วันเสาร์, เมษายน 20, 2024
Home > Life > โมริซ อูทรีโย

โมริซ อูทรีโย

 

การเดินเล่นย่านมงต์มาร์ทร์ (Montmartre) เสมือนการเดินตามรอยอาร์ทิสต์ดัง ประเดี๋ยวๆ ก็เจอป้ายอธิบายว่า ณ ที่ตรงนี้วินเซนต์ วาน โก๊ก (Vincent Van Gogh) เคยมาเขียนรูป บ้านนี้เคยเป็นสตูดิโอทำงานของปาโบล ปิกัสโซ (Pablo Picasso) บ้านโน้นปิแอร์-โอกุสต์ เรอนัวร์ (Pierre-Auguste Renoir) เคยมาพำนัก ตามมาด้วยเอดการ์ เดอกาส์ (Edgar Degas) ราอูล ดูฟี (Raoul Dufy) โอตง ฟรีซ (Othon Friesz) และโมริซ อูทรีโย (Maurice Utrillo) แม้ชาวอเมริกันเห็นว่าปารีสมิใช่ศูนย์กลางของ “วัฒนธรรม” อันรวมถึงศิลปะอีกต่อไปแล้ว หากอาร์ทิสต์จากประเทศต่างๆ ก็ยังมุ่งมาปารีส หมายที่จะ “เกิด” เฉกเช่นอาร์ทิสต์รุ่นก่อนๆ นอกจากนั้นย่านมงต์มาร์ทร์ยังจัดสุดสัปดาห์เปิดบ้านอาร์ทิสต์ ทำให้ตระหนักความจริงข้อนี้

Pinacothèque de Paris จัดนิทรรศการศิลป์อยู่เนืองๆ ไม่เคยสนใจไปชม มองจากตัวอาคารด้านนอกไม่น่าจะกว้างขวาง จึงพลาดนิทรรศการดีๆ หลายครั้ง ต่อเมื่อ Pinacothèque de Paris จัดนิทรรศการของเอดวาร์ด มุงค์ (Edvard Munch) จึงขอไปชม ด้วยว่าจิตรกรผู้นี้เป็นข่าวอยู่เนืองๆ ผลงานเป็นที่พิสมัยของพวกโจร ภาพแต่ละภาพไม่เห็นน่าจะโจรกรรม นั่นเป็นความคิดของตนเอง จึงจำต้องไปชมให้เป็นที่ประจักษ์

เอดวาร์ด มุงค์มีชีวิตรันทด เห็นความเจ็บป่วยและความพลัดพรากมาตั้งแต่เด็ก จึงไม่แปลกที่ภาพเขียนส่วนหนึ่งจะสะท้อนออกมา ไม่ว่าจะเป็นความเจ็บป่วยหรือความตาย ถึงกระนั้นก็มีผลงานที่สดชื่น เมื่อชมจบแล้ว บอกตนเองว่าชอบเอดวาร์ด มุงค์

ในปี 2009 Pinacothèque de Paris จัดนิทรรศการ Suzanne Valadon, Maurice Utrillo จิตรกรสองแม่ลูกที่ใช้ชีวิตในย่านมงต์มาร์ทร์

ซูซาน วลาดงเป็นลูกไม่มีพ่อ แม่เป็นช่างซักรีดที่พาลูกสาวมาปักหลักในย่านมงต์มาร์ทร์ ส่งลูกไปเรียนโรงเรียนแม่ชี แต่มารี-เคลมองตีน (Marie-Clémentine) กลับหนีออกมาเขียนรูปบนทางเท้า เมื่อเติบโตเป็นสาวสวย จึงไปเป็นนางแบบให้จิตรกรดังทั้งหลาย เริ่มจากปูวิส เดอ ชาวานส์ (Puvis de Chavannes) และมีสัมพันธ์กัน ต่อมาเป็นแบบให้ปิแอร์-โอกุสต์ เรอนัวร์ (Pierre-Auguste Renoir) และอองรี เดอ ตูลูซ-โลเทรก (Henri de Toulouse-Lautrec) มารี-เคลมองตีนเป็นนางแบบให้อาร์ทิสต์คนไหน แถมบริการนอนให้ด้วย ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นซูซาน วลาดง เอานามสกุลผู้อื่นมาใช้แม้เจ้าของนามสกุลจะไม่พอใจก็ตาม พออายุ 18 ปี ซูซาน วลาดงให้กำเนิดโมริซ (Maurice) และให้ใช้นามสกุล อูทรีโย (Utrillo) ซึ่งเป็นนามสกุลของนักหนังสือพิมพ์ชื่อมิเกล อูทรีโย (Miguel Utrillo) ที่มาหลงรักเธอ และเช่นเดียวกับแม่ โมริซ อูทรีโยไม่ทราบว่าใครเป็นพ่อ

ซูซาน วลาดงไม่เคยดูแลลูกชาย ปล่อยให้เป็นภาระของแม่ของเธอ เพราะต้องไปเป็นแบบให้อาร์ทิสต์ เธอเริ่มหัดเขียนรูป ภาพเขียนของเธอสวยจนเอดการ์ เดอกาส์ต้องยอมรับ ในที่สุดเธอแต่งงานกับปอล มูซิส (Paul Mousis) พนักงานธนาคารชาติและย้ายมาอยู่ที่ถนนกอร์โตท์ (rue Cortot) ในย่านมงต์มาร์ทร์นั่นเอง

ส่วนโมริซ อูทรีโยเป็นเด็กที่มีการพัฒนาช้า พ่อเลี้ยงส่งไปเข้าโรงเรียนเอกชนและเช่าบ้านให้อยู่กับยาย หากเด็กชายกลับชอบตุหรัดตุเหร่ตามท้องถนนและมีเหล้าเป็นเพื่อน เขาเป็นโรคพิษสุราเรื้อรังเมื่ออายุ 14 ปี เขาเข้าทำงานในธนาคารแห่งหนึ่ง ทว่าถูกไล่ออกเพราะทำร้ายเพื่อนร่วมงาน ชีวิตว่างเปล่าทำให้โต๋เต๋ไปมาระหว่างถนนกอร์โตท์ (rue Cortot) และถนนมงต์มาญี (rue Montmagny)ในที่สุดเข้ารับการบำบัดโรคจิตอันสืบเนื่องจากพิษสุราเรื้อรังขณะอายุ 21 ปี

เมื่อออกจากสถานบำบัด โมริซ อูทรีโยได้พบกับอองเดร อุตเตอร์ (André Utter) ซึ่งเคยเรียนใน Ecole des beaux-arts จึงทำให้เขาเริ่มเขียนรูป เมื่อโมริซ อูทรีโยพาอองเดร อุตเตอร์มาบ้าน ซูซาน วลาดงหลงรักหนุ่มอายุคราวลูกทันที ขอหย่าจากสามีและใช้ชีวิตร่วมกับเพื่อนของลูกชาย

โมริซ อูทรีโยรู้สึกราวกับถูกแม่และเพื่อนทรยศ จึงหันเข้าหาเหล้าอีก แต่ยังคงเขียนรูปต่อไป โดยเขียนรูปถนนต่างๆ ในย่านมงต์มาร์ทร์นั่นเอง ขายรูปได้ เอาเงินไปซื้อเหล้า แม่ต้องไปตามลูกชายกลับบ้าน ในขณะเดียวกันก็วุ่นวายใจเพราะอองเดร อุตเตอร์นอกใจไปมีสาวอื่น จึงเร่งเขียนรูปหาเงินมาปรนเปรอหนุ่มเพื่อแลกกับความภักดี หากผลงานของเธอยังไม่เป็นที่ยอมรับ ในขณะที่ผลงานของโมริซ อูทรีโยที่แขวนติดผนังในร้านอาหารหรือร้านเหล้าเริ่มมีพ่อค้างานศิลป์สนใจ หนึ่งในนั้นคือหลุยส์ ลิโบด (Louis Libaude) ซึ่งขอให้เขาเขียนรูปแลกกับเงิน 300 ฟรังก์ต่อเดือน หากโมริซ อูทรีโยต้องเข้ารับการบำบัดโรคจิตในปี 1912 เขาหนีออกมาในชุดนอนในปี 1918

ผลงานของโมริซ อูทรีโยสูงค่าขึ้น เขาเฝ้าแต่เขียนรูป โดยอองเดร อุตเตอร์นำไปขาย ในปี 1928โมริซ อูทรีโยได้รับอิสริยาภรณ์ Légion d’honneur ซูซาน วลาดงเป็นห่วงลูกชาย จึงจัดการให้แต่งงานกับลูซี วาลอร์ (Lucie Valore) ซึ่งเคยเป็นนักแสดงละครและเขียนรูปในวันหยุด ลูซีมอบหมายให้ปอล เปทรีแดส (Paul Pétridès) เป็นผู้ขายผลงานของสามีแต่เพียงผู้เดียวตั้งแต่ปี 1937

ซูซาน วลาดงเสียชีวิตในปี 1938โมริซ อูทรีโยไม่ยอมไปงานศพเพราะทำใจไม่ได้ เขายังคงผลิตผลงานต่อไป ร่วมกับซาชา กีทรี (Sacha Guitry) ทำภาพยนตร์เรื่อง Si Paris nous était conté และเสียชีวิตกะทันหันในปี 1955 ขณะอายุ 72 ปี ร่างของเขาฝังที่สุสานแซงต์-แวงซองต์ (Saint-Vincent) ในย่านมงต์มาร์ทร์ ทิ้งผลงานไว้ประมาณ 6,000 ชิ้น

ภาพเขียนของเขาทุกภาพมีอักษร V อยู่ด้วย กล่าวคือ Maurice Utrillo-V อักษร V ย่อมาจาก Valadon

ในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2010 มีการนำภาพเขียนของโมริซ อูทรีโยซึ่งปอล เปทรีแดส สะสมไว้ออกขายประมูล เป็นผลงานระหว่างปี 1908-1950 คาดว่าจะได้เงินประมาณ 3.5-5.2 ล้านยูโร เฉพาะภาพ Rue Tholoze à Montmartre ประเมินราคาไว้ที่ 190,000 – 250,000 ยูโร

ปอล เปทรีแดสเป็นชาวไซปรัส สนใจงานศิลป์เมื่อทำงานกับมาเซลลา (Mazella) ช่างตัดเสื้อผู้ชายซึ่งมีภาพเขียนของโมริซ เดอ วลาแมงค์ (Maurice de Vlaminck) ปาโบล ปิกัสโซ (Pablo Picasso) ฟูจิตะ (Fujita) และโมริซ อูทรีโย มาเซลลาจึงชักพาให้ปอล เปทรีแดสรู้จักกับนักสะสมงานศิลป์ เพื่อนของอองเดร อุตเตอร์เป็นผู้พาเขาไปรู้จักบ้านของโมริซ อูทรีโย

ผลงานของโมริซ อูทรีโยต้องใจพิพิธภัณฑ์และนักสะสมชาวต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวอเมริกันและญี่ปุ่น หากดูเหมือนว่าไม่โดนใจชาวฝรั่งเศสนัก