วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > Cover Story > “วิชา” ซุ่มเจน 2 ลุยสมรภูมิปีหน้า

“วิชา” ซุ่มเจน 2 ลุยสมรภูมิปีหน้า

ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา วิชา พูลวรลักษณ์ เจ้าของอาณาจักรไลฟ์สไตล์เอ็นเตอร์เทนเมนต์ครบวงจร “เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป” กำลังซุ่มถ่ายทอดวิทยายุทธ์ต่างๆ ให้ 2 หนุ่ม ทายาทรุ่นที่ 2 “วิศรุต-วิชญะ” โดยเฉพาะวิศรุตเริ่มเข้ามาเรียนรู้งานบริหาร ทั้งธุรกิจหลัก “โรงภาพยนตร์” และธุรกิจเกี่ยวเนื่องกลุ่ม Non-Movie ซึ่งเป็นส่วนที่หมายมั่นเร่งขยายอย่างรวดเร็ว เพื่อเสริมจุดขายและจุดแข็งในฐานะผู้นำตลาด ยึดครองส่วนแบ่งมากกว่า 70%

ล่าสุด ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามแผนทั้งหมด วิชาวางกำหนดเวลาเปิดตัว “วิศรุต” ผู้บริหารหนุ่ม ดีกรีปริญญาด้านบริหารธุรกิจจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ประเทศสหรัฐอเมริกา อย่างเป็นทางการภายในสิ้นปีนี้ ก่อนลุยสมรภูมิการแข่งขันเต็มรูปแบบในปี 2562

“คุณวิศรุตยังไม่อยากเปิดตัวในฐานะผู้บริหารเมเจอร์ฯ กับสื่อ เพราะยังเป็นช่วงเรียนรู้งานต่างๆ และออกงานอีเวนต์ต่างๆ ซึ่งเท่าที่พูดคุยกัน คุณวิศรุตจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการประมาณสิ้นปีนี้” แหล่งข่าวใกล้ชิดวิชากล่าว

ขณะเดียวกัน แผนการเปิดตัวทายาทรุ่นที่ 2 ยังต้องเตรียมการด้านการจัดสรรหุ้นต่างๆ เพื่อเพิ่มอำนาจการบริหารอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2560 บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) หรือ MAJOR มีการแจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ว่า วันที่ 7 ธ.ค.2560 ได้ซื้อขายหุ้นในกระดานรายใหญ่ (Big Lot) โดยมีวิศรุต พูลวรลักษณ์ ซึ่งเป็นบุตรชายของวิชา พูลวรลักษณ์ ประธานกรรมการบริหารบริษัทฯ ซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้ว เป็นผู้ซื้อหุ้นจากวิชา พูลวรลักษณ์ บิดา จำนวน 10 ล้านหุ้น

การทำรายการครั้งนั้นส่งผลให้วิชาถือหุ้นเหลือจำนวน 274,840,100 หุ้น หรือ 30.72 % จากเดิม 284,840,100 หุ้น คิดเป็น 31.84% ส่วนวิศรุต พูลวรลักษณ์ ถือหุ้น 10,000,000 หุ้น หรือ 1.12% หลังจากนั้นยังมีการซื้อขายเพิ่มเติมกันเป็นระยะๆ

ปัจจุบัน ข้อมูล ณ วันที่ 30 สิงหาคม ครอบครัวของวิชามีสัดส่วนหุ้น MAJOR รวมทั้งสิ้น 34.86% แบ่งเป็นวิชาซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ลำดับที่ 1 จำนวน 265,040,100 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 29.62%

วิศรุต พูลวรลักษณ์ ลูกชายคนโตในบรรดาทายาท 3 คน เป็นผู้ถือหุ้นลำดับที่ 12 จำนวน 18,532,700 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 2.07% ภารดี พูลวรลักษณ์ ภรรยาวิชา เป็นผู้ถือหุ้นลำดับที่ 14 จำนวน 18,345,536 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 2.05% และวิชญะ พูลวรลักษณ์ ลูกชายคนที่ 2 เป็นผู้ถือหุ้นลำดับที่ 16 จำนวน 10,000,000 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 1.12% ซึ่งวิชญะเองเรียนด้านบริหารธุรกิจและเตรียมเข้ามาเป็นผู้บริหารเครือเมเจอร์ กรุ้ป ภายในปีหน้าเช่นเดียวกัน

แน่นอนว่า การเข้ามาสานแผนทั้งหมดของทายาทเจนเนอเรชั่นที่ 2 ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ทั้งการขยายธุรกิจในประเทศไทยและรุกเจาะตลาดอาเซียนอย่างจริงจัง

หากย้อนกลับไปเมื่อปี 2557 ครบรอบ 2 ทศวรรษของอาณาจักรธุรกิจเมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ วิชาเคยออกมาประกาศวิสัยทัศน์และแผนลงทุนครั้งใหญ่ เพื่อก้าวสู่ทศวรรษที่ 3 โดยตั้งเป้าหมายภายใน 5 ปีข้างหน้าจะขยายสาขาเพิ่มขึ้นอีก 500 โรง แบ่งเป็นสาขาในประเทศไทย 400 โรง และสาขากลุ่มประเทศ CLMV ได้แก่ กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม อีก 100 โรง หรือ ณ สิ้นปี 2020 หรือปี พ.ศ.2563 เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จะมีโรงภาพยนตร์ครบ 1,000 โรง และอีก 10 ปีข้างหน้า จะต้องมีโรงภาพยนตร์เมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ในทุกจังหวัดทั่วประเทศไทย

ครั้งนั้นวิชาย้ำกับสื่อถึงเป้าหมายการสร้างวัฒนธรรมการดูหนังให้เกิดขึ้นกับคนไทยและส่วนสำคัญที่จะสร้างได้ คือการขยายโรงหนังเข้าถึงทุกพื้นที่ โดยเฉพาะตลาดต่างจังหวัด ซึ่งมีศักยภาพมากและมีความต้องการสูง เพราะหากดูสัดส่วนการดูหนังของกลุ่มลูกค้าในกรุงเทพฯ นิยมชมภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด 60-70% แต่ในตลาดต่างจังหวัด กลุ่มผู้ชมกลับสะท้อนความต้องการชัดเจนที่จะดูหนังไทย สัดส่วนมากถึง 70% ซึ่งนั่นทำให้เมเจอร์ต้องเร่งขยายสาขาในต่างจังหวัดและสร้างหนังไทยป้อนตลาดต่างจังหวัด ซึ่งเครือเมเจอร์ฯ มีกลุ่มธุรกิจสื่อภาพยนตร์ โดยเฉพาะ 4 บริษัทหลัก คือ เอ็ม พิคเจอร์ส เอ็นเตอร์เทนเม้นท์, M 39, ทาเลนต์ วัน และทรานส์ฟอเมชั่นฟิล์ม จะเร่งส่งหนังเข้าฉายไม่ต่ำกว่าปีละ 10 เรื่อง

ขณะที่แนวรบต่างประเทศ เมเจอร์กรุ้ปจับมือกับบริษัท แพลตินั่ม ซีนีเพล็กซ์ จำกัด ผู้ประกอบธุรกิจโรงภาพยนตร์ในกัมพูชาและผู้จัดจำหน่ายภาพยนตร์ในกลุ่มอาเซียน ตั้งบริษัทร่วมทุนเพื่อดำเนินธุรกิจโรงภาพยนตร์เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ ในกัมพูชา นำร่องเปิดเมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ ในโครงการอิออนมอลล์ของอิออน กรุ๊ป ประเทศญี่ปุ่น ใจกลางกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ซึ่งถือเป็นโรงหนังสาขาต่างประเทศสาขาแรกของเมเจอร์ ใช้เงินลงทุนรวม 150 ล้านบาท ประกอบด้วยโรงภาพยนตร์ 7 โรง จำนวน 1,560 ที่นั่ง และโบว์ลิ่งแบรนด์ “บลูโอริธึม แอนด์ โบว์ล” 13 เลน พื้นที่รวม 6,000 ตารางเมตร

วิชายังตั้งเป้าตามแผน 5 ปี เร่งขยายโรงหนังในจังหวัดอื่นๆ ของกัมพูชาเพิ่มขึ้นอีก 40-50 โรง และในระยะยาวจะขยายครบ 100 โรง ยึดส่วนแบ่งมากกว่า 50% ของมูลค่าตลาดหนังของกัมพูชา โดยตั้งเรือธงต้องการเป็นผู้นำธุรกิจโรงหนังในต่างประเทศ เฟสแรกพุ่งเป้าเจาะกลุ่ม CLMV ได้แก่ ประเทศกัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม ก่อนขยายแนวรบสู่เอเชีย โดยเฉพาะตลาดยักษ์ใหญ่อย่าง “จีน”

ถือว่ายุทธศาสตร์ต่างๆ ของวิชาดำเนินตามเป้าหมาย แม้เจอภาวะเศรษฐกิจทรงๆ ทรุดๆ บ้าง สงครามการแข่งขันและโจทย์การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่

สำหรับปี 2561 ซึ่งกำลังเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายนั้น เมเจอร์ฯ คาดการณ์แนวโน้มผลประกอบการทั้งปีจะมีรายได้เติบโต 10% ตามเป้าหมาย เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่มีรายได้ 9,937 ล้านบาท เนื่องจากช่วงที่เหลือของปีจะมีภาพยนตร์ทั้งไทยและภาพยนตร์ฟอร์มใหญ่ฮอลลีวู้ดเข้าฉายจำนวน รวมทั้งการขยายโรงภาพยนตร์อีก 100 โรงเป็นไปตามแผนทั้งหมด

ปัจจุบัน บริษัทมีสาขารวมทั้งสิ้น 151 แห่ง จำนวน 747 โรง 170,280 ที่นั่ง แบ่งเป็นสาขาในไทย 145 สาขา รวม 714 โรง และในต่างประเทศ 6 สาขา รวม 33 โรง โดยมีการเปิดตัวโรงหนังแนวใหม่ เพื่อสร้างฐานลูกค้าให้แข็งแกร่งมากขึ้น ทั้งโรงภาพยนตร์เด็กและล่าสุด คือ โรงภาพยนตร์ Esport แห่งแรกในโลกที่เอสพลานาด ซีนีเพล็กซ์ รัชดา ภายใต้ชื่อ “Dell Gaming Esports Cinema” เพื่อรองรับกระแสเกมเมอร์ที่กำลังได้รับความนิยมอย่างมาก

ทั้งนี้ การเปิดตัวโรงหนังอีสปอร์ตถือเป็นโปรเจกต์นำร่องชิ้นสำคัญที่เมเจอร์ฯ ต้องการสร้างรายได้กลุ่ม Non-Movie เพราะเป็นบริการแบบมิกซ์ยูส ทั้งการจัดฉายภาพยนตร์และจัดกิจกรรมด้านอีสปอร์ตรองรับการแข่งขัน Tournament แบบ offline ทุกรูปแบบ การคัดเลือกนักกีฬาชาวไทยทั้งระดับประเทศและระดับโลก การถ่ายทอดสดสัญญาณการแข่งขันระดับโลก หรือการจัดงานคอมมูนิตี้ Official Thailand Fanclub จากเกมต่างๆ เช่น เกม DoTA, Overwatch, PubG, FIFA หรือการจัดงานเปิดตัวสินค้า Gaming

เบื้องต้นคาดว่า การเปิดโรงภาพยนตร์ Esports จะทำให้สัดส่วนรายได้ของ Non-movie ขยับเพิ่มเป็น 2% ของรายได้รวม จากปัจจุบันอยู่ที่ 1% ของรายได้รวม พร้อมๆ กับการเน้นกิจกรรมอื่นๆ ที่ลูกค้าเข้ามาใช้ในโรงภาพยนตร์อย่างต่อเนื่อง เช่น การจัดแสดงคอนเสิร์ต การสตรีมมิ่งสดแสดงคอนเสิร์ต จัดโชว์บัลเลต์ และงานอีเวนต์ต่างๆ ซึ่งบริษัทพยายามสร้างรายได้จากกิจกรรมต่างๆ มาแล้ว 3-4 ปี เฉลี่ยมีอีเวนต์จัดในโรงภาพยนตร์ของเมเจอร์ฯ ราว 30 งานต่อปี

อย่างไรก็ตาม รายได้หลักยังมาจากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการฉายภาพยนตร์ (Movie) ที่มีสัดส่วน 99% ของรายได้รวม ซึ่งไตรมาส 4 จะเป็นช่วงที่มีภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดระดับบล็อกบัสเตอร์เข้าฉาย เช่น Venom, Fantastic Beast 2, Aquaman, Bumblebee และภาพยนตร์ไทย เช่น นาคี และ Homestay

ส่วนปี 2562 เมเจอร์กรุ้ปวางแผนผุดสาขาทั้งในไทยและต่างประเทศ ทั้งโรงหนัง คาราโอเกะ โบว์ลิ่ง และไอซ์สเกต จากปัจจุบันมีเมืองหนัง 151 แห่ง 747 โรง โบว์ลิ่ง 15 สาขา คาราโอเกะ 13 สาขา และไอซ์สเกต 5 สาขา รวมถึงพัฒนาบริการใหม่ๆ โดยในต่างประเทศเตรียมเปิดสาขาใหม่ที่เวียงจันทน์ 1 สาขา และกัมพูชาอีก 1 สาขา

ที่สำคัญ ปีหน้าจะเป็นปีที่พิสูจน์ฝืมือทายาทเจน 2

จะเป็นลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น ฉายแวว “นักธุรกิจมือฉมัง” หรือไม่

ใส่ความเห็น