วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 24, 2024
Home > Cover Story > ซีพี รุกแนวรบใหม่ ธุรกิจการศึกษาครบวงจร

ซีพี รุกแนวรบใหม่ ธุรกิจการศึกษาครบวงจร

เครือซีพีของเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ กำลังสร้างอาณาจักรธุรกิจการศึกษาบนที่ดินผืนใหญ่ เนื้อที่มากกว่า 50 ไร่ ย่านแจ้งวัฒนะ ซึ่งมีทั้ง “สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM)” เจาะตลาดระดับอุดมศึกษาในฐานะ Corporate University แห่งแรก อาคาร CP ALL ACADEMY และล่าสุด ประกาศเปิดโรงเรียนสาธิตสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ หรือ “สาธิต PIM” โดยคาดหวังจะให้เป็นโรงเรียนสาธิตต้นแบบในยุคศตวรรษที่ 21

รศ.ดร.พิชิต ฤทธิ์จรูญ คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) หัวหน้าทีมและผู้บริหารโครงการก่อตั้งโรงเรียนสาธิต PIM กล่าวว่า โครงการโรงเรียนสาธิต PIM ใช้เวลาศึกษาและเตรียมความพร้อมล่วงหน้าถึง 3 ปี โดยเดินทางไปดูงานการศึกษาในหลายประเทศ จนกระทั่งตัดสินใจเลือกรูปแบบและระบบการศึกษาของประเทศฟินแลนด์ ซึ่งมีมาตรฐานการศึกษาระดับโลกและเน้นการพัฒนาผู้เรียนตามความถนัด เพราะเชื่อมั่นว่า ถ้าเด็กได้เรียนในสิ่งที่ถนัด เขาจะมีความสุขและสามารถพัฒนาได้อย่างชัดเจน

ขณะเดียวกัน รศ.ดร.พิชิตฟอร์มทีมอาจารย์จากวงการศึกษา ดึงอดีตผู้อำนวยการโรงเรียนชื่อดัง และโรงเรียนสาธิตของรัฐเข้ามาเป็นที่ปรึกษาด้านต่างๆ เพื่อเสริมจุดแข็งตามแนวคิด “สาธิต” อย่างแท้จริง ไม่ใช่การเรียนเพื่อแข่งขันเหมือนในยุคปัจจุบัน ได้แก่ ดร.สุภาวดี วงษ์สกุล ดร.พรพิมล ประสงค์พร ดร.อัญชลี ภู่ประเสริฐ อาจารย์ประวิทย์ ศรีหนองหว้า

นอกจากนี้ แม้หลักสูตรของโรงเรียนสาธิต PIM เป็นหลักสูตรมัธยมศึกษามาตรฐานของกระทรวงศึกษาธิการเช่นเดียวกับโรงเรียนมัธยมแห่งอื่นๆ แต่จัดการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษใน 3 รายวิชาหลัก คือ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษาอังกฤษ รวมถึงการเรียนภาษาจีนเป็นภาษาที่ 3 และเพิ่มวิชาเสริมตามความชอบหรือความถนัดอีก 1 คาบต่อสัปดาห์

ที่สำคัญ ที่นี่จะเชื่อมโยงกับเครือข่ายธุรกิจในเครือซีพี ซึ่งเปิดโอกาสให้นักเรียนเรียนรู้จากประสบการณ์จริง เช่น เดินทางไปดูวิธีทำฟาร์มโคนมของบริษัท ซีพี-เมจิ หรือหากเด็กมีความถนัดด้านกีฬาฟุตบอลที่ปกติจะมีการเรียนการสอนวิชาพลศึกษา 1 คาบต่อสัปดาห์ เขาสามารถรวมกลุ่มกับเพื่อนตั้งชมรม เพื่อเป็นตัวแทนไปแข่งขันในรายการต่างๆ หรือแม้กระทั่งโอกาสการร่วมฝึกซ้อมกับสโมสรแบงค็อกยูไนเต็ด ซึ่งบริษัททรูคอร์ปอเรชั่นให้การสนับสนุนอยู่

ต้องถือว่าการมีเครือข่ายธุรกิจมากมายเข้ามารองรับการศึกษาเป็นจุดขายสำคัญของเครือซีพี ตั้งแต่เริ่มต้นเปิดโรงเรียนแห่งแรกเมื่อ 13 ปีก่อน คือ โรงเรียนปัญญาภิวัฒน์เทคโนธุรกิจ โดยจัดการเรียนการสอนในรูปแบบทวิภาคี คือ สร้างความร่วมมือระหว่างสถานศึกษากับสถานประกอบการ เรียนทฤษฎีควบคู่กับการปฏิบัติงานจริงในสถานประกอบการตลอดหลักสูตร ก่อนยกฐานะเป็น “วิทยาลัยเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์” ในปีต่อมา

เวลานั้นธนินท์เห็นปัญหาการขาดแคลนบุคลากรด้านธุรกิจค้าปลีก โดยเฉพาะเป้าหมายของซีพีต้องการให้บริษัท ซีพีออลล์ จำกัด (มหาชน) เร่งขยายเครือข่ายธุรกิจค้าปลีกร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่นทั่วประเทศอย่างรวดเร็ว จึงเกิดแนวคิดเปิดโรงเรียนผลิตบุคลากรและสร้างหลักสูตรที่เป็นระบบรองรับร้านสะดวกซื้อ ซึ่งตอบโจทย์ได้ทั้งหมด

เพียงไม่กี่ปี วิทยาลัยเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์ได้รับการตอบรับอย่างมาก มีการขยายศูนย์เรียนรู้ปัญญาภิวัฒน์ไปทั่วประเทศอีก 10 แห่ง เพื่อสร้างพนักงานใหม่กระจายตามสาขาของร้านเซเว่นอีเลฟเว่น โดยให้ทุนการศึกษาและจัดหลักสูตรให้เลือก 2 หลักสูตร คือ หลักสูตรธุรกิจค้าปลีก ซึ่งพุ่งเป้าผลิต “คน” ป้อนธุรกิจร้านสะดวกซื้อ “เซเว่นอีเลฟเว่น” และหลักสูตรไฟฟ้ากำลัง ซึ่งเชื่อมโยงกับบริษัท ซีพี รีเทลลิงค์ จำกัด ผู้ให้บริการและดูแลอุปกรณ์ไฟฟ้าในร้านเซเว่นอีเลฟเว่นและร้านค้าปลีกชั้นนำ

ผลก็คือ มีนักเรียนแห่สมัครเรียนจำนวนมาก เพราะได้ทุนเรียนฟรี แถมจบแล้วมีงานแน่นอน

ปี 2550 ซีพีออลล์ต่อยอดลุยธุรกิจการศึกษาอย่างเต็มรูปแบบ เปิด “สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์” หรือ Panyapiwat Institute of Management (PIM) โดยวางเป้าหมายเป็น Corporate University หรือมหาวิทยาลัยที่ก่อตั้งโดยบริษัทเอกชนที่สร้างและฝึกฝนบุคลากรให้มีทักษะความสามารถพร้อมทำงาน ซึ่งเป็นเทรนด์การศึกษายอดนิยมในต่างประเทศ และเป็นกลยุทธ์ “วิน-วิน” คือ ผู้เรียนมั่นใจได้ว่าเรียนในสาขาที่มีบริษัทพร้อมรับเข้าทำงานแน่นอน

ขณะที่บริษัทเอกชนได้บุคลากรตรงกับความต้องการและไม่ได้จำกัดเฉพาะธุรกิจในกลุ่มซีพี ออลล์ หรือเครือซีพีเท่านั้นทั้งผู้ปกครองและนักศึกษาจำนวนมากต่างยอมจ่ายค่าเล่าเรียนราคาสูงเพื่อเข้าสถาบัน PIM

ปัจจุบัน PIM เปิดการเรียนการสอนรวม 10 คณะ ได้แก่ คณะบริหารธุรกิจ คณะการจัดการธุรกิจอาหาร คณะศิลปศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี คณะนิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ คณะนวัตกรรมการจัดการเกษตร คณะศึกษาศาสตร์ คณะอุตสาหกรรมเกษตร คณะการจัดการโลจิสติกส์และการคมนาคมขนส่ง รวมทั้งมีวิทยาลัยนานาชาติและวิทยาลัยบัณฑิตศึกษาจีน โดยเปิดสอนในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก และหลักสูตรระยะสั้น โปรแกรมภาษาอังกฤษและโปรแกรมภาษาจีน

ปี 2557 ซีพีออลล์ลงทุนเม็ดเงินก้อนโตผุดอาคาร CP All Academy เพื่อเป็นศูนย์รวมการเรียนการสอนพิเศษเฉพาะทาง โดยล่าสุดใช้งบอีก 40 ล้านบาท เปิด “ศูนย์ฝึกปฏิบัติการธุรกิจการบิน” (Aviation Business Training Center) หรือ PIM AIR ใน CP All Academy รองรับหลักสูตรในสาขาการจัดการธุรกิจการบิน คณะวิทยาการจัดการ

ใน PIM AIR จำลองพื้นที่ 3 ส่วน เริ่มจาก Sky Terminal จำลองบรรยากาศของสนามบินจริง ทั้ง Waiting Area, Check-in Area, VIP Lounge และ Boarding Gate เพื่อให้นักศึกษาฝึกปฏิบัติงานจริงในหน้าที่ต่างๆ

ส่วนที่ 2 Aircraft Cabin Mock-up เครื่องบินจำลองที่มีขนาดเทียบเท่าเครื่องบินจริง ขนาดกว้าง 5.6 เมตร ยาว 22 เมตร พื้นที่ใช้สอย125 ตารางเมตร แนวคิดการออกแบบเป็น Future Design ในอีก 10 ปีข้างหน้า และส่วนที่ 3 Ground Operations Training Room หรือห้องเรียนสำหรับการเรียนการสอนงานภาคพื้น ประกอบด้วย Catering, Flight Operations, Air Cargo และ Air Traffic Control

แน่นอนว่า ในเนื้อที่กว่า 50 ไร่ ซีพีออลล์มีศักยภาพรองรับการขยายธุรกิจการศึกษาอีกจำนวนมากและตลาดยังมีความต้องการสูง ในสถานการณ์ที่ภาครัฐยังไม่สามารถเพิ่มคุณภาพด้านการศึกษาได้อย่างแท้จริง

ระยะเวลากว่า 10 ปี PIM ผลิตบัณฑิตมากกว่า 12,000 คน ล่าสุดมีจำนวนนักศึกษา 4,000-5,000 คน ส่วนโรงเรียนสาธิต PIM จะเปิดการเรียนการสอนภาคแรกในระดับชั้นมัธยมปีที่ 1 อีก 5 ห้อง ห้องละ 35 คน รวม 175 คน และเมื่อเปิดครบถึงมัธยมปีที่ 6 จะมีนักเรียนมากกว่า 1,000 คน

ทั้งหมด ไม่ใช่เรื่องยากสำหรับซีพีกับการเปิดแนวรบธุรกิจการศึกษาที่มีโอกาสเติบโตอย่างรวดเร็วและเป็นตลาดที่มีเม็ดเงินมากกว่าแสนล้านด้วย

ใส่ความเห็น