วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Cover Story > EEC ฝันที่ไกล แต่อาจไปไม่ถึง?

EEC ฝันที่ไกล แต่อาจไปไม่ถึง?

แม้ว่าสถานะของโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ Eastern Economic Corridor: EEC จะเป็นประหนึ่งโครงการธงนำในการผลักดันเศรษฐกิจของรัฐบาล คสช. ด้วยหวังว่าโครงการดังกล่าวจะช่วยดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศให้หลั่งไหลเข้ามาสร้างงานสร้างเงินให้กับพื้นที่ 3 จังหวัด ทั้งฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ก่อนที่ผลของการพัฒนาจะแผ่ซ่านไปสู่กลไกและองคาพยพอื่นๆ ให้ได้ขับเคลื่อนอีกครั้ง

หากประเมินในมิติที่ว่านี้ โครงการ EEC ก็คงมีสถานะไม่ต่างจากโอสถทิพย์ ที่รัฐบาล คสช. หวังว่าจะช่วยเยียวยาและบำรุงกำลังให้เศรษฐกิจไทยได้กลับฟื้นขึ้นมาลุกยืนอีกครั้ง หลังจากสูญเสียโอกาสไปมากมายทั้งจากวิกฤตการเมือง และความด้อยประสิทธิภาพในการบริหารงานของกลไกรัฐ

ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจก็คือ โครงการ EEC ที่รัฐไทยกำลังโหมประโคมในฐานะที่เป็นเครื่องมือสร้างความเติบโต (growth engine) ทางเศรษฐกิจครั้งใหม่นี้ ในด้านหนึ่งเป็นเพียงการต่อยอดและส่วนขยายของโครงการ eastern seaboard ที่เคยหนุนนำพัฒนาการทางเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของไทยเมื่อครั้งอดีต จนเดินทางมาสู่ขีดจำกัดของศักยภาพที่มีจนทำให้ต้องขยายพื้นที่โดยอาศัยโครงสร้างพื้นฐานเดิมที่มีเป็นการย่นย่อระยะเวลา

อย่างไรก็ดี ความเป็นไปของการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกและการลงทุนใน EEC ได้ก่อให้เกิดความกังวลและความห่วงใยต่อทิศทางการพัฒนาในอนาคตของไทยไม่น้อยเลย โดยเฉพาะประเด็นว่าด้วยการดึงดูดการลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติและกลุ่มทุนในประเทศ โดยละเลยการกำหนดยุทธศาสตร์ที่จะสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อการขับเคลื่อนประเทศในระยะยาวบนฐานการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมของไทยเอง

รัฐบาลไทยพยายามผลักดันกลุ่มอุตสาหกรรม New S-curve ด้วยหวังว่าจะเป็นกลไกในการสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมใหม่ให้เกิดขึ้นกับภาคการผลิตของไทย ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ซึ่งล้วนเป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ที่รัฐไทยมุ่งหมายจะให้เกิดและเติบโตขึ้นในพื้นที่ EEC ก็ตาม

ประเด็นปัญหาที่ควรพิจารณานอกเหนือจากข้อจำกัดเรื่องทักษะแรงงานแล้ว ประเด็นว่าด้วยการรังสรรค์และพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีขึ้นเองก็เป็นสิ่งที่นับเป็นอุปสรรคไม่น้อย และนำไปสู่ข้อเสนอให้มีกฎระเบียบ กลไกและระบบในการถ่ายทอดทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างชัดเจน รวมถึงการพัฒนาจัดตั้งศูนย์วิจัยและสถาบันการศึกษาขั้นสูงด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อรองรับกับการพัฒนาที่กำลังจะเกิดขึ้นด้วย

การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ของไทย ซึ่งมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องตลอดช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา โดยข้อมูลของสหประชาชาติระบุว่า สัดส่วนของ FDI ของไทยในภูมิภาคลดต่ำลงจากร้อยละ 14 เมื่อปี 2556 ลงมาเหลือไม่ถึงร้อยละ 6 ในปีที่ผ่านมา ขณะที่นักลงทุนจากชาติตะวันตกบางส่วนชะลอการลงทุนหรือเลิกสนใจประเทศไทยนับตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อปี 2557 เป็นต้นมา

กรณีดังกล่าว ทำให้รัฐบาล คสช. มุ่งหวังให้การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกและการลงทุนในพื้นที่ EEC เป็นจักรกลในการหนุนนำให้การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศหรือ FDI ดีขึ้น จนนำไปสู่การมอบสิทธิพิเศษและผลประโยชน์การลงทุนอย่างขนานใหญ่ เพื่อสร้างแรงจูงใจแก่ผู้ลงทุน โดยละเลยที่จะประเมินผลได้ผลเสียในอนาคต และกำลังจะกลายเป็นต้นทุนต่อประเทศและประชาชนคนไทยส่วนใหญ่ในระยะยาวไปโดยปริยาย

ตลอดเวลาที่ผ่านมา รัฐไทยพยายามชูประเด็นว่าด้วยทำเลที่ตั้งของประเทศไทยมาเป็นจุดขาย โดยเฉพาะการระบุว่าประเทศไทยอยู่ในจุดศูนย์กลางของภูมิภาคที่มีประชากรรวมกว่า 3.5 พันล้านคน อยู่ในเขตเศรษฐกิจที่มีจีดีพีคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 32 ของโลก แต่รัฐไทยกลับไม่ได้ตระหนักถึงข้อเท็จจริงว่าด้วยขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และความน่าลงทุนในสายตาของนักลงทุนต่างชาติ

รายงานของ World Economic Forum ระบุว่าแม้ไทยมีเศรษฐกิจขนาดใหญ่เป็นอันดับสองในภูมิภาค รองจากอินโดนีเซีย แต่ขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยมีแนวโน้มลดต่ำลง ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านต่างมีอัตราเติบโตแซงหน้าไทย นอกจากนี้ ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ยังคาดการณ์ว่า ในปี 2561 อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนาม กัมพูชา เมียนมา ฟิลิปปินส์ และลาว จะขยายตัวตั้งแต่ร้อยละ 6.8–7.1 ขณะที่ไทยเติบโตอยู่ในระดับเพียงร้อยละ 4 เท่านั้น

ความน่าสนใจในการลงทุนที่ลดลงของไทยในด้านหนึ่งเป็นผลจากการที่การเจรจาการค้ากับประเทศหลักๆ ทั้งสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และออสเตรเลีย ยังไม่สำเร็จ ทำให้เกิดข้อจำกัดในการลงทุนเมื่อเปรียบเทียบกับการไปลงทุนในประเทศอื่นที่มีข้อตกลงการค้าหรือ FTA แล้ว ไปโดยปริยาย

ทิศทางการพัฒนาของ EEC เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ถูกตั้งคำถาม แม้ว่าการลงทุนใน EEC จะส่งผลกระตุ้นภาคการลงทุนโดยเฉพาะการลงทุนจากต่างประเทศ และช่วยขับเคลื่อนการขยายตัวเศรษฐกิจในภาคตะวันออก แต่การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านกายภาพมูลค่าประมาณ 7.13 แสนล้านบาท ทำให้เกิดคำถามถึงสถานะการคลังของรัฐไทยในอนาคต รวมถึงการกระจายงบประมาณและความเจริญไปสู่ส่วนอื่นๆ ของประเทศอย่างไม่อาจเลี่ยง

ประเด็นว่าด้วยสิทธิประโยชน์ทั้งจากกฎหมายส่งเสริมการลงทุน 2560 กฎหมายส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย และพระราชบัญญัติ EEC ที่มีทั้งการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุดถึง 13 ปี หรือการให้สิทธิในการเช่าที่ดินและถือครองที่ดิน 99 ปี เพื่อเพิ่มแรงจูงใจให้กับผู้ลงทุนต่างชาติ กลายเป็นประเด็นที่ล่อแหลมและถูกวิพากษ์ว่าเป็นการลด แลก แจก แถม ที่มากเกินไป โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่อาจเกิดตามมาต่อผู้ประกอบการของไทยในอนาคต

ขณะเดียวกันความพยายามดึงดูดนักลงทุนอย่างหนัก ทำให้ EEC ละเลยประเด็นว่าด้วยสิ่งแวดล้อม เพราะเมื่อมีโรงงานอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจำนวนมากในพื้นที่ EEC อาจเกิดความแออัดและการกระจุกตัวของโรงงานอุตสาหกรรม มีผลกระทบให้เกิดมลพิษต่างๆ ต่อชุมชนโดยรอบได้ คุณภาพชีวิตที่แย่ลง และค่าครองชีพสูงขึ้น ซึ่งอาจสร้างผลกระทบที่ย้อนกลับคืนไม่ได้ และอาจทำให้ในอนาคตต้องตามแก้ปัญหามลภาวะแพงกว่าการลงทุนที่ได้รับ รัฐจึงจำเป็นต้องออกระเบียบและเงื่อนไขเพิ่มเติมด้านสิ่งแวดล้อม ดูแลคุณภาพชีวิตและค่าครองชีพประชาชนในพื้นที่ด้วย

พัฒนาการที่กำลังดำเนินไปใน EEC ทำให้หลายฝ่ายประเมินว่าเป็นเพียงการผลิตซ้ำของหนทางการพัฒนาที่รัฐไทยเคยดำเนินมาในอดีต ด้วยการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ จากผลของการลงทุนของต่างชาติ ด้วยการแลกกับต้นทุนความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิตของผู้คนโดยมีบางส่วนวิพากษ์ไปถึงการมี “สภาพกึ่งอาณานิคมทางเศรษฐกิจ” ของทุนข้ามชาติโดยที่คนไทยส่วนใหญ่ไม่ได้ประโยชน์อะไร เพราะผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจไม่ได้กระจายไปยังประชาชนส่วนใหญ่และกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มทุนขนาดใหญ่เท่านั้น

รัฐบาลไทยในยุคสมัย คสช. ประกาศที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจและตั้งเป้าที่จะผลักดันให้ไทยบรรลุสถานะการเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วภายในปี 2580 แต่ดูเหมือนว่าจนถึงขณะนี้ พัฒนาการต่างๆ ที่รัฐไทยมุ่งหวังจะยังไม่ดำเนินไปในทิศทางที่คาดหมายมากนัก

ขณะที่ความพยายามที่จะปั้นให้ EEC เป็นเครื่องมือสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจก็ดูจะมีต้นทุนที่สูงเพิ่มขึ้น จนไม่อาจแน่ใจได้ว่าโครงการ EEC นี้ จะเป็นเพียงภาพแห่งความฝันที่ยาวไกล แต่สังคมไทยอาจไปไม่ถึง และกลายเป็นการลงทุนลงแรงที่ไม่เพียงแต่สูญเปล่า หากยังต้องแลกกับปัญหาและความเสียหายที่จะถูกทิ้งค้างไว้ในอนาคตที่ยากจะประเมินด้วยหรือไม่

ใส่ความเห็น