “อนาคตของชาติ สร้างจากรากฐานทางการศึกษา” ทำให้รัฐบาลเริ่มเอาจริงเอาจังกับการปฏิรูปการศึกษา 6 ด้าน โดยมุ่งหวังว่าความสำเร็จในเชิงรูปธรรมจะสามารถพัฒนาศักยภาพกำลังคนของประเทศได้

โดย Roadmap ของรัฐบาลต่อการปฏิรูปและพัฒนาการศึกษามีอยู่ด้วยกัน 6 ด้าน คือ 1. ด้านการปฏิรูปครู เพื่อพัฒนาศักยภาพครูเพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาผู้เรียน ซึ่งมีโครงการจัดตั้งสถาบันคุรุพัฒนา โครงการพัฒนาวิทยฐานะ โครงการ Boot Camp ที่พัฒนาทักษะด้านภาษาของผู้สอน

2. การเพิ่ม และกระจายโอกาสเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา มีเป้าหมายลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยเฉพาะการจัดการศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจชายแดนภาคใต้ จัดการศึกษาของศูนย์ศาสนาอิสลามประจำมัสยิด การศึกษาสำหรับผู้พิการ

3. การปฏิรูปการบริหารจัดการ เช่น พัฒนานวัตกรรมการบริหารจัดการสถานศึกษาในรูปแบบ Partnership School ซึ่งมีโรงเรียนเข้าร่วมจำนวน 42 แห่ง และบริษัทเข้าร่วม 11 แห่ง มีการกำหนดวิธีการจัดการสอบผู้อำนวยการเขตพื้นที่ในรูปแบบใหม่ เพื่อให้ได้คนเก่งและป้องกันการทุจริตจากการคัดเลือก

4. การผลิตและพัฒนากำลังคน เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน เป็นการผลิตและพัฒนาคนให้ตรงกับความต้องการของการพัฒนาประเทศ เช่น จัดหลักสูตรอาชีวะพันธุ์ใหม่ ที่เน้นผลิตช่างฝีมือในอุตสาหกรรม อีกทั้งยังมีการจัดการศึกษาด้านอาชีพให้กับประชาชนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

5. การปฏิรูปการเรียนรู้ ด้วยการเสริมสร้างอุดมการณ์รักชาติ ศาสนา และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย นอกจากนี้ ยังมีการจัดการศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถเฉพาะด้าน เช่นห้องเรียนกีฬา ห้องเรียนดนตรี

และ 6. การปฏิรูป ICT เพื่อการศึกษา โดยการพัฒนาระบบอินเทอร์เน็ตและระบบฐานข้อมูล ได้แก่ การดำเนินโครงการจัดหา High Speed Internet ในโรงเรียน

ตลอดระยะเวลาที่ดำเนินการตาม Roadmap ตั้งแต่ปี 2559-2561 กระทรวงศึกษาธิการแสดงให้เห็นถึงผลสัมฤทธิ์ส่วนหนึ่งของแผนงาน ทว่า ในปี 2560 กลับมีผลสำรวจที่ชี้ให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ที่เป็นหนึ่งใน 6 ด้านของแผนการปฏิรูปการศึกษาของรัฐบาล

ทั้งจำนวนเด็กสอบตกในปี 2560 ในวิชาภาษาไทย ที่มีคะแนนต่ำกว่าเกณฑ์ถึง 51% วิชาสังคมศึกษา คะแนนต่ำกว่าเกณฑ์ 94% วิชาภาษาอังกฤษ คะแนนต่ำกว่าเกณฑ์ 91% คณิตศาสตร์ คะแนนต่ำกว่าเกณฑ์ 92% วิทยาศาสตร์ 93%

ขณะที่คะแนนเฉลี่ยปี 2560 หากจำแนกตามเขตที่ตั้งของโรงเรียนเป็นในเมืองและนอกเมือง ยังแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดเจน ยกตัวอย่างเช่น วิชาภาษาอังกฤษ ที่คะแนนเฉลี่ยของโรงเรียนในเมืองอยู่ที่ 33.5 โรงเรียนนอกเมืองอยู่ที่ 24.3

หากเปรียบเทียบระดับความสามารถของนักเรียนไทยกับนานาชาติ นักเรียนไทยยังมีคะแนนความสามารถต่ำกว่าค่าเฉลี่ย กระนั้น หนึ่งในหมุดหมายสำคัญของการปฏิรูปการศึกษาไทย คือการพัฒนาศักยภาพนักเรียนไทยเพื่อให้มีความพร้อมเข้าสู่ตลาดแรงงาน แต่ดูเหมือนค่าเฉลี่ยของความสามารถของนักเรียนในวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์หลังเข้าสู่ตลาดแรงงานกลับเป็นตัวเลขที่แสดงให้เห็นว่านักเรียนไทยไม่สามารถใช้ 2 วิชาดังกล่าวได้ในตลาดแรงงาน

ถึงตรงนี้ ภาครัฐควรตระหนักได้แล้วว่า ผลสัมฤทธิ์ของการปฏิรูปการศึกษา 6 ด้านนั้น แท้จริงแล้วเป็นเช่นไร การยอมรับว่าแผนงานที่ดำเนินไปนั้นยังไม่เป็นไปตามเป้าประสงค์อาจไม่ใช่เรื่องน่าอาย เพราะปัญหาการศึกษาของไทยเกิดขึ้นมานานต้องใช้ทั้งความเข้าใจและเวลาในการแก้ไขปัญหา

เชื่อว่าหลายฝ่ายกำลังตระหนักถึงปัญหาการศึกษาของไทย เพียงแต่ภาครัฐต้องยอมรับว่า ปัญหายังไม่ได้ถูกแก้ไขไปหมดสิ้น และระดมสมองและสรรพกำลังหาแนวทางที่ถูกต้องเหมาะสมเพื่อแก้ปัญหานี้อย่างยั่งยืน

หรือภาครัฐอาจหยิบยืมแนวทางการพัฒนาด้านการศึกษาจากประเทศที่ได้ชื่อว่า มีระบบการศึกษาดีอยู่ในระดับต้นๆ ของโลก อย่างประเทศสิงคโปร์ และนำมาประยุกต์ใช้ให้เข้ากับการศึกษาไทย

เมื่อจุดเด่นของการศึกษาสิงคโปร์ที่มี 5 ประการ ได้แก่ 1. บุคลากรครูคุณภาพสูง 2. การเรียนการสอน 2 ภาษา 3. โอกาสทางการศึกษาที่เท่าเทียม 4. เทคโนโลยีการเรียนการสอนที่ทันสมัย และ 5. ระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่น สามารถถ่ายโอนนักเรียนระหว่างสายวิชาชีพกับสายสามัญเพื่อเพิ่มความกระตือรือร้นในการเรียน

หากพิจารณาจุดเด่นทั้ง 5 ข้อของการศึกษาของสิงคโปร์แล้ว มีความแตกต่างจากแนวทางการปฏิรูปการศึกษา 6 ด้านของไทยเพียงไม่กี่ข้อเท่านั้น

ขณะที่ในปี 2559 ผลคะแนนสอบวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่านของเยาวชนอายุ 15 ปี ใน 70 ประเทศ สิงคโปร์เป็นอันดับ 1 ในทั้ง 3 วิชา อีกทั้งยังพบว่าคะแนนของเยาวชนกลุ่มที่มีรายได้น้อยและกลุ่มที่มีรายได้สูงไม่แตกต่างกันมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ

นี่แสดงให้เห็นว่าแนวทางของสิงคโปร์ต่อเรื่องการศึกษาสามารถลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้อย่างสมบูรณ์ นอกจากนี้ จุดมุ่งหมายของการศึกษาในสิงคโปร์ยังเน้นไปที่การพัฒนาให้เยาวชนมีทักษะความรู้ ความสามารถ เพื่อการดำรงชีพ มีคุณธรรม จริยธรรม รับผิดชอบและเป็นพลเมืองดีของชาติ

ทั้งนี้การศึกษาขั้นพื้นฐานของสิงคโปร์คือ 10 ปี เป็นการศึกษาภาคบังคับ เพื่อให้เด็กอยู่ในระบบโรงเรียนอย่างต่ำ 10 ปี ก่อนออกไปสู่โลกแห่งการทำงาน

ขณะที่ผู้ใหญ่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการศึกษาไทยยังตื่นเต้นไปกับเปลือกภายนอกอย่างเครื่องแต่งกายหรือทรงผม ที่ไม่ได้มีส่วนช่วยให้เด็กสามารถเรียนรู้ได้ดีขึ้นหรือน้อยลงแต่อย่างใด

ได้แต่คาดหวังว่า งบประมาณที่กระทรวงศึกษาธิการได้รับไป 489,789,574,500 บาท จะช่วยให้การศึกษาไทยพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้น ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาลดลง และศักยภาพของเด็กถูกพัฒนาอย่างเหมาะสม

ใส่ความเห็น