วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Cover Story > Disruptive Economy Disruptive Society

Disruptive Economy Disruptive Society

วิบากกรรมที่เกิดขึ้นกับ Elon Musk ในห้วงเวลาปัจจุบัน นอกจากจะได้รับการประเมินว่าเป็นผลมาจากการใช้สื่อสังคมออนไลน์ทวีตข้อความสุ่มเสี่ยง ที่ทำให้สำนักงานคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐอเมริกา (Securities and Exchange Commission: SEC) ยื่นฟ้องดำเนินคดีกับเขาแล้ว กรณีที่เกิดขึ้นยังสั่นคลอนความเป็นไปของทั้ง Tesla และ SpaceX ที่มี Elon Musk เป็นฉากเงาและจักรกลสำคัญในการขับเคลื่อนอีกด้วย

เรื่องราวความเป็นมาและเป็นไปของ Elon Musk ซึ่งเพิ่งผ่านวันครบรอบอายุปีที่ 47 ไปเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา (เกิด 28 มิถุนายน 1971) นับว่าได้สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับสังคมธุรกิจของอเมริกาและของโลกไม่น้อยเลย โดยในวัย 24 ปีเขาสร้างธุรกิจ Zip2 บริษัทพัฒนาเว็บซอฟต์แวร์ ร่วมกับน้องชายของเขาในปี 1995 จากเงินลงทุนของกลุ่มนักลงทุนอิสระ (Angel Investors)

Zip2 พัฒนาและทำตลาดด้วย “แผนที่แนะนำเมือง” บนอินเทอร์เน็ต ให้กับอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ภายใต้สัญญาที่มีกับทั้ง The New York Times และ Chicago Tribune ก่อนที่ Compaq จะเข้าซื้อกิจการของ Zip2 ด้วยเงินสดเป็นมูลค่ารวมถึง 307 เหรียญสหรัฐ และด้วยตราสารสิทธิในการซื้อ-ขายหุ้น (stock option) มูลค่ารวมอีก 34 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งการขาย Zip2 ให้กับ Compaq ทำให้ Elon Musk ได้รับส่วนแบ่งเป็นรายได้รวม 22 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 1999 จากส่วนแบ่งของสัดส่วนหุ้นที่เขามีอยู่ร้อยละ 7

จังหวะก้าวของ Elon Musk พัฒนาไปอีกขั้นเมื่อเขานำเงิน 10 ล้านเหรียญสหรัฐที่ได้จากการขาย Zip2 ไปลงทุนใน X.com ในปี 1999 ก่อนที่จะนำ X.com เข้าผนวกกับ Confinity ซึ่งมีธุรกิจให้บริการโอนเงินในนาม PayPal ในปี 2000 โดยบริษัทที่ผนวกรวมกันใหม่นี้มุ่งจุดเน้นไปที่การพัฒนาธุรกิจไปที่ PayPal และเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น PayPal ในปีต่อมา ก่อนที่ PayPal จะถูก eBay เข้าครอบกิจการด้วยดีลที่มีมูลค่าถึง 1.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่ง Elon Musk ในฐานะผู้ถือหุ้นรายใหญ่ใน PayPal ในสัดส่วนร้อยละ 11.7 ได้รับเงินส่วนแบ่งจากการขาย PayPal ครั้งนี้รวม 165 ล้านเหรียญสหรัฐ

เรียกได้ว่า Elon Musk เป็นเศรษฐีระดับร้อยล้านเหรียญสหรัฐด้วยวัยเพียง 30 ปีเท่านั้น และดูจะเป็นประหนึ่งต้นแบบหรือตัวแทนความฝันสำหรับอเมริกันชนยุคใหม่ที่เติบโตขึ้นมาในห้วงยามที่กระแสธารของเทคโนโลยีกำลังอยู่ในกระแสสูง

จุดหักเหครั้งสำคัญที่ทำให้ชื่อของ Elon Musk อยู่กลางความสนใจของสาธารณชนอยู่ที่แนวความคิดของเขาที่จะสร้างอาณานิคมบนดาวอังคาร (Mars Oasis) โดยเขาเดินทางไปกรุงมอสโก ด้วยความหวังที่จะหาซื้อขีปนาวุธนำวิถีระหว่างทวีป (Intercontinental ballistic missiles: ICBMs) เพื่อเติมเต็มความมุ่งหมายว่าด้วยการเดินทางสู่อวกาศของเขา

แต่ด้วยสายตาของนักลงทุน เมื่อเขาได้รับข้อเสนอขายจรวดนำวิถีในราคา 8 ล้านเหรียญสหรัฐ เขากลับประเมินว่าราคาดังกล่าวสูงเกินไป และเริ่มคำนวณว่าวัตถุดิบในการสร้างจรวดสู่อวกาศคิดเป็นเพียงร้อยละ 3 ของราคาที่เขาได้รับการเสนอขายให้ ซึ่งเมื่อรวมกับองค์ประกอบอื่นๆ ทั้งในเชิงวิศวกรรม และเทคโนโลยีที่จะประกอบส่วน เขาอาจสร้างบริษัทที่สามารถลดต้นทุนการผลิตจรวดลงและมีโอกาสที่จะสร้างผลกำไรจากส่วนต่างมากถึงร้อยละ 70 เลยทีเดียว

Elon Musk นำเงิน 100 ล้านเหรียญสหรัฐที่ได้มาจากการขายหุ้น PayPal มาเป็นทุนตั้งต้นของ SpaceX ในปี 2002 ภายใต้สถานะของการเป็นบริษัทผู้ผลิตอากาศยานเอกชน ด้วยความมุ่งหมายที่จะสร้างอากาศยานที่ช่วยลดทอนค่าใช้จ่ายในการเดินทางสู่อวกาศ ซึ่งกรณีดังกล่าวจุดประกายให้การสำรวจอวกาศกลับมาตื่นตัวอีกครั้ง

ความน่าสนใจและจังหวะก้าวของ Elon Musk ที่ดำเนินไปอย่างคู่ขนานกับ SpaceX อยู่ที่การเข้าไปมีส่วนร่วมใน Tesla ด้วยการเป็นผู้ให้ทุนสนับสนุนรายใหญ่ในฐานะ venture capital แก่ Tesla ในเดือนกุมภาพันธ์ 2004 และได้เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการบริษัทในตำแหน่งประธาน และด้วยเงินลงทุนส่วนตัวรวม 7.5 ล้านเหรียญสหรัฐที่ Elon Musk เติมเข้าไปใน Tesla ทำให้เขากลายเป็นผู้ถือหุ้นและนักลงทุนที่ครอบงำทิศทางของ Tesla ไปโดยปริยาย

การเข้ามาเกี่ยวข้องกับทั้งอุตสาหกรรมอากาศยานและอวกาศ ซึ่งดูจะเป็นประเด็นอ่อนไหวต่อความมั่นคงของรัฐ หรือการเข้าสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ในสถานะที่พร้อมจะเป็นจุดเปลี่ยนผ่านที่พร้อมจะเปลี่ยนภูมิทัศน์ของอุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมน้ำมัน ซึ่งเป็นประหนึ่งหัวใจหลักของกลุ่มผลประโยชน์ใหญ่ในแวดวงธุรกิจอเมริกัน ทำให้สถานะของ Elon Musk ถูกจับตามองไม่น้อย

ขณะเดียวกันท่วงทำนองสุ่มเสี่ยงด้วยความเชื่อมั่นในตนเอง ทำให้สถานะของ Elon Musk ไปไกลกว่าการเป็นนักธุรกิจชั้นนำที่กำลังเติบโตด้วยทัศนะและแนวความคิดที่แปลกแตกต่างไปจากชนชั้นนำทางธุรกิจแบบเดิมไปมากทีเดียว

ในช่วงปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา Elon Musk ถูกฟ้องร้องกล่าวโทษโดยคณะกรรมการหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐอเมริกา (SEC) โดยเอกสารบรรยายคำฟ้องของ SEC ที่กล่าวโทษ Elon Musk ระบุว่า Musk ทวีตข้อความว่ามีแหล่งเงินทุน (fund secured) สำหรับการซื้อหุ้นของ Tesla คืน ก่อนที่จะนำบริษัทออกจากตลาด โดยอ้างอิงว่ากองทุนดังกล่าวมาจากซาอุดีอาระเบีย

แต่จากการตรวจสอบพบว่าไม่ได้มีการหารือที่จะยืนยันรายละเอียดและข้อตกลงสำคัญที่มากเพียงพอ ทั้งในมิติของราคาที่จะซื้อขาย แหล่งเงินทุนที่ชัดเจน ขณะที่การให้ข้อมูลของ Musk ผ่านทวีตเตอร์ ยังเกิดขึ้นในช่วงระหว่างของการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ และเป็นข้อมูลที่มีผลต่อราคาหุ้น ซึ่งต้องแจ้งผ่านระบบข้อมูลข่าวสารของ SEC ด้วย

คำสั่งฟ้องของ SEC ดังกล่าว เรียกร้องให้ Elon Musk ต้องยุติการทำงานในฐานะผู้บริหารและกรรมการบอร์ดของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ทั้งหมด ก่อนที่ Elon Musk จะออกแถลงการณ์ตอบโต้คำสั่งฟ้องดังกล่าวว่า เป็นการตัดสินที่ไม่ยุติธรรม และทำให้เขาเสียใจและผิดหวังมาก เพราะการทวีตข้อความดังกล่าวเป็นการปกป้องผลประโยชน์และเปิดเผยข้อมูลให้มากที่สุดสำหรับนักลงทุน ซึ่งเป็นสิ่งที่เขายึดถือมาโดยตลอด

ก่อนที่ในเวลาต่อมา Tesla จะบรรลุข้อตกลงไกล่เกลี่ยคดีความ ด้วยการจ่ายค่าปรับเป็นจำนวน 20 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่สำหรับ Elon Musk นอกจากจะต้องจ่ายค่าปรับเป็นจำนวน 20 ล้านเหรียญสหรัฐแล้ว เขายังต้องลงจากตำแหน่งประธานบริษัท Tesla ภายใน 45 วัน แต่ยังคงดำรงตำแหน่ง CEO ของบริษัทแห่งนี้ต่อไป
เหตุที่เกิดขึ้นกับ Elon Musk ในอีกด้านหนึ่งทำให้หวนระลึกถึงวิบากกรรมความเป็นไปของ Horie Takafumi (เกิด 29 ตุลาคม 1972) อดีตนักธุรกิจดาวรุ่งของญี่ปุ่นที่ดำเนินกิจกรรมในช่วงเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยี และเคยสร้างปรากฏการณ์ตื่นตาในนาม Livedoor ก่อนที่จะถูกผลักให้ออกจากแวดวงธุรกิจอย่างที่ไม่มีโอกาสหวนกลับคืนมาไปก่อนวัยอันควร เมื่อปี 2006

จุดเริ่มต้นแห่งจุดจบของอาณาจักรธุรกิจที่มีอัตราการเติบโตที่น่าตื่นตาตื่นใจในนาม Livedoor เริ่มขึ้นเมื่อ Horie Takafumi ในวัย 23 ปี ยุติการเรียนในระบบและมุ่งหน้าสู่หนทางธุรกิจในโลก cyber ที่เปิดกว้างในยุคสมัยที่กระแส dot com กำลังขยายตัวในปี 1995 เพื่อรับเป็นที่ปรึกษาและพัฒนาเว็บไซต์ ภายใต้ทุนจดทะเบียนเริ่มต้นเพียง 6 ล้านเยนและมีพนักงานเพียง 3 คน

กิจการและธุรกิจของ Horie Takafumi ดำเนินและเติบโตอย่างช้าๆ ก่อนที่บริษัทเกิดใหม่ของเขาจะมีโอกาสเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์เมื่อเดือนเมษายน 2000 ซึ่ง Horie ได้อาศัยช่องทางและโอกาสที่เปิดกว้างดังกล่าวมาต่อเติมธุรกิจของเขาได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างอัตราการเติบโตของบริษัท ทั้งโดยการแลกเปลี่ยนหุ้นระหว่างกัน หรือด้วยการควบรวมและเข้าครอบงำกิจการ (mergers and acquisitions) หลากหลาย

การเติบโตอย่างก้าวกระโดดและรวดเร็วของ Horie Takafumi และ Livedoor ที่เกิดขึ้นจากผลของกระแส dot com รวมถึงช่องว่างที่เกิดขึ้นจากเทคโนโลยีและเครื่องมือทางการเงินใหม่ๆ แม้จะทำให้ Horie เป็นประหนึ่งตัวอย่างความสำเร็จและเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนหนุ่มสาวจำนวนไม่น้อย แต่สำหรับแวดวงสังคมธุรกิจของญี่ปุ่น Horie Takafumi กลับถูกวิพากษ์และประเมินในฐานะ “คนนอก” ที่กำลังท้าทาย status quo อย่างไม่อาจเลี่ยง

ในปี 2004 ชื่อของ Horie Takafumi และ livedoor ปรากฏอยู่ในความสนใจของสื่อสารมวลชนและผู้คนในวงสังคมทุกระดับอย่างกว้างขวางอีกครั้ง เมื่อ Horie ประกาศที่จะเข้าซื้อสิทธิในแฟรนไชส์ทีมเบสบอลอาชีพ Osaka Kintetsu Buffaloes ที่กำลังประสบปัญหาทางการเงิน ซึ่งกรณีดังกล่าวนับเป็นการประกาศตัวอย่างชัดเจนที่จะท้าทายกับบรรทัดฐาน (norm) ของสังคมธุรกิจญี่ปุ่น เพราะการเป็นเจ้าของแฟรนไชส์ทีมเบสบอลในญี่ปุ่นถือเป็นกิจกรรมที่ผูกพันอยู่เฉพาะแวดวงของ elite circle ในสังคมธุรกิจญี่ปุ่นเท่านั้น

ความเคลื่อนไหวของ Horie ยังก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์ในสังคมอย่างกว้างขวาง เมื่อเขาประกาศแผนที่จะดำเนินธุรกิจอวกาศส่วนบุคคล (private space business) ซึ่งนอกจากจะประกาศว่าจะพัฒนายานอวกาศจากพื้นฐานของยานอวกาศ TKS ของรัสเซียแล้ว

กรณีดังกล่าวยังเกี่ยวเนื่องกับการระบุว่าเขาจะลงทุนในโครงการพัฒนาอวกาศ Japan Space Dream-A Takafumi Horie Project ที่มีเป้าหมายจะส่งจรวดที่มีมนุษย์ร่วมเดินทางท่องอวกาศภายใน 5 ปี ซึ่งถือเป็นคำประกาศที่ท้าทายต่อทั้งภาคธุรกิจอุตสาหกรรมเอกชนและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ท่ามกลางความสงสัยว่า Horie จะนำเงินจากแหล่งใดมาลงทุนในโครงการมูลค่ามหาศาลนี้

เส้นทางชีวิตบนสนามธุรกิจของ Horie มาถึงจุดสิ้นสุดเมื่อพนักงานสอบสวนได้กล่าวหา Horie ทั้งในข้อหาฟอกเงิน และการกระทำผิดพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ ด้วยการสร้างราคาและการแต่งตัวเลขทางบัญชีในงบการเงินของ บริษัทในเครือ ซึ่งข้อกล่าวหาดังกล่าวมิได้ก่อให้เกิดผลกระทบกับราคาหุ้นของ Livedoor ที่ตกต่ำลงอย่างรวดเร็วมากกว่า 14% ในการซื้อขายวันเดียวเท่านั้น แต่นัยสำคัญของกรณีดังกล่าว กลับอยู่ที่การแสดงออกซึ่งความพยายามที่จะรักษาบรรทัดฐานและการลงโทษ “ผู้ท้าทาย ที่น่ารังเกียจ” ให้ต้องพ้นออกจากวงการธุรกิจ

บทสรุปที่แตกต่างกันของ Horie Takafumi กับ Elon Musk ในวันนี้ อาจให้ภาพที่แตกต่างกัน เพราะเมื่อ 12 ปีที่แล้ว สังคมญี่ปุ่นที่ดำเนินอยู่ท่ามกลางแนวคิดอนุรักษนิยม ต้องจัดการกับ Horie Takafumi ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งการจัดระเบียบสังคม

หากแต่สำหรับ Elon Musk แล้ว บางทีเขาอาจเป็นสินทรัพย์สำคัญสำหรับทั้งผู้ร่วมลงทุน ผู้ถือหุ้น และคณะกรรมการบริษัท Tesla มากกว่าแบรนด์บริษัทรถยนต์ที่พวกเขามีอยู่ก็ได้ และนั่นอาจเป็นเหตุให้ Elon Musk ยังคงรักษาบทบาทในสังคมธุรกิจสหรัฐฯ ได้ในระดับหนึ่ง

แต่นี่อาจเป็นสัญญาณเตือนให้ Elon Musk ในฐานะที่เป็นนักธุรกิจในยุคสมัยแห่ง disruptive economy ต้องระแวดระวังในการกำหนดบทบาทและท่วงทำนองสำหรับการอยู่ในสังคมที่ disruptive society นี้

ใส่ความเห็น