วันศุกร์, เมษายน 19, 2024
Home > Cover Story > Media Revolutionist ธงนำ “RS” บนดิจิตอลทีวี

Media Revolutionist ธงนำ “RS” บนดิจิตอลทีวี

 
ปี 2557 นับเป็นปีประวัติศาสตร์แห่งการปฏิวัติวงการโทรทัศน์ครั้งใหญ่ของเมืองไทย โดยมีสาเหตุหลักมาจากการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมโทรทัศน์จากระบบอนาล็อกสู่ระบบดิจิตอล ทำให้เกิดสถานีโทรทัศน์ระบบดิจิตอลซึ่งเป็นฟรีทีวีช่องใหม่ เพิ่มขึ้นมาถึง 24 ช่อง
 
แต่จะว่าไปแล้ว สมรภูมิดิจิตอลทีวีดูเหมือนจะเพิ่งเริ่มบรรเลงบทโหมโรงกันเมื่อต้นปีนี้เอง ขณะที่การเปิดฉากจริงของจอดิจิตอลทีวีทั้ง 24 ช่องจะ (ต้อง) เริ่มขึ้นภายในเดือนเมษายนนี้ แต่แค่เพียงเดือนแรก ก็มีผู้คร่ำหวอดในอุตสาหกรรมโทรทัศน์หลายรายที่มองว่า สมรภูมิดิจิตอลทีวีแห่งนี้อาจมีผู้รอดหลงเหลืออยู่เพียง 1 ใน 3 จากจำนวนเริ่มต้น 
 
สำหรับค่ายเพลงยักษ์ใหญ่อายุ 32 ปีอย่าง “อาร์เอส” ไม่เพียงแค่ตั้งเป้าให้เข้าไปอยู่ในกลุ่ม “ผู้รอด” แต่บริษัทยังตั้งเป้าจะก้าวขึ้นไปเป็น “เบอร์ 3” ของวงการดิจิตอลทีวีภายใน 3 ปี โดยชูกลยุทธ “Media Revolutionist” หรือ “ผู้ปฏิวัติวงการสื่อ” เพื่อขับเคลื่อนองค์กรไปสู่เป้าหมาย ภายใต้วิสัยทัศน์ใหม่คือการเป็น “บริษัทมีเดีย”  
 
ในงานแถลงทิศทางธุรกิจปี 2557 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมาว่า ปี 2557 สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. อาร์เอส เริ่มต้นด้วยการประกาศว่า ปีนี้ถือเป็นปีที่ท้าทายของอาร์เอส เพราะเป็นปีที่อาร์เอสจะเปลี่ยนถ่ายจากธุรกิจเพลงและบันเทิง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของบริษัท มาเป็นบริษัทมีเดีย (Media) ซึ่งมีธุรกิจทีวีดิจิตอลและทีวีดาวเทียมเป็นรายได้หลัก
  
อันที่จริง อาร์เอสได้เคยระบุไว้ในรายงานประจำปี 2555 ของบริษัท โดยยอมรับ ธุรกิจเพลงเป็นธุรกิจต้นน้ำ และมีรายได้รวมลดลง โดยที่ปีเดียวกัน ธุรกิจสื่อ ซึ่งประกอบด้วยธุรกิจทีวีดาวเทียมและฟรีทีวี (ปกติ) และธุรกิจวิทยุ ทำรายได้ให้กับบริษัทเป็นสัดส่วน 42% ซึ่งมากกว่าธุรกิจเพลงที่มีสัดส่วนลดลงเหลือเพียง 31% 
 
แต่นับจากปี 2557 ธุรกิจสื่อของอาร์เอส จะประกอบด้วยธุรกิจทีวีดิจิตอล ธุรกิจทีวีดาวเทียม และธุรกิจวิทยุ โดยอาร์เอสได้ถอนรายการออกจากสถานีโทรทัศน์ฟรีทีวีปกติทุกช่อง ตั้งแต่ปลายปี 2555 ซึ่งในปีนั้นเอง ธุรกิจทีวีดาวเทียมทำรายได้ให้อาร์เอสถึง 566 ล้านบาท เติบโตจากปีก่อนถึง 125%
 
แม้ปี 2556 ธุรกิจสื่อของอาร์เอสจะเหลือเพียงธุรกิจทีวีดาวเทียมกับธุรกิจวิทยุ แต่พรพรรณ เตชรุ่งชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บมจ. อาร์เอส แจ้งว่า ผลประกอบการของอาร์เอสในปีที่ผ่านมา จะออกมาดีเกินคาดเล็กน้อย อันเป็นผลจากการเติบโตจากการขึ้นอัตราค่าโฆษณาและการรักษาอัตราการใช้พื้นที่โฆษณา (utilization) ในช่องทีวีดาวเทียมของอาร์เอสให้อยู่ในระดับที่น่าพอใจได้ ส่งผลให้ผลการดำเนินงานปีที่แล้วของอาร์เอส ถือเป็นปีที่ดีที่สุดทั้งรายได้และกำไรตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทมา อันเป็นผลมาจากธุรกิจทีวีดาวเทียม 
 
ผู้บริหารสาวแห่งอาร์เอส เล่าย้อนความเป็นมาของธุรกิจทีวีดาวเทียมของบริษัทว่า เริ่มต้นมาตั้งแต่กลางปี 2552 ซึ่งตอนนั้นยังเป็นธุรกิจเล็กๆ มีเพียง 2 ช่อง ได้แก่ ช่อง You Channel ซึ่งเป็นช่องวาไรตี้สำหรับวัยรุ่น และช่องสบายดีทีวี ซึ่งเป็นช่องเพลงไทยหลากสไตล์ กระทั่งปี 2554 อาร์เอสเปิดตัว “Yaak TV” ช่องทีวีวาไรตี้ของวัยรุ่น ซึ่งต่อมาปรับเป็นช่อง Star Max และ “ช่อง 8” ซึ่งเป็นช่องละครและวาไรตี้  
 
ความสำเร็จอย่างสูงของช่อง 8 สามารถวัดออกมาเป็นตำแหน่ง “เบอร์ 1” ในด้านเรตติ้งของช่องวาไรตี้บนสมรภูมิทีวีดาวเทียม และผู้ครองแชมป์อัตราค่าโฆษณาสูงสุดของทีวีดาวเทียม ซึ่งอยู่ในช่วงซูปเปอร์ไพรม์ไทม์ของช่อง โดยเฉลี่ยสูงถึงนาทีละ 3 หมื่นบาท ความสำเร็จนี้ทำให้ผู้บริหารอาร์เอสเลือกนำช่อง 8 เข้ามาเป็น “แต้มต่อ” ในธุรกิจดิจิตอลฟรีทีวี  
 
“ณ วันที่เข้าสู่ตลาดทีวีดาวเทียม ต้องบอกว่า เราเหมือนเป็น “นักฉวยโอกาส” เพราะวันนั้น เราเห็นการเติบโตอย่างสูงของอัตราการรับชมทีวีผ่านดาวเทียม พอคิดกลับมาเป็นธุรกิจ มันก็เกื้อหนุนกับความชำนาญที่เรามีอยู่ แต่ตอนที่ต้องตัดสินใจเข้าสู่ตลาดทีวีดิจิตอล ช่วงแรกๆ เราไม่แน่ใจ แต่สุดท้ายที่เราตัดสินใจเข้ามาสู่เวทีนี้ เพราะเราเข้ามาในฐานะผู้นำในตลาดทีวีดาวเทียม ซึ่งถ้าไม่เข้ามาเราอาจกลายเป็นผู้เสียโอกาส” 
 
การเสียโอกาสที่ใหญ่ที่สุดคือ การป้องกันความเสี่ยงจากการพึ่งพิงแค่ธุรกิจทีวีดาวเทียม ซึ่งอายุใบอนุญาตมีเพียง 2 ปี ขณะที่ใบอนุญาตดิจิตอลทีวียาวถึง 15 ปี 
 
นอกจากนี้ยังหมายถึงการเสียโอกาสในการต่อยอดจาก “ชื่อชั้น” และการลงทุนที่บริษัททำไปแล้ว เพราะในขณะที่เจ้าของสถานีหลายราย ออกมาประกาศว่าพร้อมจะขาดทุนในช่วง 3-5 ปีแรก เพราะการทำช่องทีวีดิจิตอลต้องลงทุนสูง แต่สำหรับอาร์เอส บริษัทได้ลงทุนทั้งอุปกรณ์และการยกระดับคุณภาพการผลิตสำหรับทุกการแข่งขันมาก่อนแล้ว 
 
อีกทั้งศักดิ์ศรีของความเป็น “ผู้ชนะ” ในสนามทีวีดาวเทียม อันมาจากการศึกษาและเข้าใจตลาด ตกผลึกจนเป็นประสบการณ์ของอาร์เอสมาถึงวันนี้ พรพรรณเชื่อว่า นี่จะทำให้อาร์เอสเห็น “ข้อมูลเชิงลึก (Insight)” ของอุตสาหกรรมฯ  
 
“คนมักเข้าใจว่าเราก้าวมาสู่สนามที่ใหญ่ขึ้น แต่จริงๆ ตอนเป็นทีวีดาวเทียมเราก็ต้องแย่งคนดูจากฟรีทีวีอยู่แล้ว เพียงแต่ ผู้เล่นฟรีทีวีเขาไม่เห็นเราอยู่ในสายตา ฉะนั้นเรารู้สึกว่าการบริหารช่องก็เหมือนเดิม”
 
อย่างไรก็ดี สิ่งสำคัญที่ผู้บริหารอาร์เอสมองว่า องค์กรจำเป็นต้องปรับเพื่อยืนหยัดในเวทีดิจิตอลทีวี โดยเฉพาะเพื่อก้าวสู่ “เบอร์ 3” คือ วิธีคิดของคนทำงาน อันเป็นที่มาของกลยุทธ Media Revolutionist
 
“นัยของ Media Revolutionist คือในฐานะองค์กรขนาดกลางที่มีกลุ่มธุรกิจหลากหลายพอสมควร เวลาตั้งเป้าก็จำเป็นต้องตั้งให้ไกลและให้ทุกคนมองเป็นเป้าหมายที่ท้าทาย ฉะนั้น “แมสเสจ” จึงต้องแรง ซึ่งคำว่า “ปฏิวัติ” ก็ชัดเจนว่าหมายถึงการพลิกที่เห็นการเปลี่ยนแปลงชัดเจน” 
 
จากทิศทางปีก่อนที่มีทั้ง Media Content Multi Network การชูธงสู่การเป็น Media Revolutionist จึงสร้างความชัดเจนถึงจุดยืนที่ว่า อาร์เอสกำลังก้าวสู่การเป็น Media House ที่ต้องการปฏิวัติตัวเองจากรูปแบบเดิมๆ และจากตลาด  
 
“เวทีดิจิตอลทีวี การแข่งขันสูงมากแน่นอน แต่เราจะพูดตลอดว่า เราไม่กลัวการแข่งขัน เพราะเราคือการแข่งขัน  ตั้งแต่ 5 ปีที่แล้ว ที่เราเข้าสู่ตลาดทีวีดาวเทียม เราก็มาทีหลังคนอื่น การมาทีหลังและไม่ใช่รายใหญ่ ทำให้เราต้องมีมุมมองใหม่ที่แตกต่าง ซึ่งจะเป็นปัจจัยความสำเร็จในตลาดที่มีคนอื่นเคยเดินและมีรายใหญ่ที่มีหน้าตักหนากว่า” 
 
ทั้งนี้ “ความท้าทาย” ตามนัยของพรพรรณ ถูกแทนค่าด้วยเป้าหมายที่เป็นรูปธรรม ได้แก่ เป้าหมายกำไรอย่างน้อย 80 ล้านบาทในธุรกิจทีวีดิจิตอลตั้งแต่ปีแรก ขณะที่เป้ารายได้รวมของปี 2557 คือ 5 พันล้านบาท เติบโตจากปีที่แล้ว 43% ส่วนเป้ากำไรสุทธิปี 2557 อยู่ที่ 600 ล้านบาท โดยธุรกิจสื่อ ซึ่งประกอบด้วย ทีวีดิจิตอล ทีวีดาวเทียม และวิทยุ จะมีสัดส่วนรายได้เป็น 73% ของรายได้รวม
 
“เฉพาะดิจิตอลทีวีอย่างเดียว ปีนี้คาดว่าช่อง 8 อาจจะทำได้สัก 20% ของธุรกิจสื่อ แต่ต่อไป รายได้ตรงนี้ต้องใหญ่ขึ้นมาก อีกสัก 5 ปี เราวางตัวเลขไว้ว่า ช่อง 8 จะทำได้ 5 พันล้านบาท หรือเท่ากับรายได้ของทั้งบริษัท ณ วันนี้” 
 
ขณะที่เป้าหมายในการก้าวขึ้นมาสู่อันดับ 3 ของสนามทีวีดิจิตอลภายใน 3 ปี พร้อมกับสัดส่วนรายได้ของกลุ่มสื่อต้องอยู่ที่ราว 90% จะทำให้ภาพการเป็น “บริษัทมีเดีย” ของอาร์เอสสมบูรณ์ 
 
“ทำไมต้อง 3 ปี เพราะจริงๆ 3 ปีก็น่าจะเห็นแล้วว่าเราจะอยู่มุมไหนของสนาม คือถ้า 3 ปีแล้ว เราไม่เห็นว่าตัวเองอยู่ตรงมุมไหน มันก็น่าจะแพ้” สอดคล้องกับมุมมองของ “เฮียฮ้อ” ที่ว่า หลังเกิดทีวีดิจิตอล 3 ปี น่าจะได้เห็นแล้วว่าใครจะสามารถอยู่รอดได้ในธุรกิจนี้ และใครบ้างที่จะต้องล้มหายตายจากไป 
 
นอกจากจะเป็น “เบอร์ 3” ในสนามดิจิตอลทีวี อาร์เอสยังตั้งเป้าที่จะครองความเป็นผู้นำในตลาดทีวีดาวเทียมต่อเนื่อง โดยพัฒนา “ช่อง 2” ซึ่งปรับจากช่อง Star Max เดิมให้เป็น “fighting brand” ในสมรภูมิทีวีดาวเทียมให้กับช่อง 8 และดำเนินการช่องทีวีดาวเทียมช่องอื่นต่อ เพราะมองว่าทั้ง 2 แพลตฟอร์มสามารถเอื้อประโยชน์กันได้ (synergy) ทั้งแง่การลงทุน แง่คอนเทนต์ และการหารายได้จากค่าโฆษณา
 
พรพรรณยอมรับว่า วันนี้ อาจจะดูเหมือนอาร์เอส ซึ่งเป็นบริษัทขนาดกลาง กลับดูไม่กังวลหรือหนักใจกับการเป็น “ผู้เล่น” ในสนามฟรีดิจิตอลทีวีที่แม้จะมีเม็ดเงิน “รีเทิร์น” สูงแต่ก็มีการแข่งขันที่สูงมากจนทั้งนี้เธอบอกว่าเป็นเพราะอาร์เอสเคยต้องเหนื่อยกว่านี้มาก เมื่อครั้งที่ต้องสู้เพื่อให้ธุรกิจเพลงรอดจากการล้มลงเมื่อหลายปีก่อน 
 
“ตอนนั้น มันยากกว่านี้เยอะ เพราะไม่มี “พื้นที่ใหม่” ให้ไป เราต้องปรับตัวเพื่อ “เปลี่ยน” เพื่อให้ทันกับผู้บริโภค แต่วันนี้ มันไม่ใช่การหนีตาย แต่เป็นการนำพา (carry) ความสำเร็จจากสนามหนึ่งไปสู่อีกสนามที่ใหญ่ขึ้น มันควรสนุกขึ้น” แม่ทัพหญิงแห่งอาร์เอสทิ้งทาย
 
แค่การโหมโรงก่อนเปิดม่านสมรภูมิทีวีดิจิตอลอย่างเป็นทางการ “ผู้เล่น” ขนาดกลางยังมีสีสันและ “ลูกเล่น” ขนาดนี้ คงต้องจับตาดูว่า “รายใหญ่” ในวงการทีวีจะงัด “ไม้เด็ด” อะไรมาทำให้สนามรบแย่งชิงเรตติ้งแห่งนี้ร้อนแรงและน่าติดตามยิ่งขึ้น