วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Cover Story > ผู้อพยพ: ความท้าทายในโลกปัจจุบัน

ผู้อพยพ: ความท้าทายในโลกปัจจุบัน

ความเป็นไปของคลื่นผู้อพยพในภูมิภาคต่างๆ ของโลกกำลังเป็นภาพสะท้อนของวิกฤตการณ์ครั้งใหญ่ที่รอวันปะทุแตกไม่แตกต่างจากการเคลื่อนตัวของธารแมกมาใต้ปล่องภูเขาไฟ ที่นอกจากจะส่งผลให้เกิดการสั่นสะเทือนและเคลื่อนไหวของเปลือกโลกแล้ว ยังพร้อมจะระเบิดทำลายและส่งผลต่อภูมิทัศน์โดยรอบอีกด้วย

มูลเหตุของการอพยพลี้ภัยหนีถิ่นฐานของผู้คนไม่ได้เกิดขึ้นจากผลของสภาพสงครามความขัดแย้งแต่เพียงลำพังเท่านั้น หากยังเกิดขึ้นจากผลของความล่มสลายทางเศรษฐกิจ ที่นำไปสู่ความแร้นแค้นทุกข์ยากลำเค็ญ ซึ่งกรณีเช่นนี้การอพยพทิ้งถิ่นของชาวเวเนซุเอลา เข้าสู่พรมแดนประเทศเพื่อนบ้าน ดูจะเป็นประเด็นที่ทั่วโลกกำลังจับตามองอย่างสนใจ และเร่งหาแนวทางในการแก้ไขอย่างกังวล

วิกฤตเศรษฐกิจของเวเนซุเอลา ในด้านหนึ่งอาจเป็นเหมือนสิ่งที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ เพราะเวเนซุเอลาเป็นประเทศที่มีปริมาณน้ำมันสำรองมากเป็นอันดับหนึ่งของโลก เรียกได้ว่า เวเนซุเอลามีทรัพยากรที่มีคุณค่ามหาศาลของโลกอยู่ในมือ โดยทรัพยากรที่ว่านี้ควรจะนำพารายได้มหาศาลให้กับประเทศ เมื่อรายได้ของประเทศมากกว่าร้อยละ 95 มาจากการส่งออกน้ำมันนี้

หากแต่ข้อเท็จจริงทางเศรษฐกิจไม่ได้ดำเนินไปในทิศทางที่เอื้อประโยชน์ให้กับเวเนซุเอลามากนัก เมื่อราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ความต้องการน้ำมันในตลาดโลกลดลง ซึ่งทำให้ปริมาณการผลิตน้ำมันปรับตัวลดลงมาสู่ระดับ 1.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากเดิมที่ผลิตได้ในระดับ 3 ล้านบาร์เรลต่อวันในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา และนั่นเป็นเหตุให้รัฐบาลเวเนซุเอลาขาดรายได้จากต่างประเทศไปโดยปริยาย

ความล่มสลายทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นของเวเนซุเอลาในห้วงเวลาปัจจุบัน ถูกระบุว่าเป็นผลพวงที่สืบเนื่องมาจากนโยบายประชานิยม ที่เน้นช่วยเหลือคนจน ไม่ว่าจะเป็นการจ่ายเงินอุดหนุนราคาสินค้าอุปโภคบริโภค การอุดหนุนทางการศึกษาและค่ารักษาพยาบาล ซึ่งเป็นแนวนโยบายของ ฮูโก ชาเวซ ตั้งแต่เมื่อครั้งเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 1999 และต่อเนื่องมาจนถึงวาระสุดท้ายเมื่อ ฮูโก ชาเวซ ถึงแก่กรรมในปี 2013

เมื่อ นิโกลัส มาดูโร สืบทอดอำนาจขึ้นเป็นประธานาธิบดี เขาก็ยังดำเนินนโยบายตามแนวทางเดิม ซึ่งยิ่งทำให้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของเวเนซุเอลาทรุดต่ำลงต่อเนื่อง ประหนึ่งระเบิดเวลาที่ทำให้เวเนซุเอลากลายเป็นประเทศที่ระบบเศรษฐกิจพังทลาย อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงจนเงินโบลิวาร์แทบไม่เหลือค่าขณะที่ผู้คนในประเทศอดอยากขาดแคลนทั้งอาหารและยารักษาโรค จนต้องอพยพออกจากประเทศ เพื่อหนีความอดอยากแร้นแค้น

สหประชาชาติประมาณการว่านับตั้งแต่ปี 2014 มีชาวเวเนซุเอลาอพยพนอกประเทศมากกว่า 2 ล้านคน และแสดงความกังวลใจว่าคลื่นผู้อพยพนับล้านจากเวเนซุเอลา ที่เดินทางหนีความยากจนไปยังประเทศเพื่อนบ้านกำลังเข้าสู่ภาวะวิกฤตแบบเดียวกับที่ผู้อพยพจากตะวันออกกลางและแอฟริกาหลั่งไหลเข้าสู่ทวีปยุโรปด้วยการเดินทางผ่านทะเลเมดิเตอร์เรเนียนในปี 2015

ขณะที่สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ และองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่น ออกแถลงการณ์ร่วมกันขอความร่วมมือประเทศในอเมริกาใต้ผ่อนคลายความเข้มงวดของมาตรการควบคุมพรมแดนให้แก่ชาวเวเนซุเอลา หลังจากพบว่ามีชาวเวเนซุเอลาเดินทางเข้าสู่ประเทศใกล้เคียงโดยเฉพาะเอกวาดอร์ เปรู โคลอมเบีย และบราซิล อยู่ที่เฉลี่ยวันละ 4,000 คน แต่รัฐบาลของกลุ่มประเทศเหล่านี้ได้สั่งเพิ่มความเข้มงวดของมาตรการตรวจคนเข้าเมืองเพื่อสกัดคลื่นผู้อพยพจากเวเนซุเอลา

ภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้นจนกลายเป็น “อภิมหาเงินเฟ้อ: Hyperinflation” ของเวเนซุเอลา ซึ่งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) คาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อของเวเนซุเอลาจะสูงถึง 1 ล้านเปอร์เซ็นต์ในปีนี้ ทำให้รัฐบาลของ นิโกลัส มาดูโร ตัดสินใจเปลี่ยนสกุลเงินใหม่ เป็น Sovereign Bolívar ซึ่งก็คือการลดค่าเงินลงจากเดิม 96% ทำให้เมื่อเทียบกับสกุลเงินเดิม 100,000 โบลิวาร์ จะมีค่าเท่ากับ 1 Sovereign Bolívar

นอกจากนี้ รัฐบาลเวเนซุเอลายังนำสกุลเงิน Sovereign Bolívar ใหม่นี้ไปพ่วงติดกับ เปโตร (Petro) ซึ่งเป็นสกุลเงินคริปโตเคอเรนซีของเวเนซุเอลาที่อ้างอิงกับราคาน้ำมันในประเทศ ทำให้ 1 เปโตร มีค่า 3,600 Sovereign Bolívar หรือ 60 เหรียญดอลลาร์สหรัฐอีกด้วย

การแก้ปัญหาของรัฐบาลเวเนซุเอลาด้วยวิธีเช่นนี้ ได้รับการประเมินจากนักเศรษฐศาสตร์ทั่วโลกว่า “ไม่ใช่ทางออก” เพราะอัตราแลกเปลี่ยนตามวิธีคิดของรัฐบาล ย่อมไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่จะสะท้อนการค้าขายแลกเปลี่ยนที่แท้จริง โดยราคาค่าเงินจะถูกกดให้ถูกลงถึง 10 เท่าตัว ส่วนมาตรการปรับฐานค่าแรงขั้นต่ำเพิ่ม 3,000% เป็น 1,800 Sovereign Bolívar ต่อเดือน หรือ 30 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ จะทำให้คนตกงานมากขึ้นเพราะนายจ้างไม่มีเงินจ้างแรงงาน ซึ่งอาจทำให้เป็นการซ้ำเติมปัญหาประเทศมากขึ้นกว่าเดิม

แม้สภาพเศรษฐกิจที่เลวร้าย จะทำให้ชาวเวเนซุเอลาพากันลี้ภัย และหวังจะสร้างชีวิตใหม่ในต่างแดนในประเทศเพื่อนบ้าน แต่สุดท้ายชาวเวเนซุเอลากว่า 300 คนในกรุงลิมา ประเทศเปรู ก็ทนความลำบากในต่างแดนไม่ไหว เพราะไม่สามารถหางานทำเพื่อหารายได้เลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวได้ และต่างมายืนเข้าคิวรอจองเที่ยวบินที่จะส่งมารับกลับประเทศ หลังจากทราบข่าวว่า นิโกลัส มาดูโร ประธานาธิบดีเวเนซุเอลา พร้อมส่งเที่ยวบินมารับผู้ลี้ภัยในต่างแดนกลับโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

ท่ามกลางความเป็นไปที่เกิดขึ้นจากคลื่นผู้อพยพชาวเวเนซุเอลาซึ่งกำลังสั่นคลอนประเทศเพื่อนบ้านของเวเนซุเอลาในละตินอเมริกา และทำให้ชาติในละติน 12 ชาติ นัดประชุมเพื่อร่วมหาทางออกเกี่ยวกับผู้อพยพลี้ภัยทางเศรษฐกิจ ซึ่งยังคงหลั่งไหลเข้าสู่ประเทศเพื่อนบ้านตลอดเวลานี้ ในอีกฟากฝั่งของโลกที่ทวีปยุโรป เหล่าผู้นำของอียู ก็กำลังหาหนทางในการบริหารจัดการกับคลื่นผู้อพยพจากทั้งตะวันออกกลางและแอฟริกาที่ถาโถมเข้าสู่ดินแดนยุโรปอย่างขะมักเขม้น

ยุโรปเผชิญกับวิกฤตคลื่นผู้อพยพครั้งใหญ่มาตั้งแต่ปี 2015 โดยมีผู้อพยพจากตะวันออกกลางและแอฟริกาลักลอบเข้าเมืองมากถึงกว่า 1 ล้านคน ซึ่งแม้ในปัจจุบันตัวเลขการอพยพเข้าสู่ยุโรปจะลดต่ำลงไปมากถึงกว่าร้อยละ 96 เมื่อเทียบกับช่วงวิกฤตสูงสุด แต่นั่นก็ไม่อาจทำให้อียูและประเทศในยุโรปสามารถนิ่งนอนใจว่าการอพยพระลอกใหม่จะไม่เกิดขึ้น

ความอ่อนไหวเปราะบางของประเด็นปัญหาว่าด้วยผู้อพยพในยุโรปไม่ได้เกิดขึ้นอย่างโดดเดี่ยว หากแต่ยังเกี่ยวเนื่องกับภูมิทัศน์ทางการเมืองและการบริหารจัดการทรัพยากรสำหรับกลุ่มประชากรที่เป็นฐานเสียงสนับสนุนการเลือกตั้ง และต่อเนื่องสัมพันธ์ไปสู่บริบทของการเมืองระหว่างประเทศอีกด้วย

ผู้อพยพลี้ภัยที่เกิดขึ้นจากผลของสงครามความขัดแย้งก็ดี หรือจากการดิ้นรนเพื่อสร้างชีวิตใหม่หลังจากที่ต้องเผชิญภาวะเศรษฐกิจที่แร้นแค้นก็ดี ดูจะกลายเป็นประเด็นที่ท้าทายต่อการบริหารจัดการของนานาประเทศไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน และพร้อมที่จะทวีความหนักหน่วงรุนแรงต่อสภาพเศรษฐกิจและสังคมของประเทศผู้รับมากขึ้นทุกขณะ

หากจะมีการเคลื่อนย้ายผู้คนที่อาจทำให้ประเทศผู้รับจะได้รู้สึกถึงประโยชน์อยู่บ้างก็คงเป็นการเคลื่อนย้ายผู้คนชาวจีนในนามนักท่องเที่ยวที่พร้อมจะเบียดแทรกกลายเป็นกลุ่มลูกค้ากลุ่มใหม่เข้าไปสู่ในทุกตลาด และพร้อมที่จะรังสรรค์แสวงประโยชน์ทางการค้าการลงทุนไปทั่วทุกภูมิภาค

บางทีคลื่นผู้อพยพชาวจีนที่กำลังหลั่งไหลเข้ามาอาจกลายเป็นผู้สร้างตำนาน จีนโพ้นทะเล ยุคใหม่ ที่พร้อมจะปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์เศรษฐกิจสังคมโลกในอนาคตไม่ช้า

ใส่ความเห็น