วันเสาร์, เมษายน 27, 2024
Home > Cover Story > ชัยวัฒน์ นันทิรุธ จากความไม่รู้ สู่การเป็นผู้นำบรรจุภัณฑ์ยืดอายุอาหาร

ชัยวัฒน์ นันทิรุธ จากความไม่รู้ สู่การเป็นผู้นำบรรจุภัณฑ์ยืดอายุอาหาร

“ถ้าผมรู้ ผมคงไม่ทำ แต่เพราะผมไม่รู้ไง” วรรคทองของ “ชัยวัฒน์ นันทิรุจ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอกา โกลบอล จำกัด ที่ท้าทายตัวเองด้วยการเดินออกจากธุรกิจของครอบครัวซึ่งในขณะนั้นตัวเองเป็นทายาทรุ่นที่ 2 ของบริษัทแป้งมันสำปะหลังชั้นนำของไทย ก่อนจะเริ่มต้นธุรกิจของตัวเองเมื่อปี 2546 ด้วยแรงบันดาลใจเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ยืดอายุอาหาร ที่ยังไม่มีใครทำในเวลานั้น

“การอยู่ในธุรกิจของครอบครัวก็เป็นสิ่งที่ดี แต่เราก็อยากออกมาทำอะไรด้วยตัวเอง ต้องการมีธุรกิจเป็นของตัวเอง เวลานั้นมองว่า นวัตกรรมที่เกี่ยวกับแพ็กเกจจิ้งยังไม่มีคนทำ ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้ามาจากต่างประเทศ ซึ่งต้องยอมรับว่าเป็นการตัดสินใจที่ยาก และถ้ารู้ว่าช่วงเริ่มต้นจะประสบปัญหาการขาดทุน ต้องรอคอย ถ้าผมรู้ ผมคงไม่ทำ แต่คิดว่าไหนๆ ก็ทำแล้ว การทำธุรกิจเหมือนการเดินทาง ไม่ใช่ทุกคนที่ฉลาด เก่ง แล้วจะประสบความสำเร็จ บางครั้งมันอาจจะเป็นพรหมลิขิต เรารู้ว่ามันยากแต่เรามองเห็น Volume เรามองเห็นอนาคต ก็เลยต้องสู้ไปจนมาถึงทุกวันนี้ แต่ผมเชื่อว่าคนที่เก่ง อยู่ในแวดวงอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ เขาอาจจะไม่ทำก็ได้ เพราะมันยาก สำหรับผมอาจจะฟลุกก็ได้”

การมองเห็นธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตสูงในอนาคต ทำให้ชัยวัฒน์ตัดสินใจจับมือกับนักลงทุนจากออสเตรีย เพื่อลงทุนในบริษัท ไทยออสโตร โมลด์ จำกัด เพื่อผลิตผลิตภัณฑ์จากพลาสติก นับเป็นก้าวแรกที่เริ่มต้นเส้นทางธุรกิจนี้ แม้ในช่วงแรกที่ต้องรอเวลาถึง 2 ปีกว่าจะมีคำสั่งซื้อจากลูกค้า ขาดทุนจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ 100 ล้านบาท คือตัวเลขติดลบในเวลานั้น
“การทำการตลาดในช่วง 4-5 ปีแรกค่อนข้างยากลำบาก เพราะไม่มีคนรู้จัก เราเป็นบริษัทที่เพิ่งเริ่มต้นอาจจะยังไม่ค่อยน่าเชื่อถือ ผู้ประกอบการที่ผลิตอาหารจะซื้อของเราก็คงจะยาก เขาอาจจะมองว่าเรายังไม่มีประสบการณ์มาก่อน ในช่วง 4-5 ปีแรกไม่มียอดขายเลย ขาดทุนค่อนข้างเยอะ ครอบครัวก็ไม่สนับสนุน เพราะไม่ได้อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน แต่พอเราได้ลูกค้าญี่ปุ่นซึ่งเป็นผู้ผลิตอาหารสำหรับคนและอาหารสัตว์ ถือว่าครั้งนั้นเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ลูกค้าอื่นๆ ด้วย เพราะบริษัทนั้นมีชื่อเสียง เป็นที่รู้จัก เลยทำให้เราต่อยอดมาได้”

ชัยวัฒน์ใช้เวลา 5 ปี ในการพลิกสถานการณ์ตัวเลขติดลบจนนำมาสู่ผลกำไร และเริ่มมองหาโอกาสขยายธุรกิจอีกครั้ง ด้วยการเข้าสู่กิจการ พริ้นท์แพค เอเชีย ในปี 2562

“เอกา โกลบอล เป็นบริษัท Local เราอยากซื้อพริ้นท์แพค เอเชีย เพราะอยากเปลี่ยนไปสู่ Multinational Company เพราะแม้ว่า เอกา โกลบอล ในเวลานั้นจะเป็นบริษัทที่ใหญ่พอสมควรแต่คู่แข่งของเราในกลุ่มบรรจุภัณฑ์ยืดอายุอาหารในต่างประเทศมีแต่รายใหญ่ๆ แม้ว่าในไทยจะมีคู่แข่งแค่รายเดียว แต่เราจำเป็นต้องสร้างความแข็งแกร่งเพื่อไปแข่งขันในตลาดโลก ในตอนนั้นการเข้าซื้อ พริ้นท์แพค เอเชีย สิ่งที่เราจะได้คือ Marketing Network และได้ภาพลักษณ์ที่ทำให้เราสามารถยืนอยู่ในระดับเดียวกับคู่แข่ง”

ปัจจุบันบรรจุภัณฑ์ของ เอกา โกลบอล ถูกจัดวางอยู่บนชั้นวางสินค้าในโมเดิร์นเทรด ซึ่งใช้บรรจุอาหารได้หลากหลายชนิด หลายรูปแบบ เช่น อาหารสำเร็จรูป ผักผลไม้ เครื่องดื่ม ชา กาแฟ และอาหารสัตว์ ทว่า สถานการณ์ของโลกที่มีการรณรงค์ลดการใช้พลาสติก และหันมาใช้ผลิตภัณฑ์ที่สามารถย่อยสลายได้โดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

“ผลิตภัณฑ์พลาสติกของเราสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้แบบ 100% แต่เรายังมีผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในกลุ่ม sustainable อีก 2-3 โปรแกรม คือ สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ ซึ่งลูกค้าสามารถออเดอร์ได้ นอกจากนี้ ยังมีผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากพืชและน้ำมันใช้แล้ว ซึ่งจะทำให้ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนี้ Carbon Footprint มีค่าเป็นศูนย์ และยังมีการผลิตผลิตภัณฑ์จากเม็ดพลาสติกที่ใช้แล้ว แทนที่จะใช้เม็ดพลาสติกใหม่ แต่มีคุณสมบัติให้แพ็กเกจจิ้งเหมือนใหม่ 100% นี่คือตัวเลือกที่เรามีเพื่อเป็นตัวเลือกสำหรับลูกค้าที่ต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ที่สามารถย่อยสลายได้ แม้จะมีราคาสูงกว่า”

เอกา โกลบอล มีโรงงานอยู่ในไทยและจีนซึ่งกำลังการผลิตที่ไทยเกือบเต็มกำลังการผลิต ขณะที่จีนยังไม่เต็มกำลังการผลิต เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจของจีนยังมีความอ่อนไหวในหลายด้าน ขณะที่ชัยวัฒน์มีแผนที่จะเปิดโรงงานแห่งใหม่ในอินเดีย ที่เมืองปูเน่ (PUNE) เพื่อรองรับการขยายตัวและความต้องการของตลาดที่กำลังจะเพิ่มขึ้นในอนาคต  ทั้งนี้ตลาดอินเดียมีทิศทางการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญมากกว่า 100% ในปีนี้ โดยตั้งเป้ารายได้จากโรงงานในอินเดียหลังเปิดเดินเครื่องจักรไว้ที่ 300 กว่าล้าน

ขณะที่รายได้ในปีที่ผ่านมา ชัยวัฒน์บอกว่า “ปี 2565 เรามียอดขาย 1,000 กว่าล้านบาท สำหรับยอดขายปี 2567 คาดว่าจะเติบโตกว่า 10-15% จากยอดขายของปี 2566 เรามุ่งเน้นการวางกลยุทธ์ที่เข้มข้นมากยิ่งขึ้นสำหรับตลาดที่เป็นฐานลูกค้าสำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น จีน  อินเดีย และไทย”

ชัยวัฒน์ตั้งเป้าให้ เอกา โกลบอล ผลิตบรรจุภัณฑ์ชนิด Longevity Packaging ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงให้แก่ลูกค้า จนก้าวสู่ตำแหน่งผู้นำตลาดได้ โดยเฉพาะในตลาดอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์อาหารพร้อมรับประทาน (Read-To-Eat) นอกจากนี้ เอกา โกลบอล ยังขยายตลาดไปในอีกหลายประเทศ เช่น ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย จีน อินเดีย ฟิลิปปินส์ และสหรัฐอเมริกา

สินค้าของเอกา โกลบอล แบ่งเป็นสินค้าที่จำหน่ายในประเทศ 70% และส่งออก 30% โดยประเทศคู่ค้า ได้แก่ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย บราซิล และเวียดนาม

ชัยวัฒน์มองทิศทางตลาดนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ยืดอายุอาหารในปี 2567 ว่า จะเติบโตกว่าปี 2566 โดยตลาดส่งสัญญาณการขยายตัวที่ดีขึ้นมาก และกลับเข้าสู่สถานการณ์ปกติก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 นับตั้งแต่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการขยายตัวตามทิศทางตลาดส่งออกอาหาร “ปีหน้าเทรนด์ตลาดส่งออกอาหารทั่วโลกน่าจะสดใส คึกคักมากขึ้น จากปีนี้ที่ตลาดในภาพรวมชะลอตัวเล็กน้อยในช่วงต้นปี เพราะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้การขนส่งมีความล่าช้า แต่สถานการณ์ค่อยๆ คลี่คลายและดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง และเศรษฐกิจโลกในปี 2567 แนวโน้มยังมีความไม่แน่นอน เพราะถึงแม้จะมีสัญญาณการฟื้นตัว แต่คงไม่เห็นการฟื้นตัวแบบหวือหวามากนัก จะค่อยเป็นค่อยไป รวมถึงทิศทางดอกเบี้ยยังมีความไม่ชัดเจน ทำให้การลงทุนมีความเสี่ยงในเรื่องต้นทุนที่ยังต้องระวัง”

เอกา โกลบอล ให้ความสำคัญกับงานวิจัยและพัฒนาเพื่อเป็นทางเลือกให้ลูกค้าและตอบโจทย์ด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน ซึ่งเป็นเมกะเทรนด์โลกที่กำหนดพฤติกรรมของผู้บริโภคทั่วโลก โดยในปีหน้าผู้บริโภคจะยิ่งตื่นตัวและมีความต้องการสินค้ากรีนโปรดักส์มากยิ่งขึ้น ประกอบกับหลายประเทศทั่วโลกจะเริ่มออกกฎระเบียบด้านการค้าและกำหนดใช้มาตรการด้านภาษีสินค้าคาร์บอนที่เข้มงวดและจริงจังขึ้น

เป้าหมายในอนาคตของ เอกา โกลบอล ชัยวัฒน์บอกว่า “ช่วงเริ่มต้นคิดว่ามียอดขายสักประมาณ 300-400 ล้านบาทก็ดีแล้ว ไม่ได้คิดว่าจะต้องมียอดขายถึงหลักพันล้าน แต่มาถึงปัจจุบันต้องบอกว่า เกินกว่าที่เราตั้งเป้าเอาไว้มากแล้ว เราคงไม่ได้ดูแค่ตัวเลขยอดขาย หรือตัวเลขทางการเงินเพียงอย่างเดียว ผมคิดว่าสิ่งที่เราต้องให้ความสำคัญคือ Sustainable มากกว่า ไม่ใช่แค่ตัวผลิตภัณฑ์ แต่หมายถึงองค์กร เราเน้นย้ำการผลิตสินค้าที่เป็นนวัตกรรมให้สามารถแข่งขันได้ในตลาด ตัวเลขยอดขาย กำไร อาจไม่สำคัญเท่าการเติบโตแบบยั่งยืน แน่นอนว่ายังต้องหานวัตกรรมใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในตลาด”

ตลอดระยะเวลา 20 ปี จากจุดเริ่มต้นของชัยวัฒน์ นันทิรุจ การก้าวเข้ามาสู่อุตสาหกรรมที่ต้องแบกตัวเลขในบัญชีติดลบนานหลายปี จนถึงความสำเร็จเช่นในปัจจุบัน ที่บริษัทเติบโตและติดอันดับต้นๆ ของโลกในตลาดบรรจุภัณฑ์ยืดอายุอาหาร คงไม่ใช่แค่ “ฟลุก” แน่นอน.