วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Cover Story > พืชมงคลและ Alibaba ความหวังเกษตรกรไทยยุค 4.0

พืชมงคลและ Alibaba ความหวังเกษตรกรไทยยุค 4.0

พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประจำปี 2561 ที่ดำเนินต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 13 พฤษภาคมและวันที่ 14 พฤษภาคม นอกจากจะเป็นประหนึ่งสัญญาณของการเริ่มต้นฤดูกาลเพาะปลูกครั้งใหม่ที่เปี่ยมไปด้วยขวัญและกำลังใจสำหรับเกษตรกร วันดังกล่าวยังถือเป็นวันเกษตรกรไทย ที่สะท้อนคุณค่าความหมายและความสำคัญของการประกอบสัมมาชีพกสิกรรมหล่อเลี้ยงสังคมอีกด้วย

ผลของการเสี่ยงทายจากพระโค ที่ได้รับการแปลนิยามความหมายในแต่ละปีในด้านหนึ่งเป็นภาพสะท้อนหลักวิธีคิดของการเกษตรกรรมที่ต้องพึ่งพาฟ้าฝน และดำเนินอยู่ท่ามกลางเหตุปัจจัยหลากหลาย ซึ่งบ่อยครั้งอาจอยู่นอกเหนือความสามารถในการบังคับควบคุม หากแต่ในยุคสมัยปัจจุบันที่เทคนิควิทยาการได้เจริญรุดหน้าไปมาก ดูเหมือนว่าวาทกรรมว่าด้วยการบริหารจัดการจะได้รับการกล่าวถึงอย่างต่อเนื่องไม่นับรวมกรณีว่าด้วย Smart Farming และการจัดการเกษตรแปลงใหญ่ที่เป็นกระแสครึกโครมในช่วงปีที่ผ่านมา

แต่สำหรับในปีนี้ ดูเหมือนว่าเกษตรกรไทยจะได้รับความหวังและแนวทางการประกอบอาชีพครั้งใหม่ เมื่อผู้ประกอบการธุรกิจการค้าออนไลน์ในนาม อาลีบาบากรุ๊ป ลงนามกับรัฐบาลไทยในการนำพาผลิตผลทางการเกษตรหลากหลายของไทยออกไปสู่ตลาดโลกผ่านช่องทางและเครือข่ายของ Alibaba ซึ่งดูเหมือนจะช่วยตอบรับกับความพยายามของภาครัฐที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจไทยผ่านการค้าในระบบ e-commerce และการหนุนนำ digital economy ไม่น้อยเลย

กระนั้นก็ดี ประเด็นปัญหาของเกษตรกรไทยตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา มิได้จำกัดอยู่เพียงประเด็นว่าด้วยช่องทางการจัดจำหน่าย หรือกรณีว่าด้วยการเพิ่มผลผลิตหรือการปรับโครงสร้างราคาพืชผลทางการเกษตรให้สอดรับกับต้นทุนการผลิตเท่านั้น หากยังมีปัจจัยว่าด้วยความสามารถในการแข่งขันเพื่อการส่งออกไปยังตลาดระดับนานาชาติ และการบริหารจัดการในเชิงยุทธศาสตร์ว่าด้วยชนิดและประเภทของผลิตผลทางการเกษตรเป้าหมายด้วย

การมาถึงของอาลีบาบาในการแสดงบทบาทสถานะการเป็นช่องทางการค้าขนาดใหญ่ให้กับผลิตผลทางการเกษตรของไทย ในด้านหนึ่งจึงอาจเป็นเพียงข้อต่อข้อสุดท้ายที่จะเชื่อมโยงเกษตรกรไทยเข้ากับตลาดขนาดใหญ่ของโลก แต่ย่อมไม่ใช่ข้อต่อที่สำคัญที่สุดในกระบวนการที่เกี่ยวเนื่องถึงกันในฐานะที่เป็นห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) และเป็นห่วงโซ่แห่งคุณค่า (value chain) ที่รัฐไทยควรจะตระหนักและดำเนินมาตรการผลักดันให้เกิดขึ้นจากฐานความคิดและภูมิปัญญาของสังคมไทยมากกว่าการรอหรือหวังพึ่งการช่วยเหลือจากภายนอก

ประเด็นสำคัญจึงอยู่ที่ว่ารัฐไทยประเมินและให้ความสำคัญต่อ “คุณค่า” ของผลิตผลทางการเกษตรของไทยไว้อย่างไร เพราะนอกจาก “คุณค่า” จะเกิดขึ้นเมื่อมีการเสนอสินค้าหรือบริการให้กับผู้ที่ต้องการในช่วงเวลาใดช่วงเวลาหนึ่งแล้ว การวิเคราะห์มูลค่าของ “คุณค่า” ที่เราจะสามารถให้ได้นั้น ยังต้องคำนึงด้วยว่า “ใครคือลูกค้า” และ “เขาให้ความสำคัญ (คุณค่า) กับอะไร” เพราะในทางกลับกันกิจกรรมต่างๆ ที่ไม่ได้ก่อให้เกิด “คุณค่า” อาจมองได้ว่าเป็น waste หรือ “ความสิ้นเปลือง” ซึ่งจำเป็นต้องจำกัดหรือในหลายกรณี ต้องได้รับการกำจัดให้สิ้นไปด้วย

ความสามารถในการบริหารจัดการ Supply Chain กับ Value Chain เพื่อสร้างสินค้าหรือบริการไปสู่ตลาดและผู้บริโภค ยังต้องเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์ไปสู่เรื่องของนวัตกรรม (innovation) หรือกลยุทธ์การตลาด (marketing strategies) ซึ่งเป็นเรื่องของการปรับการให้คุณค่าของผู้บริโภคผ่านสื่อและกรรมวิธีต่างๆ นอกเหนือจากกระบวนการการทำงานภายในองค์กรเช่นกัน

รัฐไทยเคยพยายามสร้างมาตรฐานและจุดยืนใหม่ในตลาดโลกว่าด้วยการเป็นสินค้าเกษตรพรีเมียมมาแล้วในช่วงก่อนหน้านี้ แต่ดูเหมือนว่าจะชะงักงันและมีเหตุให้ต้องถอยกลับมาเน้นการจำหน่ายส่งออกจำนวนมากๆ แม้จะไม่ได้ราคา เพียงเพื่อจะได้บันทึกเป็นผลงานว่ายอดการส่งออกยังอยู่ในระดับที่ดีหรือในระดับที่ยังพอรับได้ก็ตาม

บางทีความคาดหวังของเกษตรกรไทยในยุคไทยแลนด์ 4.0 อาจมีมากกว่าหรือข้ามโพ้นไปจากขวัญกำลังใจและคำพยากรณ์ของพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ หรือแม้กระทั่งช่องทางการค้าจาก Alibaba ไปในระดับหนึ่งแล้ว แต่การจะให้เกษตรกรไทยหวังพึ่งความสามารถในการบริหารจัดการจากภาครัฐ ก็อาจจะเป็นเรื่องที่ยากเกินกว่าที่จะคาดหวังใดๆ ได้เสียแล้ว

ใส่ความเห็น