การเดินทางเยือนศรีลังกาอย่างเป็นทางการขององค์พระสันตะปาปา Francis (Pope Francis) แห่งคริสตจักรโรมันคาทอลิก หากประเมินอย่างเพียงผิวเผิน ก็คงเป็นเพียงพิธีกรรมการเยือนที่ไม่น่าจะมีสิ่งใดให้ตื่นตาตื่นใจมากนัก และก็คงเป็นเพียงวงรอบของการเยือนที่ผูกพันอยู่กับแบบพิธีทางการทูตเท่านั้น
แต่หากประเมินจากห้วงเวลาและสถานการณ์ระดับนานาชาติที่ปรากฏเป็นข่าวตลอดช่วงสัปดาห์ก่อนและหลังการเยือนเอเชีย 6 วัน (ศรีลังกาและฟิลิปปินส์) ดูเหมือนว่าทั่วโลกต่างให้ความสนใจกับการเสด็จเยือนศรีลังกาขององค์สมเด็จพระสันตะปาปาไม่น้อยเลย
ในด้านหนึ่งเพราะศรีลังกาเพิ่งผ่านการเลือกตั้งประธานาธิบดีก่อนหน้าการเสด็จเยือนได้เพียง 3 วัน ซึ่งก่อนหน้านี้กำหนดการดังกล่าวได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นความพยายามที่จะให้การรับรองและสร้างความชอบธรรมให้ผลการเลือกตั้งที่คาดหมายว่า Mahinda Rajapaksa อดีตประธานาธิบดีจะได้รับเลือกตั้งกลับเข้ามาอย่างง่ายดาย แต่ผลการเลือกตั้งกลับไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้
ขณะเดียวกันด้วยเหตุที่ศรีลังกาเป็นพหุสังคมที่มีความแตกต่างหลากหลายทั้งในมิติของเชื้อชาติ และความเชื่อทางศาสนาวัฒนธรรม แม้จะมีพื้นฐานจากสังคมพุทธที่แน่นหนาก็ตาม ทำให้ประเด็นการเยือนของสันตะปาปาในห้วงยามที่โลกกำลังระอุไปด้วยทัศนะที่แตกต่างทางความเชื่อและความชิงชังระหว่างผู้ที่อยู่ต่างวัฒนธรรมได้รับความสนใจเป็นพิเศษ
ความน่าสนใจของการเยือนครั้งนี้ในด้านหนึ่งอยู่ที่การเชิญผู้นำทางศาสนาหลักๆ ทุกศาสนาในศรีลังกาเข้าร่วมอยู่บนเวทีเดียวกับองค์สันตะปาปา โดยมีฉากหลังเป็นสัญลักษณ์ของศาสนาพุทธ ฮินดู อิสลาม และคริสต์ ปรากฏอย่างเด่นชัดและเป็นภาพที่ได้รับการเผยแพร่ไปทั่วโลก
ยิ่งไปกว่านั้น เนื้อความในสุนทรพจน์ที่องค์สันตะปาปามีต่อสาธารณชนที่ให้การต้อนรับ ได้สะท้อนวิถีความคิดว่าด้วยการดำรงอยู่ร่วมกันอย่างสันติและการสร้างความปรองดองท่ามกลางความแตกต่างในความเชื่อและวัฒนธรรมที่ทรงพลังและเป็นแรงบันดาลใจ ไม่เฉพาะกับศรีลังกาที่ดำรงอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งและสงครามกลางเมืองมานานเกือบ 3 ทศวรรษเท่านั้น
หากแต่เป็นการสื่อสารไปถึงพลโลกในยุคพหุสังคม ที่กำลังขาดแคลนความเข้าใจในวัฒนธรรมที่หลากหลายรอบข้างด้วย
ประวัติการณ์แห่งความเป็นมาและเป็นไปของดินแดนที่เรียกว่าศรีลังกาในปัจจุบันที่สืบย้อนไปได้ไกลนับพันนับหมื่นปี ประกอบกับสภาพภูมิประเทศที่เป็นประหนึ่งจุดยุทธศาสตร์ในการเดินเรือตามเส้นทางการค้า ทำให้ศรีลังกากลายเป็นที่ต้องการและเป็นเวทีประลองกำลังของชาติมหาอำนาจมาอย่างต่อเนื่อง ไล่เรียงจากโปรตุเกส มาสู่ดัตช์ ก่อนที่อังกฤษจะเบียดแทรกเข้ามาครอบครองและดูดซับความมั่งคั่งจากดินแดนแห่งนี้อย่างยาวนาน ซึ่งต่างทำให้เกิดพหุสังคมที่มีความหลากหลายทั้งในมิติของชาติพันธุ์ ศาสนาและวัฒนธรรมบนดินแดนแห่งนี้
จำนวนประชากรศรีลังกาที่มีอยู่ประมาณ 22 ล้านคน ดำเนินไปท่ามกลางความหลากหลายทั้งในมิติของชาติพันธุ์ ซึ่งประกอบด้วยชาวสิงหล (ร้อยละ 74.88) ชาวศรีลังกาทมิฬ (ร้อยละ 11.2) ศรีลังกันมัวร์ ซึ่งเป็นชาวทมิฬที่นับถืออิสลามและกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีต้นทางมาจากอาหรับในตะวันออกกลาง (ร้อยละ 9.2)
นอกจากนี้ยังมีชาวทมิฬจากอินเดียที่นำเข้ามาเป็นแรงงานในยุคอาณานิคม กลุ่ม Burgher ที่เป็นผู้สืบเชื้อสายจากอาคันตุกะต่างแดนจากยุโรป และกลุ่มชนชาวมาเลย์-ชวาที่มาจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย
ความหลากหลายทางเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ของศรีลังกา ติดตามมาด้วยความแตกต่างทางลัทธิความเชื่อในมิติของศาสนาและวัตรปฏิบัติ โดยสังคมศรีลังกาประกอบด้วยผู้นับถือศาสนาพุทธกว่าร้อยละ 70 ฮินดูร้อยละ 12.6 อิสลามร้อยละ 9.7 และคริสต์ร้อยละ 7.5 และศาสนาอื่นๆ อีกเล็กน้อย
วัฒนธรรมประเพณีที่แตกต่างหลากหลายเหล่านี้ ช่วยเติมเต็มสีสันให้ดินแดนแห่งนี้สุกสกาวมีชีวิตชีวา และเป็นพลังขับเคลื่อนที่ทำให้สังคมศรีลังกาไม่นิ่งงันอยู่ในกระแสธารของวัฒนธรรมใดวัฒนธรรมหนึ่งแต่เพียงลำพัง
กระนั้นก็ดี ความเป็นพหุสังคมที่มีการแทรกแซงจากภายนอกตลอดเวลานี้เอง ที่ได้เป็นปัจจัยหนุนเสริมให้เกิดและทิ้งปมเงื่อนแห่งความขัดแย้ง เป็นร่องรอยแห่งความบาดหมางและปริร้าวในสังคมศรีลังกา ที่เป็นประหนึ่งความด่างพร้อยทางประวัติศาสตร์ ซึ่งกำลังรอคอยการแก้ไขเยียวยาอย่างจริงจัง
สุนทรพจน์ขององค์สันตะปาปา Francis ที่ระบุว่า “เมื่อใดก็ตามที่ผู้คนรับฟังความคิดเห็นแตกต่างด้วยท่วงทำนองถ่อมตนไม่ถือดีและเปิดกว้าง การแลกเปลี่ยนทัศนคติและคุณค่าความหมายก็จะยิ่งเด่นชัด และทำให้ความแตกต่างหลากหลายไม่ใช่ภัยคุกคาม หากแต่เป็นแนวทางที่จะแผ้วทางและเติมเต็มให้หนทางสู่การอยู่ร่วมกันอย่างสันติปรองดองและเป็นธรรม เกิดขึ้นได้จริง”
เป็นประหนึ่งการเน้นย้ำแนวทางในการแก้ปัญหาที่สั่งสมไม่เฉพาะในสังคมศรีลังกาเท่านั้น แต่น่าที่จะเป็นการส่งสารไปสู่ส่วนอื่นๆ ของโลกด้วย
แน่นอนว่าภารกิจในการฝ่าข้ามอดีตที่ขื่นขม และเต็มไปด้วยมรดกของความอยุติธรรมที่สั่งสมความเคียดแค้นชิงชัง ไม่ไว้วางใจกัน และการเป็นศัตรูผู้คุกคาม ไปสู่ความรุ่งเรืองครั้งใหม่และการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ทุกสังคมจำเป็นต้องก้าวข้ามบทเรียนของปิศาจที่ชั่วร้ายนี้ไปด้วยความดีและความจริง
ว่าแต่โลกที่ดำเนินอยู่ท่ามกลางพหุสังคมที่หลากหลายนี้ จะกำหนดนิยามและให้คุณค่าความหมายแห่ง “ความดี-ความจริง” นี้อย่างไร เป็นเรื่องที่น่าสนใจและวิพากษ์อย่างจริงจังไม่น้อยเหมือนกันนะคะ