วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Cover Story > จาก “สหฟาร์ม” ถึง “ไทยฟู้ดส์” พิษเศรษฐกิจ ธุรกิจผูกขาด

จาก “สหฟาร์ม” ถึง “ไทยฟู้ดส์” พิษเศรษฐกิจ ธุรกิจผูกขาด

กระแสข่าวการสั่งปลดพนักงานแบบฟ้าผ่าของบริษัท ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้ประกอบธุรกิจผลิตจำหน่ายไก่สด แช่แข็ง และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากไก่ รวมทั้งผลิตจำหน่ายสุกร และอาหารสัตว์ ทั้งในส่วนกลางและต่างจังหวัดราว 50% ของพนักงานทั้งหมดกว่า 2,600 คน มีผลตั้งแต่วันที่ 30 พ.ย.ที่ผ่านมา พร้อมกับลดการเช่าพื้นที่สำนักงานอาคารชินวัตร 3 จากเดิม 3 ชั้น เหลือ 1 ชั้น กลายเป็นภาพสะท้อนวิกฤตเศรษฐกิจที่หลายฝ่ายยืนยันว่า “สาหัสมาก”

ที่สำคัญ มีอีกหลายธุรกิจกำลังประสบปัญหาจากพิษเศรษฐกิจ บางบริษัทสั่งปิดบางยูนิต บางบริษัทตัดลดเงินเดือน และบางบริษัทสั่งปลดพนักงานชนิดที่บอกล่วงหน้าเพียงไม่กี่วัน

สำหรับกรณี “ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป” ตามรายงานประจำปี 2560 ทีมผู้บริหารประกาศตั้งเป้าปี 2561 จะเป็นปีแห่งการเติบโตต่อเนื่อง (Year of Further Growth) หลังจากสามารถสร้างรายได้สูงขึ้นและกำไรสุทธิติดต่อกัน 2 ปี โดยปี 2560 มีรายได้รวม 25,913 ล้านบาท เติบโต 5,134 ล้านบาทหรือ 24.7% จากปี 2559 ที่มีรายได้รวม 20,779 ล้านบาท เติบโตจากปีก่อนหน้าที่มีรายได้รวมเพียง 17,508 ล้านบาท พร้อมตั้งเป้าหมายขึ้นแท่นผู้นำอันดับ 3 ใน 3 ตลาดในประเทศ คือ ตลาดเนื้อไก่ ตลาดสุกร และตลาดผลิตอาหารสัตว์

บริษัทคาดการณ์ว่า ปี 2561 จะสามารถสร้างรายได้เติบโต 20% หรือประมาณ 30,000 ล้านบาท อัตรากำไรสุทธิไม่ต่ำกว่า 6-8%

แต่ปรากฏว่า รายได้เริ่มพลาดเป้า โดยผลประกอบการไตรมาส 3 ทำกำไรสุทธิ 525.93 ล้านบาท ลดลงถึง 25.01% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ทำได้ 701.35 ล้านบาท แม้รายได้อยู่ที่ 7,542 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.78% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ทำได้ 7,063 ล้านบาท เนื่องจากเกิดภาวะสินค้าล้นตลาดและราคาขายลดลง โดยเฉพาะเนื้อไก่

ก่อนหน้านี้ บริษัทพยายามปรับพอร์ตการผลิตและการขายเข้าสู่ตลาดส่งออกที่มีกำไรขั้นต้นสูงขึ้น เพื่อหนีสมรภูมิธุรกิจในประเทศและผลักดันราคาขายเฉลี่ย โดยปรับเป้าหมายส่งออกรวมเป็น 60,000 ตัน ต่อปี คิดเป็นสัดส่วน 25% ของรายได้สินค้าไก่ทั้งหมด เร่งเจาะตลาดยุโรป ญี่ปุ่น และจีน เพื่อสร้างกำไรให้สูงกว่าการขายในประเทศ รวมทั้งเน้นสินค้า by-products เป็นสินค้าปรุงสุกส่งออก ลดการขายสินค้าไก่ภายในประเทศลง

ทว่า ผลพวงสงครามการค้าและภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวนทั่วโลกและกระทบการส่งออก ขณะที่ตลาดในประเทศเจอการแข่งขันรุนแรง ทำให้แผนการทุกอย่างผิดคาด

จะว่าไปแล้ว ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป ลุยธุรกิจไก่ยาวนานไม่แพ้ยักษ์ใหญ่ในวงการ โดยนายวินัย เตียวสมบูรณ์กิจ ก่อตั้งบริษัทเมื่อปี 2530 เริ่มดำเนินกิจการฟาร์มเลี้ยงไก่แห่งแรกในจังหวัดลพบุรี จากวันแรกขายไก่ได้วันละ 300-400 ตัว เดินหน้าขยายตลาดตามอำเภอ เพิ่มยอดขายได้เฉลี่ยวันละ 700-800 ตัวต่อวัน

ปี 2546 ตัดสินใจลงทุนในโรงผลิตชิ้นส่วนสัตว์ กำลังการผลิตเนื้อไก่ 1.39 แสนตัวต่อวัน แต่เปิดได้เพียง 6 เดือน เจอวิกฤตไข้หวัดนก ซึ่งโชคดีเสียหายไม่มาก เนื่องจากยังไม่มีการเพาะพันธุ์ไก่ และพลิกวิกฤตเป็นโอกาส กว้านซื้อกิจการฟาร์มไก่ในราคาถูก

ปี 2547 บริษัทรุกดำเนินธุรกิจฟาร์มสุกร กำลังการผลิต 1.9 พันตัว และดำเนินธุรกิจโรงผลิตอาหารสัตว์ โดยโรงแรกมีกำลังการผลิตอาหารสัตว์ 3 หมื่นตันต่อเดือน จากนั้นอีก 2 ปี บุกประเทศเวียดนามเปิดธุรกิจฟาร์มสุกร กำลังการผลิต 1.4 พันตัว

ปัจจุบัน บริษัทดำเนิน 4 ธุรกิจหลัก ประกอบด้วย 1. ธุรกิจไก่ เพาะพันธุ์ไก่ ผลิตและจำหน่ายเนื้อไก่ ลูกไก่ ไก่พันธุ์เนื้อ และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเนื้อไก่ 2. ธุรกิจสุกร เพาะพันธุ์สุกรและจำหน่ายสุกรมีชีวิต 3. ธุรกิจอาหารสัตว์ ผลิตและจำหน่ายอาหารสำหรับไก่และสุกร และ 4. ธุรกิจอื่นๆ ได้แก่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาวัคซีนและเวชภัณฑ์ ผลิตและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารสัตว์ และอุปกรณ์ทางการเกษตรที่ทำจากพลาสติก

ขณะเดียวกัน หากเปรียบเทียบเส้นทางของ “ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป” ทำให้นึกถึงกรณี “สหฟาร์ม” ของนายปัญญา โชติเทวัญ

นายปัญญาเริ่มต้นเลี้ยงไก่ เรียนรู้ธุรกิจอยู่หลายปีก่อนตั้งบริษัท สหฟาร์ม เมื่อปี 2512 ขยายธุรกิจเลี้ยงและชำแหละไก่

ปี 2517 ลุยส่งออกไก่สดแช่แข็งเข้าสู่ธุรกิจครบวงจร ตั้งแต่ผลิตลูกไก่ ผลิตอาหารสัตว์ ส่งลูกไก่และอาหารสัตว์ให้เกษตรกร ขยายเครือข่ายลูกเล้าด้วยวิธีประกันราคา โดยส่งไก่ตัวมาชำแหละและตัดแต่งเพื่อการส่งออก

เจอวิกฤตไข้หวัดนกเหมือนไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป เมื่อปี 2547 แต่ฟันฝ่าอุปสรรคจนฟื้นขึ้นมาได้และกลายเป็นผู้ส่งออกไก่รายใหญ่ของประเทศไทย เจาะตลาดสหภาพยุโรป (อียู) ตลาดตะวันออกกลาง จีน ญี่ปุ่น เกาหลี และมาเจอสมรภูมิครั้งใหญ่ ทั้งพิษต้นทุนอาหารสัตว์พุ่งกระฉูด การแข่งขันกับยักษ์ใหญ่ในธุรกิจ ขาดรายได้ และธนาคารเจ้าหนี้เริ่มจำกัดวงเงิน

ปี 2557 บริษัท สหฟาร์ม จำกัด และบริษัท โกลเด้น ไลน์ บิสซิเนส จำกัด ผู้ผลิตและส่งออกไก่รายใหญ่ของตระกูลโชติเทวัญ มีหนี้สินและเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ โดยศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเมื่อวันที่ 23 ก.ค.2557 ให้บริษัท อีวาย คอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด (EY) เป็นผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการ ซึ่งเวลานั้นบริษัทสหฟาร์มมีหนี้สินรวม 14,110,87 ล้านบาท และบริษัทโกลเด้น ไลน์ฯ มีหนี้สิน 12,524.47 ล้านบาท กำหนดระยะเวลาฟื้นฟู 10 ปี ตั้งแต่ปี 2558-2567

ผ่านไปกว่า 4 ปี ปัญญา โชติเทวัญ พยายามทวงคืนอาณาจักรธุรกิจสหฟาร์มที่มีมูลค่านับแสนล้านบาท ยื่นเรื่องต่อศาลล้มละลายกลาง ขอให้บริษัท อีวาย คอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส (EY) ซึ่งเป็นผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้พ้นจากตำแหน่งผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ

แต่ล่าสุด เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2561 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกคำร้อง ให้บริษัทอีวายฯ เป็นผู้ดำเนินการตามแผนฟื้นฟูต่อไป เนื่องจากบริษัท อีวายฯ และกลุ่มเจ้าหนี้รายใหญ่ธนาคารกรุงไทยสามารถบริหารจัดการตามแผนฟื้นฟู ส่งผลให้ธุรกิจสหฟาร์มปรับตัวดีขึ้น

ทั้งนี้ ข้อมูลจากสำนักวิจัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ระบุว่า ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตไก่เนื้ออันดับ 10 ของโลก มีผลผลิตปีละ 2-2.1 ล้านตัน หรือคิดเป็นสัดส่วน 2% ของผลผลิตไก่เนื้อทั่วโลก ขณะที่การบริโภคเนื้อไก่ของไทยมีปริมาณเฉลี่ยปีละ 1.2-1.3 ล้านตัน หรือ 60% ของผลผลิตไก่เนื้อทั้งหมดของไทย เหลือกว่า 40% ส่งผลให้ผู้ผลิตรายใหญ่ต่างเน้นเจาะตลาดส่งออกมากขึ้น

ขณะที่ปัจจุบันอุตสาหกรรมไก่เนื้อในประเทศไทยมีผู้ประกอบการยึดตลาด 7 ราย อันดับ 1 บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ “ซีพีเอฟ” ในเครือซีพี ตามด้วยกลุ่มเบทาโกร สหฟาร์ม คาร์กิล ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป จีเอฟพีที และบริษัท แหลมทองอุตสาหกรรม จำกัด ซึ่งทุกบริษัทลงทุนในอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องครบวงจรตั้งแต่อาหารสัตว์ ฟาร์มไก่เนื้อ และโรงงานแปรรูป

ตรวจสอบแนวรบทุกค่าย โดยเฉพาะการต่อสู้กับยักษ์ใหญ่ที่ยึดกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำยันช่องทางค้าปลีกทั่วประเทศ

น่าจับตาว่า “ไทยฟู้ดส์กรุ๊ป” จะพลิกสถานการณ์อีกครั้งอย่างไร

ใส่ความเห็น