วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Cover Story > เซ็นทรัลเร่งแผน Center of Life ดึงบิ๊กมาเลย์ผุด “คอมมอนกราวด์”

เซ็นทรัลเร่งแผน Center of Life ดึงบิ๊กมาเลย์ผุด “คอมมอนกราวด์”

“เซ็นทรัลพัฒนา” กำลังเร่งเดินหน้าธุรกิจตามแผนวิสัยทัศน์ 5 ปี “Co-Create Center of Life” ปลุกจุดขายให้ศูนย์การค้าของซีพีเอ็นทุกสาขาเป็นศูนย์กลางการใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่และไม่ใช่แค่การสร้างทราฟฟิกการใช้บริการอย่างหนาแน่นเฉพาะวันหยุดสุดสัปดาห์ แต่ต้องหนาแน่นทุกวันตลอดสัปดาห์ โดยล่าสุดทุ่มทุนเกือบพันล้านแตกไลน์ธุรกิจโคเวิร์กกิ้งสเปซเต็มรูปแบบ แบรนด์ “Common Ground” ชูคอมมูนิตี้ผู้ประกอบการและสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ ตั้งเป้าปูพรมอย่างรวดเร็ว 20 สาขา ภายใน 5 ปี

การจับมือกันครั้งนี้สร้างความตื่นเต้นในสงครามโคเวิร์กกิ้งสเปซ เพราะคอมมอนกราวด์ ถือเป็นโคเวิร์กกิ้งสเปซสัญชาติมาเลเซียที่เติบโตเร็วที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งที่เปิดตัวเพียงปีกว่าๆ เน้นสร้างชุมชนโคเวิร์กกิ้งสเปซแบบบูรณาการภายใต้สโลแกนที่ว่า “ความใฝ่ฝันมีอยู่ที่นี่ (Ambition Lives Here)” และมีจุดขายสำคัญ คือ เครือข่ายพันธมิตรระดับบิ๊กเนมทั้งสิ้น เช่น แอร์เอเชีย ฟิตเนสเฟิร์ท เปโตรนาส ซึ่งลูกค้าสามารถได้สิทธิประโยชน์ที่แตกต่างจากคู่แข่งรายอื่น

ล่าสุด มีสมาชิกมากกว่า 1,400 คนใน 6 สาขา ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ และเมืองใกล้เคียง โดยมีแผนเปิดครบ 15 สาขาทั่วมาเลเซียภายในปีนี้ และเริ่มรุกขยายธุรกิจสู่ระดับภูมิภาค ได้แก่ ฟิลิปปินส์และประเทศไทย

นายจุน เตียว ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คอมมอน กราวด์ และหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง กล่าวถึงแผนการลงทุนในระดับภูมิภาคว่า ในอีก 5 ปีข้างหน้า บริษัทตั้งเป้าจะเติบโตกว่า 3 เท่าทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยในประเทศไทย จะมีสาขาไม่ต่ำกว่า 20 สาขา พื้นที่เฉลี่ยมากกว่า 2,000 ตารางเมตรต่อสาขา และกว่า 10 สาขาจะกระจายอยู่ตามย่านธุรกิจหลักๆ ในกรุงเทพฯ เน้นอาคารสำนักงานที่เชื่อมต่อกับศูนย์การค้าของซีพีเอ็น หรืออาคารสำนักงานให้เช่าอื่นๆ รวมถึงสาขาในหัวเมืองสำคัญ เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต และพัทยา

นายจุน เตียว ย้ำว่า คอมมอนกราวด์เป็นรูปแบบใหม่ของโคเวิร์คกิ้งสเปซในประเทศไทย จับกลุ่มเป้าหมายคนทำงานรุ่นใหม่ ได้แก่ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี กลุ่มสตาร์ทอัพและฟรีแลนซ์ 80% และกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ที่มีความต้องการทำงานในโคเวิร์กกิ้งสเปซ 20%

ที่สำคัญ การขยายธุรกิจเข้ามาในประเทศไทยถือเป็นการตอบรับ 6 เทรนด์โคเวิร์กกิ้งสเปซที่จะเกิดขึ้นทั่วโลกในปีหน้า ได้แก่ เทรนด์ของการเข้ามาลงทุนทำโคเวิร์กกิ้งสเปซ เพื่อเติมเต็มโครงการรูปแบบมิกซ์ยูส

เทรนด์ Local Act Global หรือ การผสมผสานอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของผู้ประกอบการในท้องถิ่นกับความเชี่ยวชาญการจัดการในระดับนานาชาติจากโกลบอลแบรนด์ของผู้ประกอบการยุคใหม่

เทรนด์ Work-Life Balance ความต้องการสร้างสมดุลระหว่างการทำงานกับการใช้ชีวิต ซึ่งมีโคเวิร์กกิ้งสเปซหลายแห่งเริ่มเติมเต็มโซนการพักผ่อนรูปแบบต่างๆ เช่น ฟิตเนส ดนตรี ร้านอาหาร

เทรนด์การชอบใช้พื้นที่การทำงานที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ และช่วยจุดประกายต่อยอดโอกาสธุรกิจ (Flexible & Hyper Competitive Space) เช่น การปรับพื้นที่ทำงานเป็นโต๊ะเล่นปิงปอง

เทรนด์ความต้องการเชื่อมต่อเน็ตเวิร์กด้วยเทคโนโลยีและเทรนด์ที่กลุ่มบริษัทใหญ่ๆ เริ่มมองหาพื้นที่การทำงานในรูปแบบใหม่เพื่อกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ให้องค์กร และลดภาระค่าใช้จ่ายด้านต่างๆ

แน่นอนว่า การจับมือกับยักษ์ใหญ่ศูนย์การค้าทำให้คอมมอนกราวด์สามารถใช้เครือข่ายกลุ่มธุรกิจที่หลากหลายของกลุ่มเซ็นทรัลเช่นเดียวกัน ทั้งห้างสรรพสินค้า โรงแรม แบรนด์แฟชั่น ไลฟ์สไตล์ และร้านอาหาร ซึ่งเป็นเน็ตเวิร์กที่มากกว่าโคเวิร์กกิ้งสเปซค่ายอื่นและเป็นเน็ตเวิร์กทั่วประเทศ รวมถึงในอนาคตสามารถขยายไปยังศูนย์การค้าของซีพีเอ็นในต่างประเทศด้วย

สำหรับคอมมอนกราวด์สาขาแรกในประเทศไทย ซึ่งคาดว่าจะประเดิมพื้นที่ในศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์นี้ ถือเป็นรีจินัลแฟลกชิปแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีขนาดพื้นที่ 4,500 ตารางเมตร และจะเป็นต้นแบบสื่อสารกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ทั้งในแง่ตัวแบรนด์และความครบเครื่อง ทั้งบริการในตัวคอมมอนกราวด์เองและบริการในศูนย์การค้า ทั้งแฟชั่นไลฟ์สไตล์ ร้านอาหาร ธนาคาร ฟิตเนส ที่จอดรถ มีกิจกรรมอีเวนต์และไลฟ์สไตล์เวิร์กช็อป สามารถทดลองทำตลาด ทำจริง ขายจริง ในศูนย์การค้าของซีพีเอ็น และธุรกิจอื่นๆ ของกลุ่มเซ็นทรัล นอกจากนี้ เปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมงด้วย

ด้านบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอ็น วางเป้าหมายการแตกไลน์ธุรกิจใหม่ เพื่อดึงกลุ่มลูกค้าคนรุ่นใหม่ที่มีกำลังซื้อเข้ามาใช้บริการเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในวันธรรมดา จันทร์-ศุกร์ ซึ่งยังมียอดผู้ใช้บริการน้อยกว่าหยุด เสาร์-อาทิตย์

อย่างเซ็นทรัลเวิลด์ ล่าสุดมียอดผู้ใช้บริการเฉลี่ยในวันหยุดสุดสัปดาห์ 1.5-1.6 แสนคนต่อวัน ขณะที่วันธรรมดาเฉลี่ย 1.2 แสนคนต่อวัน และหากรวมทั้ง 32 ศูนย์การค้าของซีพีเอ็น เฉลี่ยมีผู้ใช้บริการรวม 1.5 ล้านคนต่อวัน ทั้งที่สามารถเข้าถึงฐานลูกค้ามากกว่า 12 ล้านคน

โจทย์คือ จะทำให้ฐานลูกค้าที่มีอยู่เข้ามาใช้บริการในศูนย์การค้าเพิ่มขึ้นและหนาแน่นทุกวัน ซึ่งกลุ่มนักธุรกิจคนรุ่นใหม่ถือเป็นกลุ่มเป้าหมายที่มีศักยภาพ ทั้งในแง่ไลฟ์สไตล์ กำลังซื้อ และจำนวน เนื่องจากธุรกิจเอสเอ็มอีในประเทศไทย มีแนวโน้มเติบโตสูง 8-10% ต่อปี มากกว่าประเทศเพื่อนบ้าน และกว่า 1 ใน 6 มีธุรกิจอยู่ในกรุงเทพฯ คิดเป็นกว่า 500,000 ราย”

เอสเอ็มอีเหล่านี้มีความต้องการสถานที่ทำงานในทำเลที่ดี หรือ Prime Location แต่การเข้าถึงออฟฟิศให้เช่าเกรด A ในกรุงเทพฯ เป็นไปได้ยากและมีราคาสูง เช่นเดียวกับบริษัทใหญ่ๆ ที่ต้องการลดต้นทุนค่าใช้จ่าย ทำให้ Co-Working Space ในรูปแบบของ “คอมมอนกราวด์” สามารถเป็นทางเลือกใหม่ที่มีศักยภาพด้านทำเลและบริการ

อิศเรศ จิราธิวัฒน์ ผู้อำนวยอาวุโส ฝ่ายขายซีพีเอ็น กล่าวว่า บริษัทเตรียมเปิดตัวแบรนด์ “คอมมอน กราวด์” เต็มรูปแบบใหม่ประมาณต้นปีหน้า โดยวางงบลงทุนรวม 800 ล้านบาท เพื่อขยายสาขาทั้งหมด 20 สาขาในช่วง 5 ปี พื้นที่ต่อสาขาจะมีตั้งแต่ขนาดเล็ก 2,000-3,000 ตร.ม. จนถึงขนาดใหญ่ 4,000-5,000 ตร.ม. รองรับผู้ใช้บริการประมาณ 700-800 คนต่อวัน และคาดว่าจะถึงจุดคุ้มทุนได้ภายใน 3-4 ปี

ก่อนหน้านี้ กลุ่มเซ็นทรัลเองพยายามรุกธุรกิจโคเวิร์กกิ้งสเปซ ทั้งการทุ่มทุนเปิดตัว โอเพ่นเฮ้าส์ (Open House) ในห้างเซ็นทรัล เอ็มบาสซี พื้นที่กว่า 7,000 ตร.ม. โดยดึงบริษัทออกแบบชั้นแนวหน้าจากญี่ปุ่น Klein Dytham architecture (KDa) ผู้ออกแบบโครงการ Dai-kanyama T-Site และ Ginza Place เข้ามาออกแบบ สร้างบรรยากาศ “บ้าน” หลังที่ 2 และจัดสรรพื้นที่รวม 8 โซน

ได้แก่ Eating Deck โซนร้านอาหารและเครื่องดื่ม สไตล์ซุ้มกึ่ง Self-Service, Eat by the Park ร้านอาหาร Full Service, ร้านหนังสือ Open House Bookshop by Hardcover, Co-Thinking Space ห้องประชุมที่สามารถนั่งทำงานร่วมกันได้, Art Tower กล่องเครื่องมืองานศิลปะขนาดใหญ่หรือแกลเลอรีแสดงงานศิลปะ, Design Shop ร้านจำหน่ายสินค้าที่คัดสรรสินค้า Design & Craft, สนามเด็กเล่น Open Playground และโรงภาพยนตร์ Embassy Diplomat Screens by AIS

ที่ผ่านมา โอเพ่นเฮ้าส์พยายามสร้างอีเวนต์แปลกใหม่ เพื่อดึงดูดนิวเจนเนอเรชั่น และสร้างความแตกต่างจากโคเวิร์กกิ้งสเปซแห่งอื่นๆ เช่น การเปิดตัวโฟโต้บุ๊กโพลารอยด์ การจัดแสดงผลงานประติมากรรมร่วมสมัยของศิลปินต่างชาติ การแสดงดนตรีสดหลากหลายแนว การจัดเวิร์กช็อป สตูดิโอสร้างสรรค์สมุดและงานกระดาษ การสาธิตพับตุ๊กตากระดาษ (origami) นอกจากนี้ ยังเพิ่มโปรโมชั่นต่างๆ ให้กลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษา เพื่อดึงดูดการใช้บริการในครั้งต่อไป

ขณะเดียวกัน บริษัท บีทูเอส ธุรกิจร้านหนังสือในกลุ่มเซ็นทรัล หลังประเดิมร้านคอนเซ็ปต์ใหม่ บีทูเอส ธิงค์สเปซ ซึ่งพื้นที่สไตล์โคเวิร์กกิ้งสเปซ สาขาแรกที่เซ็นทรัลเฟสติวัล อีสต์วิลล์ ซึ่งลูกค้าให้การตอบรับอย่างดีและสามารถผลักดันยอดขายเพิ่มขึ้น 10% เมื่อเทียบกับร้านบีทูเอสสาขาทั่วไป ล่าสุดประกาศนโยบายลุยขยายร้าน บีทูเอส ธิงค์สเปซ อย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันเปิดแฟลกชิปสโตร์ บีทูเอส ธิงค์สเปซ รวมแล้ว 5 สาขา

ประกอบด้วย สาขาเซ็นทรัลเฟสติวัล อีสต์วิลล์ คอนเซ็ปต์ “Curatorial Lifestyle Book store” สาขาเซ็นทรัล นครราชสีมา คอนเซ็ปต์ “Afterschool Community” สาขาเซ็นทรัล พลาซา พระราม 3 คอนเซ็ปต์ “The NExploration space” พื้นที่ความรู้แห่งยุคดิจิทัล 4.0 ของทุกคนในครอบครัว สาขาเซ็นทรัล พลาซา ปิ่นเกล้า คอนเซ็ปต์ ใหม่ “Co-lifestyle Space” พื้นที่แห่งแรงบันดาลใจ สร้างสีสันให้ชีวิต และสาขาเซ็นทรัล พลาซา บางนา คอนเซ็ปต์ “Amazing” และจะปรับโฉมบีทูเอส สาขาเซ็นทรัล พลาซา พระรามเก้า เป็นรูปแบบธิงค์สเปซผสมผสานพื้นที่ ร่วมกับคาเฟ่ ร้านอาหารชั้นนำของไทย และมีบริการอื่นๆ

ทั้งคอมมอนกราวด์ โอเพ่นเฮ้าส์ และทิงค์สเปซ ล้วนเป็นจิ๊กซอว์สำคัญ แต่ยังไม่หมดเท่านี้แน่ เพราะแผนการใหญ่ของกลุ่มเซ็นทรัล คือ การเป็น Center of Life อย่างสมบูรณ์แบบที่สุด

ใส่ความเห็น