เบอร์นารด์ กุกเกนไฮม์ (Bernard Guggenheim) นายธนาคารชาวนิวยอร์ก แยกออกจากครอบครัวมาพำนักในปารีส ทำธุรกิจสร้างลิฟต์ ผลงานเด่นคือลิฟต์ของหอเอฟเฟล (Eiffel) แต่แล้วเดินทางไปกับเรือไททานิก (Titanic) จนเสียชีวิตในที่สุด ทิ้งสมบัติให้ลูก เพ็กกี้ กุกเกนไฮม์ (Peggy Guggenheim) ได้มรดกอีกส่วนหนึ่งจากลุงคือโซโลมอน อาร์. กุกเกนไฮม์ (Solomon R. Guggenheim)
เพ็กกี้ กุกเกนไฮม์เกิดในปี 1898 เดินทางไปมาระหว่างนิวยอร์ก ปารีส และลอนดอน ได้รู้จักกับอาร์ทิสต์อย่างกงสต็องแตง บรองกูซี (Constantin Brancusi) ฌอง ก็อกโต (Jean Cocteau) มาร์เซล ดูชองป์ (Marcel Duchamp) ซึ่งให้คำแนะนำเกี่ยวกับการสะสมงานศิลป์ เธอไปเปิดอาร์ตแกลเลอรีที่ลอนดอน ในบั้นปลายชีวิตไปพำนักที่เมืองเวนิสริมฝั่ง Grand Canal และให้ทำบ้านของตนเป็นพิพิธภัณฑ์
เพ็กกี้ กุกเกนไฮม์สะสมโมเดิร์นอาร์ต แอ็บสแทร็คและเซอร์เรียลิสต์ อันมีผลงานชิ้นเอกของปาโบล ปิกัสโซ (Pablo Picasso) จอร์จส์ บราค (Georges Braque) โฆอัน มิโร (Joan Miro) อัลแบร์โต จาโกเมตตี (Alberto Giacometti) อเล็กซานเดอร์ คัลเดอร์ (Alexander Calder) แจ็คสัน พอลล็อค (Jackson Pollock) กงสต็องแตง บรองกูซี (Constantin Brancusi) กาซิมีร์ มาเลวิตช์ (Kazimir Malevitch) มักซ์ เอิร์นสต์ (Max Ernst) มาร์เซล ดูชองป์ (Marcel Duchamp) เป็นต้น ผลงานที่เพ็กกี้ กุกเกนไฮม์สะสมอยู่ที่ Palazzo Venier dei Leoni ที่เวนิส ในแต่ละปีมีผู้เข้าชมถึง 400,000 คน พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของมูลนิธิโซโลมอน อาร์. กุกเกนไฮม์
งานศิลป์ที่เพ็กกี้ กุกเกนไฮม์สะสมมีมากมาย เธอกังวลว่าคอลเลกชั่นสะสมของเธอจะมีปัญหาหากเธอถึงแก่กรรม จึงมองหาผู้ที่จะมาบริหารพิพิธภัณฑ์ แม้จะมีสถาบันใหญ่เสนอตัว แต่เธอกลับเลือกแฮรี กุกเกนไฮม์ (Harry Gugenheim) ซึ่งเป็นผู้บริหารของมูลนิธิโซโลมอน อาร์. กุกเกนไฮม์และพิพิธภัณฑ์กุกเกนไฮม์ที่นิวยอร์ก ในปี 1969 เธอเขียนจดหมายไปถึงแฮรี บอกเจตนารมณ์ของเธอเกี่ยวกับการบริหารงานศิลป์สะสมของเธอ โดยเน้นว่างานศิลป์ทั้งมวลต้องเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์ที่เมืองเวนิสเท่านั้น ห้ามไม่ให้ยืมงานศิลป์บางชิ้น บางชิ้นห้ามหยิบยืมระหว่างเดือนพฤศจิกายนและอีสเตอร์ ห้องนอนของเธอต้องรักษาดุจเดิมพร้อมด้วยโมบายของอเล็กซานเดอร์ คัลเดอร์ แฮรีตอบจดหมายว่ายินดีที่ได้รับเกียรตินี้ แต่เขาต้องแจ้งให้คณะกรรมการบริหารของมูลนิธิทราบด้วย
เวลาผ่านไป จนมีการพบว่าการบริหารพิพิธภัณฑ์ที่เวนิสมิได้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของเพ็กกี้ กุกเกนไฮม์ ในทศวรรษ 1980 คอลเลกชั่นงานศิลป์ได้มีการให้ยืมไปตามพิพิธภัณฑ์อื่นๆ และที่พิพิธภัณฑ์เมืองเวนิสมีแต่งานศิลป์ชั้นรองลงไป อีกทั้งห้องนอนของเพ็กกี้ กุกเกนไฮม์และลูกสาวก็มีการเปลี่ยนแปลง โมบายของอเล็กซานเดอร์ คัลเดอร์ในห้องนอนของเธอหายไป จึงมีการฟ้องร้องกันในปี 1991 ปัญหาเกิดทันทีด้วยว่ามูลนิธิมีสัญชาติอเมริกัน ที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์อยู่ในอิตาลี และลูกหลานผู้ฟ้องร้องเป็นชาวฝรั่งเศส จึงมีการตกลงกันว่าให้มูลนิธิเป็นผู้จัดการให้เรียบร้อย
และแล้วเมื่อมีการจัดงาน Biennale de Vénise ในปี 2013 ลูกหลานของเพ็กกี้ กุกเกนไฮม์เดินทางไปเวนิส และต้องตกใจที่เห็นป้ายติดที่ตัวอาคารเป็นชื่อของสามีภรรยา Schulhof ซึ่งให้การสนับสนุนศิลปะ งานศิลป์ที่แสดงมีเพียง 94 ชิ้นใน 300 ชิ้นที่เป็นของเพ็กกี้ กุกเกนไฮม์ ในสวนซึ่งเป็นที่ฝังศพของเพ็กกี้ กุกเกนไฮม์และสุนัขของเธอสองตัว กลับมีชื่อของสามีภรรยา Nasher ยิ่งกว่านั้นยังมีการอนุญาตให้จัดงานเลี้ยงรับรองในพิพิธภัณฑ์บ่อยๆ อีกด้วย มูลนิธิโซโลมอน อาร์. กุกเกนไฮม์ได้แต่ตอบโต้ว่าจุดประสงค์ของเพ็กกี้ กุกเกนไฮม์ คือการโปรโมตโมเดิร์นอาร์ต ซึ่งเป็นสิ่งที่มูลนิธิทำอยู่
ด้านชีวิตส่วนตัวเพ็กกี้ กุกเกนไฮม์แต่งงานกับโลรองซ์ ไวย (Laurence Vail) มีลูกด้วยกันสองคน เธอใช้ชีวิตเสรี รักกับหนุ่มคนนั้นคนนี้ จนได้สมญานามว่า คาสซาโนวาหญิง
โซโลมอน อาร์. กุกเกนไฮม์ชอบสะสมงานศิลป์ จึงก่อตั้งมูลนิธิขึ้นมาในปี 1937 มูลนิธิเป็นผู้บริหารพิพิธภัณฑ์กุกเกนไฮม์ที่นิวยอร์ก เวนิส และบิลเบา