วันเสาร์, เมษายน 20, 2024
Home > Recreation > Well-Being > นวดตัวเอง–กระตุ้นภูมิคุ้มกัน

นวดตัวเอง–กระตุ้นภูมิคุ้มกัน

 

คงไม่ปฏิเสธกันว่า เราผจญกับสภาพอากาศแปรปรวนกันถ้วนหน้า บางวันเหมือนมี 3 ฤดูในวันเดียว คือทั้งหนาวเย็น ร้อน และฝน จึงต้องดูแลสุขภาพให้แข็งแรงมากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ที่ไม่น่าเชื่อคือ การนวดตัวเองอย่างเบามือเพื่อกระตุ้นการทำงานของต่อมน้ำเหลือง สามารถเสริมภูมิคุ้มกันให้ร่างกายแข็งแรง ต่อสู้กับโรคร้ายที่มากับความแปรปรวนและความหนาวเย็นของอากาศได้
 
Charlotte Michael Versagi ผู้เชี่ยวชาญการนวดและผู้เขียนตำราว่าด้วยการนวดทางการแพทย์อธิบายว่า การนวดกระตุ้นต่อมน้ำเหลืองช่วยขจัดสารพิษออกจากร่างกาย และเสริมระบบภูมิคุ้มกันได้เป็นอย่างดี เธอแนะนำให้นวดตัวเองเมื่อรู้สึกว่ากำลังจะเป็นหวัด “คุณจะมีอาการหวัดหรือไข้หวัดใหญ่รุนแรงมากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับความแข็งแกร่งของระบบภูมิคุ้มกันของคุณเองเป็นสำคัญ”
 
การมีระบบต่อมน้ำเหลืองที่แข็งแรง หมายถึงการที่ต่อมน้ำเหลืองสามารถผลิตเซลล์เม็ดเลือดขาวออกมาต่อสู้กับเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกาย หลังจากนั้นร่างกายมีระบบขับของเสียที่เกิดจากการต่อสู้ของเม็ดเลือดขาวกับเชื้อโรคผ่านทางท่อน้ำเหลืองใต้ผิวหนังที่มีอยู่มากมาย
การนวดตัวเองสามารถเสริมภูมิคุ้มกันด้วยการกระตุ้นการทำงานของต่อมน้ำเหลือง และช่วยเร่งกระบวนการขจัดของเสียออกทางท่อน้ำเหลือง 
 
ที่สำคัญเป็นการนวดอย่างเบามือ ใช้เพียงน้ำหนักมือของตัวคุณเองเท่านั้น โดย Versagi แนะนำเทคนิคการนวด 3 ท่าต่อไปนี้
 
ท่าที่ 1
ใช้บวบถูตัวหรือแปรงขนนิ่มถูผิวหนังตามลำตัวเบา ๆ โดยถูเข้าหาบริเวณที่เป็นที่ตั้งของหัวใจ สำหรับแขน ให้ถูนวดจากมือไปยังรักแร้ ส่วนขาให้ถูจากข้อเท้าขึ้นมา โดยถูเป็นจังหวะเร็ว ๆ
 
ท่าที่ 2
วางนิ้วมือใต้ขากรรไกร แล้วเลื่อนนิ้วไปยังที่ตั้งของต่อมน้ำเหลืองที่มีขนาดเล็กและมีรูปทรงไข่มุก เมื่อเลื่อนนิ้วไปกระทบกระดูก ให้กดที่ต่อมน้ำเหลืองอย่างเบามือ ท่านี้ทำได้ทุก 2 – 3 ชั่วโมง
 
ท่าที่ 3
หนีบลูกเทนนิสไว้ใต้รักแร้ แล้วออกแรงบีบกับข้างลำตัวเบา ๆ  
 
***********************************
 
โยคะช่วยลดภาวะอักเสบ
ขณะที่นักวิทยาศาสตร์พยายามค้นหาคำตอบว่า ภาวะอักเสบมีบทบาทต่ออาการเจ็บป่วยต่างๆ เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน และมะเร็ง อย่างไรบ้าง พวกเขาก็ยิ่งหันกลับไปให้ความสนใจโยคะมากขึ้น เพราะการค้นพบครั้งใหม่ยืนยันว่า โยคะช่วยให้ร่างกายตอบสนองต่อภาวะอักเสบได้ดีขึ้น
 
นักวิจัยของมหาวิทยาลัยแห่งรัฐโอไฮโอ ทำการเปรียบเทียบกลุ่มตัวอย่างผู้หญิง 25 คน ที่ฝึกโยคะอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องมานานสองปีเป็นอย่างน้อย กับผู้หญิงอีก 25 คนที่เพิ่งเริ่มฝึกโยคะ
 
 ผลคือ กลุ่มที่เพิ่งเริ่มฝึกมี leptin ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่เร่งการเกิดภาวะอักเสบมากกว่ากลุ่มที่ฝึกโยคะมานานราวร้อยละ 36 ในทางตรงข้าม กลุ่มที่ฝึกโยคะนานกว่า กลับมี adiponectin ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ช่วยบรรเทาอาการอักเสบมากกว่ากลุ่มที่เพิ่งฝึกร้อยละ 28
 
Dr. Lisa Christian หนึ่งในทีมนักวิจัยสรุปว่า ยิ่งผู้หญิงฝึกโยคะนานมากขึ้นเท่าไร จะยิ่งมีฮอร์โมนต่อต้านการอักเสบในสัดส่วนสูงกว่าฮอร์โมนเร่งการอักเสบ “ยิ่งคุณฝึกเล่นโยคะนานขึ้นและสม่ำเสมอมากขึ้นเท่าไร ก็ยิ่งเป็นประโยชน์ต่อร่างกายคุณมากขึ้นเพียงนั้น”
 
ที่มา: นิตยสาร Yoga Journal