วันพฤหัสบดี, มกราคม 16, 2025
Home > Cover Story > 70 ปี สยามกลการ จุดเปลี่ยนผ่านจากรุ่นสู่รุ่น

70 ปี สยามกลการ จุดเปลี่ยนผ่านจากรุ่นสู่รุ่น

การแถลงข่าวของบริษัท Rever Automotive จำกัด ที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันนี้ ภายใต้การกุมบังเหียนของผู้บริหารรุ่นใหม่ไฟแรงอย่าง นายประธานวงศ์ พรประภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เพื่อประกาศว่าบริษัทได้เป็นผู้จัดจำหน่ายและให้บริการหลังการขายกลุ่มรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในไทยอย่างเป็นทางการให้แก่บริษัท บีวายดี ออโต้ อินดัสทรี จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียน 156 ล้านบาท

นั่นทำให้ชื่อของกลุ่มพรประภากลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้ง นั่นเพราะ ประธานวงศ์ พรประภา ถือเป็นทายาทรุ่นที่สามของกลุ่มพรประภา ผู้ให้กำเนิดบริษัทสยามกลการ จำกัด

แม้ ประธานวงศ์ พรประภา จะมีธุรกิจอีกหลายอย่างที่เจ้าตัวดูแลและกำกับด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจโรงแรม หรือธุรกิจนำเข้าสินค้าจากประเทศฝรั่งเศส แต่การวนเวียนอยู่ในธุรกิจยานยนต์อาจเกิดจากการบ่มเพาะจากรุ่นสู่รุ่น

หากย้อนดูประวัติความเป็นมาของบริษัท สยามกลการ จำกัด และการปูทางของคนรุ่นก่อนนับว่าน่าสนใจไม่น้อย

4 กันยายน 2495 ที่ ดร. ถาวร พรประภา ตัดสินใจแยกตัวจากธุรกิจของพ่อที่ร้าน “ตั้งท่งฮวด” ซึ่งทำธุรกิจค้าขายเครื่องจักรอะไหล่เก่าในย่านเชียงกง ออกมาตั้งบริษัท สยามกลการ จำกัด โดยเริ่มจากอาคาร 5 ชั้น และมีพนักงานเพียง 20 คนในเวลานั้น

โดยเริ่มต้นธุรกิจจากการค้าของเก่า นำเข้าของใหม่มาจำหน่าย รวมถึงการขายรถสหประชาชาติที่เคยทำอยู่ก่อนหน้า จากนั้น ดร. ถาวรเจรจาเพื่อขอเป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์นิสสันแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย กับคณะทูตทางการค้าของญี่ปุ่น ถือเป็นก้าวแรกที่สำคัญ

7 ปีแรกที่เริ่มดำเนินธุรกิจค้ารถนิสสัน บริษัท สยามกลการประสบปัญหาขาดทุนมาอย่างต่อเนื่อง ทว่าการต่อสู้ของ ดร. ถาวร ยังคงดำเนินไปเช่นกัน การพบกับ มร. คาวามาตา ประธานบริษัท นิสสัน มอเตอร์ ประเทศญี่ปุ่น ในเวลานั้น เพื่อขอความช่วยเหลือและร่วมวางนโยบายการค้าใหม่ ด้วยการให้ลูกค้าเช่าซื้อระยะยาวและเปิดเครดิตให้มากขึ้น พร้อมตั้งอู่ซ่อมรถและขายอะไหล่นิสสันให้เพียงพอกับความต้องการ นั่นส่งผลให้กิจการของสยามกลการค่อยๆ ดีขึ้นตามลำดับ

ความมุ่งมั่นของผู้ก่อตั้งสยามกลการไม่ได้ยุติเพียงแค่นั้น เมื่อ ดร. ถาวรเล็งเห็นว่า หากสามารถผลิตรถนิสสันในประเทศไทยเองได้ การทำธุรกิจน่าจะมีภาษีดีขึ้นกว่าเดิม จึงได้เริ่มเจรจากับบริษัท นิสสัน มอเตอร์ ประเทศญี่ปุ่น เพื่อขอตั้งโรงงานประกอบรถยนต์นิสสันในประเทศไทย และได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี กระทั่งเปิดโรงงานประกอบรถยนต์นิสสันแห่งแรกที่ซอยศรีจันทร์ สุขุมวิท 67 ภายใต้ชื่อ บริษัท สยามกลการและนิสสัน จำกัด

ในเวลานั้นกำลังการผลิตรถยนต์สามารถทำได้เพียงวันละ 4 คัน หรือ 120 คันต่อเดือนในปี 2013 ส่งผลให้ตลาดรถยนต์นิสสันในไทยขยายวงกว้างมากขึ้นจนต้องเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 650 คันต่อเดือนในอีก 11 ปีต่อมา หรือในปี 2514

นอกจากการตั้งโรงงานประกอบรถยนต์นิสสันแล้ว ดร. ถาวรยังเพิ่มโอกาสทางธุรกิจของตัวเองด้วยการตั้งบริษัท สยามยามาฮ่า จำกัด เพื่อผลิตรถจักรยานยนต์ โดยขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากภาครัฐ และร่วมหุ้นกับบริษัท ยามาฮ่ามอเตอร์ จำกัด ประเทศญี่ปุ่น ในเวลานั้นสยามกลการถือหุ้นใหญ่ 70% และอีก 30% เป็นของยามาฮ่ามอเตอร์ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งคอยให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิคการผลิต การจัดฝึกอบรมเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แรงงานไทย

การสยายปีกของสยามกลการยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่องในเวลานั้น กระทั่งรัฐบาลปรับปรุงนโยบายอุตสาหกรรมยานยนต์ในปี 2514 ในประเด็นที่ว่า การประกอบยานยนต์จะต้องใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศไม่น้อยกว่า 25% พร้อมทั้งมีการขึ้นภาษีนำเข้าชิ้นส่วนต่างๆ เพื่อลดการขาดดุลการค้ากับต่างประเทศ

นโยบายดังกล่าวเป็นผลให้สยามกลการกลายเป็นผู้ปฏิวัติอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ด้วยการเปิดโรงงานผลิตชิ้นส่วนตัวถังรถยนต์แห่งแรกของประเทศไทยที่ใหญ่ที่สุดในขณะนั้น แน่นอนว่า การได้รับถ่ายทอดเทคโนโลยีจากบริษัทสัญชาติญี่ปุ่น และการพัฒนาของสยามกลการในเวลานั้นทำให้สามารถออกแบบแม่พิมพ์และผลิตแม่พิมพ์ส่งให้โรงงานประกอบรถยนต์แห่งอื่นได้

จากมูลเหตุปัจจัยข้างต้นทำให้สยามกลการขยายธุรกิจที่เริ่มจากการค้ารถยนต์ใหม่และเก่าสู่การเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์อย่างเต็มตัว ทั้งการตั้งโรงงานประกอบรถยนต์ รถจักรยานยนต์ รวมไปถึงการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์

กระทั่งในปี 2530 สยามกลการมีเครือข่ายธุรกิจมากถึง 37 บริษัท ครอบคลุมอุตสาหกรรมยานยนต์จนครบวงจร ควบคู่ไปกับธุรกิจด้านอื่น โดยแบ่งธุรกิจของสยามกลการออกเป็น 5 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มอุตสาหกรรมการผลิต 2. บริษัทการค้า 3. กลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว 4. กลุ่มธุรกิจดนตรีและดนตรีศึกษา 5. กลุ่มสถาบันการเงินและประกันภัย

เป็นธรรมดาของการทำธุรกิจที่มักจะประสบกับปัญหาทั้งปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก อย่างการชะลอตัวของเศรษฐกิจ บริษัทในเครือของสยามกลการขาดทุนอย่างหนัก นั่นทำให้ ดร. ถาวรดึงตัวนายนุกูล ประจวบเหมาะ เข้ามาช่วยบริหารเพื่อกอบกู้สถานการณ์ทางการเงิน และใช้เวลาเพียงไม่นานสถานการณ์ทางด้านการเงินของสยามกลการก็กลับเข้าสู่ภาวะปกติ

กระทั่ง ดร. ถาวร ตัดสินใจวางมือเนื่องจากอายุมากขึ้นและปัญหาสุขภาพ และส่งต่อหน้าที่กุมบังเหียนให้ผู้เป็นลูกอย่างคุณหญิงพรทิพย์ ณรงค์เดช เข้ามาดูแล

ยุคสมัยของสยามกลการในมือของคุณหญิงพรทิพย์นั้นมุ่งเน้นส่งเสริมภาพลักษณ์ของบริษัทให้ดีขึ้น ด้วยโครงการต่างๆ ทั้งการรณรงค์การใช้รถใช้ถนน หรือการจัดให้มีการประกวดร้องเพลงระดับประเทศ ภายใต้ชื่อ นิสสันอวอร์ด และยามาฮ่า อวอร์ด หรือที่รู้จักกันในชื่อ การประกวดร้องเพลงสยามกลการ

กระทั่งปี 2538 ที่มีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงอีกครั้ง เมื่อ ดร. พรเทพ พรประภา น้องชายของคุณหญิงพรทิพย์ได้รับมอบหมายให้เข้ามาบริหารงานสยามกลการ ความถึงลูกถึงคนของพรเทพ ทำให้รูปแบบการบริหารงานเปลี่ยนแปลง เริ่มจากการยกเลิกระบบสาขาของนิสสัน และปรับมาเป็นระบบดีลเลอร์ ถึงขนาดยอมขายพอร์ตหนี้สินแบบขาดทุนเพื่อแก้ปัญหาหนี้เสีย

การปรับเปลี่ยนระบบการบริหารงาน การแก้ปัญหาหนี้สิน ก่อนที่ไทยจะประสบกับปัญหาเศรษฐกิจยุคฟองสบู่ ซึ่งทำให้สยามกลการได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ฟองสบู่แตกไม่มากนัก เพราะหากยังคงลูกหนี้ไว้ในเวลานั้น ความเสียหายที่สยามกลการต้องแบกรับอาจจะสูงถึงหมื่นล้านบาท

นอกจากนี้ การบริหารแบบฮาร์ดคอร์ของพรเทพยังสร้างความตื่นตกใจไม่น้อย เมื่อมีการประกาศขายหุ้นของนิสสันให้กับนิสสัน มอเตอร์ ประเทศญี่ปุ่น โดยให้นิสสันมอเตอร์ถือหุ้นใหญ่ 75% แทนสยามกลการ ในเวลานั้น ค่ายรถยนต์อื่นๆ ต่างให้บริษัทแม่เข้ามาดำเนินงานเอง เมื่อการแข่งขันค่อยๆ สูงขึ้น

การสร้างยอดพีระมิดของธุรกิจกงสีไม่ใช่เรื่องง่าย ทว่า การปรับเปลี่ยนทัศนคติในการทำงานใหม่ให้เข้ากับยุคสมัยของโลกที่เปลี่ยนไปของ ดร. พรเทพ พรประภา ที่ปูทางสำหรับคนรุ่นใหม่ในตระกูลให้ได้เรียนรู้ และพร้อมส่งมอบสยามกลการไปสู่เจน 3 เรียบร้อยแล้ว

ปัจจุบัน ดร. พรเทพ พรประภา ในวัย 73 ปี ยกหน้าที่การบริหารธุรกิจในเครือสยามกลการให้ผู้เป็นลูกเข้ามาดูแล โดยกลุ่มธุรกิจด้านการศึกษา ดนตรี อย่าง โรงเรียนดนตรียามาฮ่า สถาบันดนตรียามาฮ่า ประนัปดา พรประภา เป็นผู้บริหารงาน ขณะที่ นายประกาสิทธิ์ พรประภา ดูแลธุรกิจชิ้นส่วนอะไหล่-รถยนต์ ส่วนธุรกิจอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลหนัก นายประณิธาน พรประภา เป็นผู้ดูแล

แม้ว่าสยามกลการจะมีบทบาทลดลงในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ทว่า ชื่อชั้นและความสำคัญของธุรกิจในเครือที่ต้นตระกูลสร้างไว้ยังคงอยู่จนถึงปัจจุบัน ทายาทในรุ่นที่ 3 ของ ดร. พรเทพ พรประภา กำลังทำหน้าที่บริหารธุรกิจที่บรรพบุรุษสร้างไว้ ในขณะที่ทายาทของ นายพรพินิจ พรประภา ที่บริหารธุรกิจโรงแรมของตระกูล อย่างนายประธานวงศ์ พรประภา กำลังจะสร้างหน้าประวัติศาสตร์ในธุรกิจยานยนต์ใหม่อีกครั้งด้วยการเป็นผู้จัดจำหน่ายรถยนต์ BYD ในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ซึ่งเป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่กำลังได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน

ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ภายใต้การดูแลของคนรุ่นใหม่ของกลุ่มพรประภาที่ถูกฟูมฟัก เรียนรู้การบริหารงานจากรุ่นสู่รุ่น จะเป็นเช่นไรคงต้องรอดู.

ใส่ความเห็น