วันจันทร์, พฤศจิกายน 25, 2024
Home > Cover Story > หนทางการพัฒนาของเนด้าใน CLMV เมื่อจีน-ญี่ปุ่น แผ่ขยายอิทธิพล

หนทางการพัฒนาของเนด้าใน CLMV เมื่อจีน-ญี่ปุ่น แผ่ขยายอิทธิพล

หลังการรวมตัวของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 ดูเหมือนว่ายิ่งจะเป็นการเพิ่มความน่าสนใจให้กับบรรดานักลงทุนต่างชาติไม่น้อย โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ CLMV ที่หมายถึง กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม

การมาถึงของนักลงทุนในกลุ่มประเทศดังกล่าว ไม่ใช่เพียงการมาแบบฉายเดี่ยวของนักลงทุน แต่เป็นนโยบายภาครัฐของประเทศนั้นๆ ที่ต้องการแผ่ขยายอิทธิพลทางการค้าเข้ามาในกลุ่มภูมิภาคลุ่มน้ำโขง โดยเฉพาะจีน และญี่ปุ่น

หากพิจารณาจากชั้นเชิงของทั้งสองประเทศมหาอำนาจของเอเชีย ดูจะอุดมไปด้วยยุทธศาสตร์ เสมือนว่ากำลังประลองสรรพกำลังกันบนกระดานหมากรุก และเป็นเกมที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องถึง 10 ปี

ขณะที่ชายแดนไทยเชื่อมต่อกับประเทศกลุ่มนี้กลับมีสัดส่วนการลงทุนที่น้อยกว่าประเทศมหาอำนาจทั้งสอง ทั้งที่ในช่วงหนึ่งญี่ปุ่นประสบปัญหาเศรษฐกิจอย่างหนัก แต่ยังมีการลงทุนนอกประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในประเทศไทย ที่มีนักลงทุนจากญี่ปุ่นมากเป็นอันดับ 1 ในบรรดานักลงทุนต่างชาติที่ตบเท้าเข้ามา

สิ่งที่น่าสนใจคือการมาของญี่ปุ่น ดูจะเป็นการเข้ามาคานอำนาจของจีนในกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง แต่เต็มไปด้วยกลยุทธ์ที่ต้องเรียกว่าน่าสนใจ คือมาพร้อมกับการให้ความสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้กับประเทศนั้นๆ เช่น การสร้างถนนที่เชื่อมต่อและเสริมสร้างศักยภาพของเส้นทางโลจิสติกส์ โดยมีหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญให้การสนับสนุน คือ ธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย หรือ ADB

พื้นที่เขตเศรษฐกิจทวายดูจะเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่บ่งบอกว่าญี่ปุ่นเดินหมากด้วยความแยบยลเพียงใด เพราะนอกจากการลงทุนในเขตเศรษฐกิจทวายในประเทศเมียนมาแล้ว ญี่ปุ่นยังสนับสนุนงบประมาณการก่อสร้างถนนจากบ้านพุน้ำร้อน จ.กาญจนบุรี ที่สามารถเดินทางเชื่อมต่อมายังทวายได้สะดวกยิ่งขึ้น แม้ว่าถึงปัจจุบันเขตเศรษฐกิจทวายจะยังมองหาความคืบหน้าที่ชัดเจนได้ยากนักก็ตาม

ขณะที่นโยบายรัฐบาลกลางของจีนดูจะมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการสร้างความเจริญที่จะเอื้อประโยชน์ให้กับประเทศตัวเอง ด้วยความต้องการที่จะยกระดับ “คุนหมิง” ให้เป็นเมืองหน้าด่านในการเป็นศูนย์กลางทางการค้าที่สำคัญ และยังวางตำแหน่งของคุนหมิงให้เป็นศูนย์กลางการเงินเพื่อนำเงินสกุลหยวนออกสู่อาเซียน

และการลงทุนของจีนกับลาวดูจะเป็นโครงการที่เป็นการตกลงกันระหว่าง “รัฐต่อรัฐ” โดยสร้างถนน หรือการสร้างโรงแรมซึ่งชนกับทุนไทย แต่ประเด็นที่น่าจับตามองคือการเข้ามามีบทบาทในการสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำที่อยู่ทางตอนบนของแม่น้ำโขง ที่หลายฝ่ายกำลังจับตาดูว่า จะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตผู้คนในภูมิภาคมากแค่ไหน และจะส่งผลอย่างไรต่อประเทศไทย

การขยายตัวของนักลงทุนจากประเทศจีนดูจะไม่หยุดเพียงแค่กลุ่มประเทศ CLMV เท่านั้น หากแต่ยังมีหมุดหมายสำคัญอยู่ที่ประเทศไทยด้วย โดยกลุ่มธุรกิจที่นักลงทุนจากจีนให้ความสนใจเป็นพิเศษคือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เมื่อนักท่องเที่ยวจากจีนเดินทางมาเที่ยวยังประเทศในอาเซียนค่อนข้างหนาตาและนับวันจะทวีจำนวนมากขึ้น

นักลงทุนจากจีนที่ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์นั้น มีทั้งรูปแบบที่ลงทุนเอง และร่วมทุนกับนักธุรกิจท้องถิ่น ทั้งนี้เพื่อเป็นการรองรับนักท่องเที่ยวจีน แม้ในมุมหนึ่งการลงทุนที่เพิ่มมากขึ้นจะเป็นข้อดีของประเทศนั้นๆ หากแต่เมื่อมองเม็ดเงินที่เข้ามากลับไม่ได้กระจายสู่ชุมชนหรือท้องถิ่นนั้นจริงๆ

การขยายอิทธิพลทางการค้า การลงทุนของจีนและญี่ปุ่นในกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขงที่นอกจากจะนำเม็ดเงินเข้ามาสู่ระบบเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ แล้ว ยังนำมาซึ่งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เสมือนของแถม บางโครงการเป็นการสนับสนุนแบบเงินให้เปล่า

ขณะที่ประเทศไทยมือประสานอย่างสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) (สพพ.) หรือ Neighbouring Countries Economic Development Cooperation Agency: NEDA ที่มีหน้าที่รับผิดชอบดำเนินการร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยให้ความช่วยเหลือด้านการเงินและด้านวิชาการเป็นกลไกในการขับเคลื่อนความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน 7 ประเทศ ได้แก่ ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม สาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา ราชอาณาจักรภูฏาน สาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเต

ระยะเวลากว่า 12 ปี ที่ NEDA มีภารกิจในการให้ความช่วยเหลือทางการเงินและทางวิชาการแก่ประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งสิ้น 72 โครงการ วงเงิน 15,730.47 ล้านบาท ประกอบด้วย ความช่วยเหลือทางการเงินในรูปแบบเงินกู้เงื่อนไขผ่อนปรนและเงินให้เปล่า เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายการดำเนินโครงการพัฒนาและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานจำนวน 23 โครงการ วงเงิน 15,466.28 ล้านบาท และความช่วยเหลือทางวิชาการในรูปแบบของเงินให้เปล่า เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการศึกษาความเหมาะสมและความเป็นไปได้ของโครงการ รวมถึงการออกแบบสำหรับงานก่อสร้างของโครงการต่างๆ ด้วย จำนวน 16 โครงการ วงเงิน 244 ล้านบาท

แม้คำอธิบายของเนวิน สินสิริ ผู้อำนวยการสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) ที่มักจะบอกว่าโครงการต่างๆ ที่ NEDA เข้าไปมีบทบาทนั้น เพื่อต้องการให้ประเทศในกลุ่มอาเซียนมีการพัฒนาและพร้อมที่จะก้าวมายืนแถวหน้าประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนได้

เมื่อดูจากพื้นที่และจำนวนโครงการที่ NEDA ได้สร้างผลงานเอาไว้กว่า 70 โครงการนั้น ชวนให้ค้นหาคำตอบว่า ยุทธศาสตร์แห่งการพัฒนาของ NEDA ที่มีต่อประเทศในกลุ่มลุ่มน้ำโขงจะเป็นไปอย่างไร เมื่อการขยายอิทธิพลทางการค้าของจีนและญี่ปุ่นที่ดูจะมากขึ้นเรื่อยๆ

แน่นอนว่าการพัฒนานั้นแม้จะเกิดขึ้นที่บริเวณชายขอบของประเทศไทย แต่ยังต้องสร้างประโยชน์ที่จะสะท้อนกลับเข้ามาในประเทศในระนาบเดียวกับที่จะเปิดประโยชน์ในประเทศนั้นๆ ด้วยเช่นกัน

และเมื่อเร็วๆ นี้ NEDA เปิดเผยถึงกรณีการเร่งเจรจาเงินกู้กับรัฐบาล สปป.ลาว ในเรื่องการก่อสร้างถนนหมายเลข 11 ภายใต้วงเงิน 1,800 ล้านบาท โดยต้องการสร้างเชื่อมต่อพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างของไทยไปยังเมืองเวียงจันทน์ สปป.ลาว

ถนนหมายเลข 11 หรือ R11 นั้น เป็นโครงการที่ NEDA เคยให้ความช่วยเหลือด้านการเงิน ซึ่งเป็นการก่อสร้างจากภูดู่ อ.บ้านโคก จ.อุตรดิตถ์ ไปยังเมืองปากลาย แขวงไซยะบุรี สปป.ลาว โดยโครงการเสร็จสิ้นไปแล้ว และสำหรับโครงการใหม่ที่จะเป็นการเชื่อมต่อที่ช่วงครกข้าวดอ-บ้านโนนสะหวัน-สานะคาม-บ้านวัง-บ้านน้ำสัง ซึ่งหากโครงการแล้วเสร็จน่าจะทำให้การเชื่อมต่อระหว่างภาคเหนือตอนล่างไปยังเวียงจันทน์ สปป.ลาว สะดวกมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ NEDA มองว่า การเชื่อมโยงเส้นทางเหล่านี้ไปยังประเทศเพื่อนบ้านจะเป็นการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ โดยการได้รับประโยชน์จากเส้นทางดังกล่าวจะเป็นไปในแบบคู่ขนาน ทั้งประชาชนไทยและเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะเรื่องการค้า การลงทุน ที่มีเส้นทางโลจิสติกส์เอื้ออำนวย

คงต้องจับตาดูกันต่อไปว่า เมื่อการขยายอิทธิพลทางการค้าและการลงทุนของจีนและญี่ปุ่นที่เข้ามายังกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง ที่มาพร้อมกับการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานแล้ว บทบาทของ NEDA ที่เคยมีต่อประเทศเพื่อนบ้านจะยังคงมีความสำคัญเช่นเดิมหรือในอนาคตจะถูกลดบทบาทลง และหากถูกลดบทบาทลงจะส่งผลกระทบอย่างไรต่อเศรษฐกิจในพื้นที่ชายแดนเขตติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านมากน้อยเพียงใด

ที่สำคัญต้องไม่ลืมว่า ไม่ได้มีเพียงแค่จีนและญี่ปุ่นเท่านั้นที่กำลังสยายปีกบนภูมิภาคนี้ หากแต่สิงคโปร์ เกาหลี ก็กำลังเริ่มทยอยวางหมากเข้ามาภูมิภาคนี้อย่างช้าๆ แต่ต่อเนื่อง

บทบาทของไทยจะยังคงมีบทบาทสำคัญ หรือเป็นตัวเอกของเกมนี้ต่อไปหรือรอวันถอยฉากเป็นผู้เล่นสมทบในเกมนี้คงต้องรอดู

ใส่ความเห็น