วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > On Globalization > กระบวนการยุติธรรมล้มเหลวในคดีข่มขืนที่ประเทศเปรู

กระบวนการยุติธรรมล้มเหลวในคดีข่มขืนที่ประเทศเปรู

Column: Women in Wonderland

การข่มขืนเป็นเหตุการณ์ที่ไม่มีผู้หญิงคนไหนอยากให้เกิดขึ้นกับตัวเอง แต่ผู้หญิงถูกข่มขืนกลับเกิดขึ้นอย่างมากมายในทุกประเทศ ไม่ใช่เพียงแค่การข่มขืนเท่านั้นที่เกิดขึ้นจำนวนมาก การลวนลามทางเพศในสถานที่ต่างๆ รวมไปถึงที่สาธารณะก็เกิดมากขึ้นเช่นกัน จากการรวบรวมสถิติของ United Nations Office on Drugs and Crime ในปี 2012 พบว่า 10 ประเทศที่มีสถิติการข่มขืนสูงที่สุดคือ สวีเดน จาเมกา โบลิเวีย คอสตาริกา นิวซีแลนด์ เบลเยียม สหรัฐอเมริกา บราซิล นอร์เวย์ และฟินแลนด์ จากสถิตินี้จะเห็นว่าส่วนใหญ่เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่ก็ยังมีจำนวนผู้ที่ตกเป็นเหยื่อค่อนข้างสูง

ยกตัวอย่างเช่น ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา องค์กร Rape, Abuse and Incest National Network หรือ RAINN ได้เปิดเผยสถิติผู้ที่ตกเป็นเหยื่อการข่มขืนและการใช้ความรุนแรงทางเพศซึ่งองค์กรพบว่า ทุกๆ 98 วินาที จะมีผู้หญิงอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไปถูกข่มขืนหรือตกเป็นเหยื่อความรุนแรงทางเพศอย่างน้อย 1 คน โดยเฉลี่ยแล้วใน 1 ปีจะมีผู้หญิงอเมริกันที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป ประมาณ 321,500 คน ตกเป็นเหยื่อการถูกข่มขืน และผู้ที่ตกเป็นเหยื่อมากกว่า 90% เป็นผู้หญิง นอกจากนี้ในประเทศสหรัฐอเมริกายังพบว่า 60% ของนักโทษตกเป็นเหยื่อการข่มขืนจากเจ้าหน้าที่เรือนจำ และนักโทษมากกว่า 50% ที่มีเพศสัมพันธ์กับเจ้าหน้าที่เรือนจำมักจะเกิดจากความไม่เต็มใจ

ปัญหาหลักๆ ที่ทำให้ปัญหาเรื่องการข่มขืนมีมากขึ้นนั้นมาจากกระบวนการยุติธรรมในประเทศนั้นๆ ไม่สามารถเอาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้ ทำให้ผู้กระทำผิดไม่เกรงกลัวกฎหมาย นอกจากนี้อีกหนึ่งปัญหาที่มาพร้อมกันคือ ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อส่วนใหญ่ไม่กล้าไปแจ้งความเพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด ส่วนหนึ่งที่ผู้ตกเป็นเหยื่อไม่กล้าไปแจ้งความอาจเป็นเพราะความอับอาย โดยเฉพาะในประเทศที่ยังมีความเชื่อว่า ผู้หญิงไม่ควรมีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงาน และอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้เสียหายไม่ไปแจ้งความคือ ไม่มีความมั่นใจในกระบวนการยุติธรรม ว่าจะนำผู้กระทำความผิดมาลงโทษได้ ทำให้รู้สึกว่าแจ้งความก็เสียเวลาเปล่า แล้วยังสร้างความอับอายให้กับตัวเองและครอบครัวอีกด้วย

แม้กระทั่งในประเทศที่ไม่มีบรรทัดฐานสังคมเรื่องเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงาน และมีกระบวนการยุติธรรมที่โปร่งใสอย่างสหรัฐอเมริกา ผู้ตกเป็นเหยื่อการข่มขืนมากกว่าครึ่งหนึ่งก็ยังเลือกที่จะไม่แจ้งความ องค์กร RAINN ได้เก็บข้อมูลการข่มขืนในกองทัพอเมริกา และพบว่า ในปี 2014 มีทหาร 18,900 คนที่ตกเป็นเหยื่อและในจำนวนนี้มีทหารหญิงเพียงแค่ 43% และทหารชาย 10% ที่ตัดสินใจแจ้งความ ขณะที่คนที่เหลือเลือกที่จะเก็บเงียบและไม่ต้องการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด

เปรูเป็นประเทศกำลังพัฒนาประเทศหนึ่งในทวีปอเมริกาใต้ สินค้าส่งออกสำคัญของเปรูคือ แร่ธาตุต่างๆ อย่างเช่นส่งออกทองแดง สังกะสี และดีบุกเป็นอันดับ 3 ของโลก และส่งออกเงินเป็นอันดับ 1 ของโลก เป็นต้น จากการที่เปรูส่งออกแร่ธาตุเหล่านี้เป็นหลัก ทำให้ในปี 2016–2017 เปรูมีอัตราการเติบโตของ GDP (Gross Domestic Product) สูงที่สุดในทวีปอเมริกาใต้ และมีการคาดการณ์จากหลายหน่วยงานว่า ปี 2018 นี้เปรูก็น่าจะยังมีอัตราการเติบโตของ GDP สูงที่สุดอยู่ดีในทวีปอเมริกาใต้

แม้ว่าเปรูจะมีอัตราการเจริญเติบโตของ GDP ในแต่ละปีที่สูงมาก แต่ก็ยังมีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่มีสภาพความเป็นอยู่ค่อนข้างแย่ จากสถิติของรัฐบาลเปรูพบว่า เปรูมีประชากรที่มีรายได้น้อยอยู่ประมาณ 39.3% และประชากรที่มีรายได้น้อยมากๆ อยู่ประมาณ 13.7% และคนเหล่านี้มักอาศัยอยู่ตามสลัมในเขตเมืองใหญ่ๆ

เปรูมีระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย โดยมีประธานาธิบดีที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาทำหน้าที่เป็นประมุขแห่งรัฐและหัวหน้ารัฐบาล เมื่อได้รับเลือกตั้งแล้วก็จะทำงานอยู่ในตำแหน่งเป็นเวลา 5 ปี ในส่วนของกระบวนการยุติธรรมนั้น เปรูใช้ระบบศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลสูงสุดเหมือนกับประเทศไทย วิธีการคัดเลือกผู้พิพากษาคือ ชื่อของผู้พิพากษาจะถูกเสนอโดย National Council of the Judiciary หรือถูกเสนอโดยประธานาธิบดี รายชื่อเหล่านี้จะต้องผ่านรัฐสภา เพื่อให้รัฐสภารับรอง และผู้ที่ผ่านการรับรองแล้วจะต้องถูกประเมินใหม่อีกครั้งว่าเหมาะสมที่จะเป็นผู้พิพากษาหรือไม่ในทุกๆ 7 ปี

ปัญหาใหญ่ของกระบวนการยุติธรรมในเปรูคือ คนเปรูไม่เชื่อมั่นกระบวนการยุติธรรม บ่อยครั้งที่มักจะได้เห็นข่าวว่า คนเปรูตั้งศาลเตี้ยกันขึ้นมาเองเพื่อตัดสินความผิดของผู้กระทำผิด เพราะพวกเขาไม่เชื่อว่าตำรวจจะให้ความสนใจกับเรื่องเล็กน้อย อย่างเช่นการลักขโมย เป็นต้น และยิ่งในบางพื้นที่มีจำนวนตำรวจค่อนข้างน้อย ยิ่งทำให้ประชาชนเปรูไม่คาดหวังกับการทำงานของตำรวจเปรูเลย

ที่แย่ยิ่งกว่าคือ ตำรวจเปรูไม่ให้ความสนใจกับคดีต่างๆ ที่เกิดขึ้นเลย ไม่ว่าจะเป็นคดีเล็กๆ อย่างการลักขโมยหรือคดีใหญ่ๆ อย่างการข่มขืน เรื่องนี้เห็นได้ชัดเจนจากกรณีของ Alessandra Bonelli ผู้เข้าประกวดนางงามของประเทศเปรู ที่ตำรวจไม่ให้ความสนใจกับคดีที่เธอถูกผู้ฝึกสอนส่วนตัวลวนลามและข่มขืนเธอ

เมื่อปี 2017 เปรูมีการจัดประกวดนางงามเพื่อหาผู้ชนะเลิศเป็นตัวแทนประเทศไปแข่งในรายการ Miss Universe หนึ่งในผู้เข้าประกวดนางงาม Alessandra Bonelli ให้สัมภาษณ์ทางทีวีว่า เธอถูกผู้ฝึกสอนส่วนตัววางยาและข่มขืนเธอในปี 2015 หลังจากที่เธอโดนข่มขืน เธอได้แจ้งความกับตำรวจ แต่ตำรวจกลับทำให้เธอรู้สึกแย่กว่าเดิม ด้วยการพูดว่า เธอเต็มใจที่จะรับแก้วที่มีวิสกี้ผสมยาผ่อนคลายกล้ามเนื้อ แม้ว่าเธอจะไม่รู้ว่าในแก้วนั้นมียาผสมอยู่ แต่เธอก็เต็มใจยอมรับแก้วมา เหมือนกับว่าเธอเต็มใจที่จะมีเพศสัมพันธ์กับผู้ฝึกสอนส่วนตัว

ที่แย่ที่สุดในกระบวนการยุติธรรมของเปรูคือ ตำรวจใช้เวลาประมาณ 2 ปีในการตรวจสอบ DNA ที่มีอยู่ในกางเกงในของ Bonelli และแม้ว่าผลการตรวจ DNA จะออกมาแน่ชัดแล้วว่ามี DNA ของผู้ฝึกสอนส่วนตัวของเธออยู่ในกางเกงในของเธอ แต่ตำรวจก็ยังไม่มีการดำเนินคดีใดๆ ทั้งสิ้นกับผู้ฝึกสอนส่วนตัวของเธอ

Alessandra Bonelli ให้ความเห็นเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมของประเทศเปรูไว้ว่า เรื่องนี้ตำรวจเปรูมองว่ามันเป็นคดีที่เสียเวลาและไม่มีความหวังใดๆ ในการจับตัวผู้กระทำผิด และการที่ตำรวจคิดแบบนี้ก็เป็นความคิดที่แย่มาก เพราะพวกเขาไม่รู้เลยว่า คนที่ตกเป็นเหยื่อการข่มขืนนั้นรู้สึกอย่างไร และต้องพยายามขนาดไหนในการกลับมาอยู่และใช้ชีวิตแบบปกติได้ Bonelli เล่าว่าเธอต้องกินยานอนหลับเพื่อทำให้เธอหลับได้ในแต่ละคืนและไม่สามารถทำงานใดๆ ได้เลยเป็นเวลามากกว่า 1 ปีครึ่ง เพราะไม่สามารถหยุดคิดถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้เลย

เหตุการณ์ของ Alessandra Bonelli เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของคนที่ตกเป็นเหยื่อการข่มขืนและไม่ได้รับความเป็นธรรมจากกระบวนการยุติธรรม ตั้งแต่ปี 2009 เป็นต้นมา ที่ประเทศเปรูจำนวนผู้ชายที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นคนฆ่าผู้หญิงนั้นเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่าจากการเก็บรวบรวมข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติเปรู และมีจำนวนคดีการฆาตกรรมหรือการข่มขืนถึงประมาณ 85% ที่ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อมักจะเป็นภรรยา อดีตภรรยา และแฟน

เปรูเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศในทวีปอเมริกาใต้ที่มีการฆ่าผู้หญิงด้วยเหตุผลว่าพวกเธอเป็นผู้หญิง (Femicide) เปรูเป็นอีกหนึ่งประเทศที่สอนบทบาทและหน้าที่ของผู้หญิงและผู้ชายในสังคมว่า ผู้หญิงควรหลีกเลี่ยงประโยคที่ทำให้ผู้ชายโกรธและเสียหน้า ยกตัวอย่างเช่น “ฉันจะมีชู้” “ฉันจะเลิกกับคุณ” เป็นต้น ประโยคเหล่านี้จะทำให้ผู้ชายโกรธและลงมือทำร้ายผู้หญิงได้ และเมื่อพวกเขาถูกจับเพราะมีหลักฐานแน่ชัด อย่างเช่นกล้องวงจรปิดสามารถจับเหตุการณ์ไว้ได้ เมื่อถึงเวลาขึ้นศาลพวกเขาก็พร้อมที่จะต่อสู้ว่าพวกเขาไม่ได้ทำอะไรผิด

ยกตัวอย่างเช่น เหตุการณ์ของ Adriano Pozo ซึ่งเป็นลูกชายของนายกเทศมนตรี ขอมีเพศสัมพันธ์กับแฟนสาวหลังปาร์ตี้วันเกิด แต่ผู้หญิงไม่ยินยอม Pozo จะข่มขืน แต่เธอหนีออกมาจากห้องนั้นได้ Pozo วิ่งตามลงมาทั้งๆ ที่ไม่ได้ใส่เสื้อผ้า และเข้ามาทำร้ายร่างกาย ดึงผมเธอลากไปตามทางเดิน เมื่อพนักงานโรงแรมพยายามเข้าช่วย เหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้ถูกบันทึกไว้ด้วยกล้องวงจรปิดหลายตัวในโรงแรม เมื่อถึงเวลาขึ้นศาล Pozo อธิบายว่าเขาไม่มีเจตนาที่จะฆ่าผู้หญิงคนนี้ เพราะการที่เขาลากเธอไปตามทางเดินไม่ได้หมายความว่าต้องการฆ่า และการที่เขาชกเธอก็ไม่ได้หมายความว่าจะฆ่าเธอเช่นกัน ในขณะเดียวกันเขาก็ได้รับบาดเจ็บเช่นกัน ดังนั้น Pozo จึงปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ท้ายที่สุดศาลชั้นต้นซึ่งผู้พิพากษา 2 ใน 3 เป็นผู้ชาย ตัดสินว่า พวกเขาไม่เห็นว่า Adriano Pozo มีความเกลียดชังผู้หญิงจนถึงขนาดที่จะฆ่าเธอให้ตาย ทำให้เขาไม่มีความผิด

ต่อมาในศาลอุทธรณ์ ตัดสินว่า Adriano Pozo ไม่มีความผิด เพราะเขามีอาการป่วยของโรคความผิดปกติทางบุคลิกภาพ ทำให้ไม่สามารถที่จะข่มขืนใครได้ และศาลไม่ได้ลงโทษในคดีทำร้ายร่างกายอีกด้วย ทั้งๆ ที่มีภาพจากกล้องวงจรปิดและหลักฐานต่างๆ ตามร่างกายอย่างชัดเจน

จากเหตุการณ์เหล่านี้เห็นได้อย่างชัดเจนว่ากระบวนการยุติธรรมในประเทศเปรู โดยเฉพาะคดีที่เกี่ยวกับความรุนแรงทางเพศนั้นล้มเหลวโดยสิ้นเชิง เพราะไม่ว่าจะมีหลักฐานชัดเจนอย่างกล้องวงจรปิดหรือบาดแผลตามร่างกาย ก็ไม่สามารถนำผู้กระทำผิดมาลงโทษได้ และที่แย่กว่าคือถ้าหากเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นในที่ที่ไม่มีพยานและหลักฐาน ผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่ออาจจะถูกฆ่าตายโดยไม่มีใครรับรู้และสนใจ

เหตุการณ์เหล่านี้ทำให้ผู้หญิงเปรูเริ่มเรียกร้องให้ศาลและรัฐบาลให้ความเป็นธรรมกับผู้หญิงบ้าง แต่ก็ยังคงไม่มีแนวโน้มใดๆ จากรัฐบาลที่จะพยายามแก้ไขปัญหาความล้มเหลวของกระบวนการยุติธรรมในเรื่องความรุนแรงทางเพศ ตราบใดที่กระบวนการยุติธรรมยังล้มเหลวอยู่ การเกิดอาชญากรรมก็จะยังคงมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะผู้กระทำผิดไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย และไม่เห็นว่าการทำผิดหรือก่ออาชญากรรมนั้นจะให้ผลเสียอะไรกับตัวเอง สุดท้ายแล้วคดีข่มขืนก็จะมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แต่คนที่มาแจ้งความกับตำรวจจะน้อยลงเรื่อยๆ นี่ทำให้ในอนาคตเปรูจะมีคนที่เป็นภัยต่อผู้หญิงใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิง เดินอยู่ตามถนนเหมือนคนปกติ และผู้หญิงไม่มีความปลอดภัยเมื่อต้องอาศัยอยู่ในประเทศเปรู

Photo Credit: https://www.freeimages.com/photo/balance-1172786

ใส่ความเห็น