Column: well-being
เราทุกคนล้วนเคยผ่านประสบการณ์มองหาความสุข ณ ช่วงหนึ่งของชีวิตกันมาแล้ว และค้นพบจนได้ แต่ก็เพียงเพื่อรู้สึกว่าความสุขนั้นได้หลุดลอยไปอีกครั้ง นักเศรษฐศาสตร์ ริชาร์ด อีสเตอร์ลิน ได้พูดถึงวงจรของยุคใหม่ และค้นพบคำอธิบายเกี่ยวกับปรากฏการณ์นี้ในการศึกษาที่เขาเป็นผู้รับผิดชอบ
นิตยสาร GoodHealth รายงานว่า อีสเตอร์ลินถามชาวอเมริกันถึงทรัพย์สินที่พวกเขาเคยครอบครอง และทรัพย์สินที่พวกเขารู้สึกว่ายังขาดอยู่ และอยากได้เพื่อให้สมความปรารถนาในการมีชีวิตที่ดีตามอุดมคติ เช่น บ้าน รถยนต์ เครื่องรับโทรทัศน์ การท่องเที่ยวต่างประเทศ การมีสระว่ายน้ำ การมีบ้านพักตากอากาศ เป็นต้น
อีก 16 ปีต่อมา เขาถามคำถามเดียวกันนี้อีกครั้ง และพบคำตอบที่น่าสนใจ จากการที่คนหนุ่มสาวที่เขาสัมภาษณ์มีรายการทรัพย์สินในครอบครองโดยเฉลี่ย 1.7 รายการ และรู้สึกว่า หากได้ครอบครองทรัพย์สินเพิ่มอีก 4.4 รายการก็จะทำให้พวกเขามีความสุข แต่ในการสัมภาษณ์ครั้งที่ 2 พวกเขามีทรัพย์สินในครอบครองเพิ่มเป็น 3.1 รายการ และพวกเขาต้องการครอบครองเพิ่มอีก 5.6 รายการ จึงจะมีความสุข ซึ่งผลต่างของสิ่งที่อยากได้ยังมากกว่าทรัพย์สินที่พวกเขาครอบครองในปัจจุบันอยู่อีก 2 รายการอยู่ดี
แดเนียล กิลเบิร์ต นักจิตวิทยาสังคมอธิบายว่า “ปัจจุบันความพยายามในการมีความเป็นอยู่ที่ดีของเราถูกครอบงำด้วยการขยายขอบเขตออกไปตามหลักตรรกะ ซึ่งในส่วนนี้จัดว่าความสุขคือความถี่ของช่วงเวลาแห่งความพึงพอใจมากกว่าความเข้มข้น ผู้ที่แสวงหาสิ่งที่ดีที่สุดเพียงอย่างเดียว จึงอาจเสียเวลาทั้งชีวิตกับการพยายามแสวงหาสิ่งที่ดีที่สุดดังกล่าว” เขายังเชื่อว่า การมีชีวิตที่เรียบง่ายคือหนทางที่ดีที่สุดในการอยู่อย่างมีความสุขในสังคมที่มีทางเลือกอันหลากหลาย
ทำไมความไม่พึงพอใจทำให้เราไร้สุข
เราทุกคนต่างรู้ดีว่า การสั่งสมเงินทองและทรัพย์สมบัติ ไม่จำเป็นต้องทำให้เรามีความสุขเพิ่มขึ้นเสมอไป อย่างไรก็ตาม มีข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งที่ยังไม่ค่อยรู้กัน คือการตะเกียกตะกายเพื่อให้มีทรัพย์สินในครอบครองมากขึ้น อาจเป็นการลดสถานะความเป็นอยู่ที่ดีของเราลงก็เป็นได้
ทิม แคสเซอร์ กับ ริชาร์ด เอ็ม ไรอัน สองนักจิตวิทยาระบุในผลการศึกษาของพวกเขาว่า คนที่ตะเกียกตะกายให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินในเชิงวัตถุ มักเผชิญกับความเจ็บปวดอยู่เนืองๆ มากกว่า รวมทั้งมีปัญหาทางจิตวิทยามากกว่าผู้ที่ให้ความสำคัญกับการมีสัมพันธภาพที่ดีในสังคม หรือการอุทิศตนให้สังคม
แบร์รี ชวาร์ทซ์ นักวิจัยว่าด้วยความสุขพูดถึงอาการของความไม่พึงพอใจว่า เขาเชื่อว่าเป็นผลมาจากความล้นเหลือ “การที่มีทางเลือกอยู่มากมายในทุกมิติของชีวิต จะยิ่งทำให้คนรู้สึกไม่พึงพอใจและเหนื่อยหน่ายมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เราหลงทางและมองไม่เห็นสิ่งที่เป็นสาระสำคัญ”
วงการวิทยาศาสตร์สรุปว่า ความรู้สึกไม่พึงพอใจที่เพิ่มมากขึ้นนั้น เป็นผลจากการมีความคิดผิดๆ เกี่ยวกับความสุข เคล็ดลับของการมีชีวิตที่ดี ไม่ได้ขึ้นอยู่กับปริมาณ “ถ้าเราไม่เรียนรู้ที่จะอยู่กับคติที่ว่า ‘ดีก็เพียงพอแล้ว’ ให้ได้ เราก็ต้องเสี่ยงที่จะปล่อยให้ความสุขหลุดลอยไปตลอดทั้งชีวิต” กิลเบิร์ตสรุป
ความสบายเรียกร้องน้อยกว่าที่เราคิด
แม้แต่มาร์คัส ออเรลิอุส จักรพรรดิโรมันก็ยังรู้ว่า “เราต้องการปัจจัยเพียงเล็กน้อยที่เอื้อให้มีชีวิตที่มีสุข”
ปัจจุบันการวิจัยเกี่ยวกับความสุขสมัยใหม่จึงเน้นหาคำตอบว่า เราต้องการมากเท่าไรจึงจะพึงพอใจ … แล้วอะไรคือความพอเพียงล่ะ
เอ็ด ดีเนอร์ นักเขียนและนักจิตวิทยาชาวอเมริกัน อธิบายว่า “คุณจะไม่มีวันรู้ว่าอะไรคือความพอเพียง ถ้าคุณไม่รู้ว่าที่มากกว่าความพอเพียงนั้นคืออะไร” และมีพวกเราไม่มากคนนักที่รู้จักกับสภาวะการมีมากเกินพอ ไม่ว่าเงิน เสื้อผ้า รองเท้า หรือที่อยู่อาศัยที่มากเกินพอ
ดีเนอร์กล่าวว่า “พอเพียง หมายถึงการมีมากพอที่จะดำรงชีวิตอยู่ได้ มากพอที่จะมีความสุข ซึ่งแน่นอนว่าต้องรวมถึงการมีเตียงนอนที่นุ่มสบาย แต่เตียงนอนนั้นต้องการความพิเศษเพิ่มมากขึ้นอีกเท่าไรล่ะ จึงจะทำให้สุขสบายได้”
ถ้าเราถามตัวเองเกี่ยวกับความสุขสบาย และให้ระบุว่ามีปัจจัยสำคัญอะไรบ้าง เราจะเห็นว่า จริงๆ แล้ว เราต้องการน้อยสิ่งมากเพื่อทำให้เรารู้สึกพึงพอใจ การศึกษาเมื่อเร็วๆ นี้ระบุว่า ความสุขที่แท้จริงคือ การตระหนักถึงความงดงามของความเรียบง่าย ไม่ใช่การปฏิเสธตนเอง แต่เป็นการค้นพบความมั่งมีจากภายในของตัวเราเอง ชีวิตที่เรียบง่ายทำให้เราสามารถมุ่งเน้นไปที่แก่นสาร และสอนให้เรารู้จักศิลปะของความรู้สึกเพลิดเพลินจากหัวใจ ด้วยการฝึกความสงบ เรียนรู้ที่จะปล่อยวาง แล้วปล่อยให้ความฝันล่องลอยเข้ามาและติดปีกบินออกไป รวมทั้งเพลิดเพลินกับการใช้ชีวิตไปพร้อมๆ กับเวลาที่ล่วงเลย
ไม่คาดหวังสูง
อาจกล่าวได้ว่า การไม่คาดหวังจากชีวิตมากเกินไป คือเคล็ดลับของความสงบสุขที่แท้จริง นอกจากนี้ ยังต้องยึดมั่นในคติการใช้ชีวิตที่ว่า หาโอกาสให้ตัวเราได้ประสบกับความประหลาดใจมากกว่าความไม่พึงพอใจ
เรารู้ดีว่า ความปรารถนาเป็นแรงผลักดันให้เราใช้ชีวิตต่อไปได้เป็นอย่างดี แม้จะไม่สมปรารถนาบ้างก็ตาม แต่ถ้าเราคาดหวังแต่สิ่งที่ไม่มีวันเกิดขึ้นได้ เราจะรู้สึกหงุดหงิดและขุ่นเคืองใจได้ และรู้สึกราวกับว่า เราตกเป็นเหยื่อของความไม่สมหวังนั้น
“ปัญหาหลักคือ เรามักคาดหวังให้คนอื่นช่วยทำให้เราบรรลุความต้องการของตนเอง และคาดหวังว่า พวกเขาจะทำให้เรามีความสุข” สตีเฟน ไคลน์ ผู้เขียนหนังสือ The Science of Happiness กล่าว “แต่ความสุขในส่วนของตัวเราเองก็เป็นความรับผิดชอบของเรา เพราะเราสามารถคาดหวังถึงชีวิตที่จะให้ในสิ่งที่ตัวเราเองได้เตรียมการณ์เอาไว้แล้ว”
แท้จริงแล้วความสุขนั้นค่อนข้างเรียบง่าย
ความกตัญญู คือความรู้สึกที่บอกให้เรารู้ว่า สิ่งต่างๆ มีความดีในตัวของมันเอง เป็นความรู้สึกที่ไม่ต้องการเงิน ความใส่ใจ หรือความหลากหลายมากขึ้นอีกต่อไป เป็นความรู้สึกที่ทำให้เราหลุดพ้นจากการคาดหวังสูง และทำให้เรามองเห็นมนต์เสน่ห์ของสิ่งเล็กๆ น้อยๆ การจะทำให้ตนเองมีนิสัยกตัญญูได้นั้น เราจำเป็นต้องเรียนรู้ที่จะมองลึกลงไปภายในจิตใจให้มากขึ้น และให้ความสำคัญกับช่วงเวลาแห่งความเพลิดเพลินเล็กๆ น้อยๆ มากขึ้น
ชวาร์ทซ์อธิบายว่า “จะเห็นว่าความสุขเกิดขึ้นได้ง่ายเพียงใด แต่เรามักมีปัญหากับการตระหนักรู้ถึงสิ่งที่เรียบง่ายที่สามารถทำให้เรารู้สึกดี “เป็นสิ่งที่อยู่ล้อมรอบตัวเรา ในสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตร เช่น การเล่นกับเด็กๆ การรับรู้ถึงสัญญาณแรกของต้นไม้ในสวนที่เริ่มผลิใบผลิดอก การสวมกอดอันอบอุ่น แสงทองของรุ่งอรุณ ฯลฯ
ชาวญี่ปุ่นมีกิจวัตร “การสะท้อนคิดด้วยตนเอง” ซึ่งเกี่ยวกับการตั้งคำถามกับตัวเอง 3 ข้อทุกวันว่า วันนี้มีใครให้อะไรฉันบ้างไหม ฉันได้ทำอะไรเพื่อคนอื่นไหม ฉันต้องทนลำบากเพื่อใคร การตอบคำถามเหล่านี้ ไม่เพียงช่วยให้คุณมองสิ่งต่างๆ ในเชิงลึก แต่ยังทำให้คุณเป็นคนที่รู้จักรับฟัง และให้ความสำคัญกับสิ่งที่เรียบง่าย แต่เป็นสิ่งสำคัญในชีวิต