แม้ว่ากระแสฟุตบอลโลก 2018 ที่ประเทศรัสเซียจะเพิ่งจุดติด หลังจากที่ก่อนหน้านี้ถูกปล่อยให้ดำเนินไปท่ามกลางบรรยากาศที่ไม่ตื่นตัวคึกคักมากนัก แต่ดูเหมือนว่าสำนักวิจัยและพยากรณ์ทางเศรษฐกิจแทบทุกสำนักต่างเชื่อมั่นว่า การแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งนี้จะส่งผ่านปัจจัยบวกให้เศรษฐกิจไทยได้รับอานิสงส์ในระดับหลายหมื่นล้านบาทเลยทีเดียว
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า การแข่งขันฟุตบอลโลกจะกระตุ้นการใช้จ่ายเพื่อกิจกรรมและเชิงพาณิชย์มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นไปเพื่อการซื้อเสื้อผ้า ของที่ระลึกเพื่อการเชียร์บอล งบถ่ายทอดสด งบประชาสัมพันธ์สนับสนุนการถ่ายทอด ซึ่งการเฝ้าชมการถ่ายทอดสดการแข่งขันอาจส่งผลต่อการซื้อโทรทัศน์ อาหาร/เครื่องดื่ม และการบริโภคอาหารที่ร้านอาหารนอกบ้านด้วย
ข้อมูลตัวเลขอ้างอิงจากพฤติกรรมของการแข่งขันฟุตบอลโลกเมื่อครั้งที่ผ่านมา คาดว่าในปีนี้จะมีเงินสะพัดทางธุรกิจในระดับ 2 หมื่นล้านบาท และการใช้จ่ายนอกระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการพนันฟุตบอลอีกประมาณ 6 หมื่นล้านบาท ซึ่งทำให้มีผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพียงร้อยละ 0.2-0.3 เท่านั้น
ประเด็นที่น่าสนใจก็คือวงเงินที่แพร่สะพัดอยู่ในกิจกรรมพนันฟุตบอลที่มูลค่าสูงถึง 6 หมื่นล้านบาทตามการประเมินนี้ อาจสร้างกำลังซื้อชั่วขณะได้ในระดับหนึ่ง หากผู้ที่ชนะพนันนำเงินนอกระบบนี้มาบริโภคหรือจับจ่ายที่อาจกระตุ้นการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจภายในได้บ้าง หากแต่การพนันฟุตบอลส่วนใหญ่ในปัจจุบันกระทำกันผ่านระบบออนไลน์ไปยังเจ้ามือหรือร้านรับแทงพนันในต่างประเทศ ซึ่งนอกจากจะยากต่อการควบคุมแล้ว กรณีดังกล่าวยังเป็นช่องทางให้เงินไหลออก ที่เป็นการบ่อนทำลายเศรษฐกิจของชาติอีกด้วย
ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่าในช่วงฟุตบอลโลกจะมีเงินสะพัดในระดับ 6-7 พันล้านบาทกระจายเข้าสู่ธุรกิจจำหน่ายสินค้าอุปโภคและบริโภค ซึ่งถือเป็นการเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 5 จากช่วงเวลาปกติของมูลค่าตลาดสินค้าอุปโภคและบริโภค โดยสินค้าและธุรกิจที่คาดว่าจะได้รับอานิสงส์โดยตรงจากการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งนี้อยู่ที่ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจร้านอาหารและธุรกิจฟาสต์ฟู้ดเดลิเวอรี่ อุปกรณ์กีฬา เสื้อผ้า และรองเท้า
ตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยเฉพาะโทรทัศน์ดูจะเป็นธุรกิจที่ได้รับอานิสงส์เชิงบวกโดยตรงมากที่สุดกลุ่มหนึ่ง เพราะผู้ผลิตและเจ้าของแบรนด์สินค้าต่างโหมประโคมกิจกรรมและรณรงค์ส่งเสริมการตลาด ทั้งลด แลก แจก แถม เพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งการตลาดหลังจากที่ยอดจำหน่ายอยู่ในภาวะซบเซาจากผลของกำลังซื้อที่หดหายไปพร้อมๆ กับภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวนัก
โดยผู้ประกอบการแบรนด์โทรทัศน์ ซึ่งถือเป็นสินค้ากลุ่มหลักที่คาดว่าจะได้รับอานิสงส์จากการแข่งขันฟุตบอลโลก 2018 ต่างออกมาเปิดตัวสินค้ารุ่นใหม่พร้อมทำกิจกรรมส่งเสริมการขายกันอย่างคึกคัก และทำให้มีการคาดการณ์ว่าภาพรวมยอดขายเครื่องรับโทรทัศน์ช่วงเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคมปีนี้จะมีอัตราการเติบโตไม่ต่ำกว่าร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เนื่องจากร้านค้าและแบรนด์ต่างๆ ร่วมกันทำโปรโมชั่นเพื่อกระตุ้นยอดขายในช่วงของการแข่งขันฟุตบอลโลก 2018 และทำให้ช่วงดังกล่าวมียอดขายเติบโตจากปกติสูงถึงร้อยละ 50
แม้ว่าในด้านหนึ่ง ฟุตบอลโลกจะกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายภายในประเทศพอสมควร แต่อานิสงส์ที่เกิดขึ้นตามรายงานของสมาคมผู้ผลิตเสื้อผ้าและสิ่งทอไทย อยู่ที่คำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นในระดับร้อยละ 10-15 โดยหลายโรงงานผลิตเสื้อกีฬาในไทย อยู่ระหว่างการผลิตและส่งมอบเสื้อผ้าเพื่อรองรับกับมหกรรมฟุตบอลโลกครั้งนี้ ซึ่งไทยเป็นประเทศหลักที่ได้รับความนิยมในการสั่งผลิต
อย่างไรก็ดี ความเงียบงันในกระแสฟุตบอลโลกที่ไม่คึกคักเท่าที่ควรในครั้งนี้ แม้ว่าจะมีภาคเอกชนขนาดใหญ่ถึง 9 รายให้การสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (มหาชน) บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ที่ให้การสนับสนุนรายละ 200 ล้านบาท
ขณะที่บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ร่วมสนับสนุนอีก 100 ล้านบาทโดยมี บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท คาราบาว กรุ๊ป จำกัด สนับสนุนอีกรายละ 50 ล้านบาท แต่ดูเหมือนว่ากิจกรรมทางการตลาดเพื่อส่งเสริมความเป็นไปของการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งนี้ กลับดำเนินไปท่ามกลางความคลุมเครือในเรื่องสิทธิประโยชน์ และทำให้กิจกรรมทางการตลาดที่เคยสร้างแรงกระตุ้นทางธุรกิจอยู่ในภาวะที่ชะงักงันไปอย่างน่าเสียดาย
การลงขันกันเป็นผู้สนับสนุนการถ่ายทอดสดโดยภาคเอกชนขนาดใหญ่ดังกล่าว หากไม่นับรวมบางจากและคาราบาวแดงแล้ว ต้องยอมรับว่า บรรษัทเอกชนขนาดใหญ่ทั้ง 7 มีสถานะเป็นประหนึ่ง 7 Sisters ของวงการธุรกิจอุตสาหกรรมไทยยุคใหม่ ที่ครอบครองสินทรัพย์และส่วนแบ่งทางการตลาดมูลค่ามหาศาลของชาติไว้ในมือ
9 องค์กรธุรกิจที่ลงขันรวมกัน 1,400 ล้านบาท เพื่อการได้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2018 ยังเตรียมงบไว้อีกก้อนหนึ่งสำหรับการทำกิจกรรมการตลาดในช่วงเวลาที่สำคัญดังกล่าว เพื่อสร้างภาพลักษณ์ของทั้งองค์กรและแบรนด์สินค้าเพื่อกระตุ้นยอดขายให้เพิ่มขึ้นจากปกติด้วย
เครือเจริญโภคภัณฑ์ดูจะเป็นองค์กรธุรกิจที่ได้ประโยชน์ครบวงจรจากกิจกรรมครั้งนี้โดยเครือเจริญโภคภัณฑ์เตรียมใช้งบการตลาดสูงถึงกว่า 100 ล้านบาท ในการทำกิจกรรมส่งเสริมการขายร่วมกับธุรกิจในเครือ 3 บริษัท ทั้งซีพี ออลล์ เจริญโภคภัณฑ์อาหาร และทรู คอร์ปอเรชั่น
โดยในส่วนของบริษัท ซีพี ออลล์ ได้ทำแคมเปญ “ลุ้นบินหรูบอลโลก กับเซเว่น อีเลฟเว่น” ส่วนบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์อาหารหรือซีพีเอฟ มีแผนที่จะเปิดตัวอาหารเมนูใหม่ๆ เข้ามาทำตลาดเพิ่มเติม เพื่อเอาใจแฟนลูกหนัง
ขณะที่บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น ซึ่งเป็นผู้ถือครองลิขสิทธิ์การถ่ายทอดการแข่งขันครั้งนี้ก็อาศัยจังหวะเวลานี้ต่อยอดธุรกิจด้วยการเปิดตัวกล่อง “TrueVisions 4K ULTRA HD” โฉมใหม่ของการรับชมโทรทัศน์ เพื่อประสบการณ์ความคมชัดระดับ 4K ULTRA HD เป็นครั้งแรกในไทย รองรับการรับชมการแข่งขันด้วยภาพที่มีความคมชัดทั้ง 64 แมตช์อีกทางหนึ่ง
ด้านมหาอาณาจักรธุรกิจอีกรายอย่าง ไทยเบฟเวอเรจ ก็พร้อมต่อยอดธุรกิจจากกิจกรรมการตลาดในช่วงการแข่งขันฟุตบอลโลก 2018 เพื่อกระตุ้นยอดขายให้เติบโตจากช่วงเวลาปกติด้วยการจัดกิจกรรมถ่ายทอดสดภายในร้านอาหารและเครื่องดื่มในเครือข่ายกว่า 20 แห่งทั่วประเทศ เพื่อให้ลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการในร้านอาหารดังกล่าวได้รับความสุขจากการจัดกิจกรรมครั้งนี้
ส่วนบีทีเอส กรุ๊ป ก็ออกมาใช้งบกว่า 100 ล้านบาท ทำกิจกรรมการตลาดต่อเนื่องในช่วงที่มีการแข่งขันฟุตบอลโลก 2018 ซึ่งหนึ่งในกิจกรรมที่บีทีเอสคาดว่าจะเป็นไฮไลต์ในครั้งนี้คือการถ่ายทอดการแข่งขันบนทางเชื่อมสถานีรถไฟฟ้าบริเวณสถานีสนามกีฬาแห่งชาติ และสถานีช่องนนทรี
ขณะที่บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่นเองก็ได้ใช้งบประมาณถึง 195 ล้านบาท จัดกิจกรรมส่งเสริมการขายช่วงที่มีการแข่งขันฟุตบอลโลกไว้อย่างคึกคัก ไม่ว่าจะเป็นแก้วคอลเลกชันทีมฟุตบอล 6 ประเทศจำนวน 5 ล้านใบ เพื่อเป็นของสมนาคุณให้กับลูกค้าที่เติมน้ำมันครบตั้งแต่ 700 บาทขึ้นไป รวมถึงการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลกภายในร้านสพาร์ ซึ่งอาจช่วยดึงดูดลูกค้าให้เข้ามาใช้บริการมากขึ้น
หากการพยากรณ์ที่ว่าจะมีเงินสะพัดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจไทยในระดับนับหลายหมื่นล้านบาทจากมหกรรมการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งนี้ ก็ดูเหมือนว่ามหาอาณาจักรธุรกิจที่ครอบครองส่วนแบ่งทางเศรษฐกิจจะเป็นผู้ที่พร้อมรับประโยชน์จากการลงทุนครั้งนี้ไปแบบครบถ้วน ท่ามกลางความเงียบงันทางเศรษฐสภาพของผู้คนจำนวนมากต่อไป