วันเสาร์, เมษายน 20, 2024
Home > Cover Story > ธุรกิจเวลเนส เรียล เอสเตท ขยายตัว “พฤกษา” ส่ง “วิมุต” เดินเกมรุก

ธุรกิจเวลเนส เรียล เอสเตท ขยายตัว “พฤกษา” ส่ง “วิมุต” เดินเกมรุก

“เราต้องทำมากกว่าการทำแค่ที่อยู่อาศัย” ประโยคที่คล้ายเป็นพันธสัญญาของผู้บริหารระดับสูงอย่าง คุณทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์ ที่เคยกล่าวไว้ก่อนอำลาตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร ก่อนจะส่งแนวความคิดไปยัง คุณอุเทน โลหชิตพิทักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) มาสู่การขับเคลื่อนอย่างมีมิติที่น่าสนใจของ พฤกษา ที่แถลงข่าวอย่างยิ่งใหญ่เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา

ที่นอกจากธุรกิจอสังหาฯ ซึ่งดำเนินกิจการมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่ปี 2536 ด้วยบริบทของผู้ประกอบการที่ทำเพียงการก่อสร้างที่อยู่อาศัย ปัจจุบันฉากทัศน์ของพฤกษาเริ่มเปลี่ยนไปอย่างเข้ายุคสมัย ทั้งสร้างสรรค์แพลตฟอร์มดิจิทัล ที่ให้บริการตลาดค้าปลีกออนไลน์ รวบรวมร้านค้า สินค้าด้านที่อยู่อาศัย การบำรุงรักษาบ้าน การดูแลสุขภาพและความงาม

รวมถึงการรุกตลาด Wellness ที่มีทิศทางการขยายตัวมากขึ้นในปัจจุบัน สิ่งที่พฤกษาทำไปก่อนหน้าคือการเปิดตัวโรงพยาบาลวิมุต ที่ตั้งอยู่ในย่านพหลโยธินเมื่อกลางปี 2564

ทว่า กระแสการตื่นตัวของธุรกิจ Wellness ที่กำลังมาแรงทั่วโลก อีกทั้งตลาดนี้ยังมีมูลค่าสูงถึง 4.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 145 ล้านล้านบาท ซึ่งธุรกิจ Wellness แบ่งออกได้หลายส่วน เช่น ด้านสุขภาพความงาม การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และอสังหาฯ ที่ส่งเสริมสุขภาพที่ดีแบบองค์รวม หรือ Wellness Real Estate ซึ่งเติบโตประมาณ 22%

มีข้อมูลที่น่าสนใจจาก Global Wellness Institute (GWI) ระบุว่า Wellness Real Estate หรือ อสังหาฯ ที่ส่งเสริมสุขภาพที่ดีแบบองค์รวม อสังหาฯ ในกลุ่มนี้เติบโตเกือบ 2 เท่าภายในเวลาเพียง 4 ปี จาก 148 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (4.9 ล้านล้านบาท) ในปี ค.ศ. 2017 เป็น 275 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (9 ล้านล้านบาท) ในปี ค.ศ. 2020

โดย GWI เคยคาดการณ์ไว้เมื่อปี 2017 ว่าในปี 2022 มูลค่าของ Wellness Real Estate จะเติบโตถึง 180 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (5.9 ล้านล้านบาท) นอกจากนี้ จากการสำรวจของ GWI ยังพบว่าจำนวนโครงการ Wellness Real Estate ทั่วโลกเพิ่มขึ้นมากกว่า 3 เท่าในเวลา 5 ปี ปัจจุบันน่าจะมีโครงการมากกว่า 2,300 โครงการ

สอดคล้องกับทิศทางของตลาดอสังหาฯ ไทย ที่แม้ว่าจะชะลอการเปิดโครงการใหม่ในช่วงสถานการณ์โควิด แต่ปัจจุบันผู้ประกอบการอสังหาฯ ต่างประกาศทิศทางการลงทุนในอุตสาหกรรมนี้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะโครงการที่อยู่อาศัย ที่สร้างความเป็นอยู่ที่ดีแบบองค์รวม หรือ เวลเนส เรียล เอสเตท (Wellness Real Estate) ที่จะตอบโจทย์ทุกความต้องการของทุกช่วงวัย

ตัวอย่างผู้ประกอบการที่พัฒนาโครงการ Wellness Real Estate ไปก่อนหน้า อาทิ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) ที่พัฒนาโครงการ ศุภวัฒนาลัย หมู่บ้านสำหรับผู้สูงวัย บนเนื้อที่ขยายจากโรงแรมป่าสัก สระบุรี บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) ร่วมมือกับโรงพยาบาลสมิติเวช พัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยไปสู่ “Wellness Residences”

จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้นอาจเป็นอีกหนึ่งเหตุผล ที่ทำให้พฤกษาขยับขยายธุรกิจ Wellness ให้ครอบคลุมมากขึ้น นอกจากนี้ อีกหนึ่งแนวคิดของอดีตซีอีโออย่าง ทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์ ที่ทำให้ผู้บริหารระดับสูงขานรับนโยบายนี้ด้วยความเต็มใจคือ “การสร้าง Double Profit กำไรที่พฤกษาอยู่ได้ และกำไรที่ทำเพื่อสังคม” โดยเฉพาะ นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โรงพยาบาลวิมุต โฮลดิ้ง จำกัด ที่ตัดสินใจหันกลับมารับงานบริหารหลังจากที่เกษียณอายุ

ภายใต้กรอบแนวคิดของพฤกษาที่ว่า “อยู่ดี มีสุข” หรือ “Live well Stay well” กับการดำเนินกิจการในปัจจุบันดูจะสอดคล้องต้องกัน และการรุกตลาดเวลเนส เรียล เอสเตท ที่เริ่มเป็นรูปเป็นร่างของพฤกษา ฉายให้เห็นภาพของนโยบายนี้ชัดเจนขึ้น

นพ.สมศักดิ์ขยายความว่า โรงพยาบาลวิมุตพร้อมดูแลสุขภาพทั้งการป้องกันและรักษาผ่านบริการและช่องทางที่หลากหลาย ตอบโจทย์การใช้ชีวิตในยุคใหม่ ด้วย 3 กลไกหลักคือ 1. การเชื่อมโยงเครือข่ายการดูแลสุขภาพที่ครอบคลุมทั้งระบบนิเวศ ซึ่งจะช่วยให้ลูกบ้านพฤกษาทุกครัวเรือนได้รับการดูแลเสมือนมีหมอประจำครอบครัว 2. การเชื่อมโยงกับโรงพยาบาลรัฐ เริ่มต้นที่โรงพยาบาลรามาธิบดี ให้คนไข้เข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้สะดวกสบายมากขึ้น โดยยึดหลักคนไข้ได้รับบริการที่มีคุณภาพ ในราคาที่เหมาะสมและลดเวลาการรอคิว และ 3. การเชื่อมโยงแบบ Anywhere Anytime ด้วยแอปพลิเคชันวิมุตที่ให้บริการการแพทย์ทางไกล การจัดส่งยาและเวชภัณฑ์ทางไปรษณีย์ การพัฒนาระบบดิจิทัลเฮลท์แคร์ เพื่อการส่งเสริมสุขภาพเชิงป้องกัน รวมไปถึงแผนการในอนาคตที่พัฒนาโรงพยาบาลมุ่งสู่โรงพยาบาบเสมือนจริง ดูแลผู้ป่วยติดเตียงที่บ้านจากเครื่องติดตามการทำงานของร่างกาย หากมีเหตุฉุกเฉินหรือผิดปกติทีมแพทย์สามารถเข้าช่วยเหลือได้ทันท่วงที และร่วมมือกับพันธมิตรอื่นๆ ที่จะช่วยยกระดับการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพผ่านเทคโนโลยีดิจิทัลได้ง่ายขึ้น

นอกจากโรงพยาบาลวิมุต ที่เป็นโรงพยาบาลขั้นตติยภูมิ ริมถนนพหลโยธินที่เปิดให้บริการประชาชนไปเมื่อปี 2564 แล้ว ยังมีบ้านหมอวิมุตที่รังสิต คลอง 3 และ วิมุต เวลเนส สาขาแรก ที่อยู่ในโครงการพฤกษา อเวนิว บางนา-วงแหวน ซึ่งถือเป็นโรงพยาบาลขนาดเล็ก 50 เตียง ซึ่งสามารถรองรับการตรวจรักษาโรคทั่วไป เช่น ไข้หวัด การบาดเจ็บเล็กน้อย การฉีดวัคซีนป้องกันโรค การทำกายภาพบำบัด ธาราบำบัด และแผนกเนิร์สเซอรีสำหรับผู้สูงอายุ โดยให้บริการทั้งการดูแลผู้สูงวัยแบบไปกลับ และแบบค้างคืน

แผนงานต่อจากนี้ของโรงพยาบาลวิมุตคือ การปักหมุดบนทำเลสำคัญภายใต้งบการลงทุนสูงถึง 17,000 ล้านบาท โดยเป็นพื้นที่รอบในของกรุงเทพฯ ได้แก่ ปิ่นเกล้า นราธิวาส-ราชนครินทร์ สุขุมวิท ซึ่งจะช่วยให้พื้นที่ด้านในของกรุงเทพฯ ครอบคลุมมากขึ้น จากเดิมที่มีเพียง รพ.วิมุต พหลโยธิน และ รพ.เทพธารินทร์

และพื้นที่รอบกลาง ที่ นพ.สมศักดิ์ขยายความเพิ่มเติมว่า จะเป็นการลงทุนเพื่อสร้างเวลเนส เซ็นเตอร์ และเนอร์สซิงโฮม ได้แก่ บางนา, สุขุมวิท 54, คู้บอน, วัชรพล, ประชาชื่น, รัตนาธิเบศร์, พัฒนาการ, เซ็นทรัล เวสต์เกต, ราชพฤกษ์ และอีก 6 พื้นที่ภายในระยะเวลา 5 ปี และพื้นที่โซนรอบนอก จะเป็นการลงทุนในรูปแบบของคลินิกบ้านหมอวิมุต และการให้บริการผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์ม

ปัจจุบัน รพ.วิมุตสร้างรายได้ให้ บ.พฤกษา 7-8% โดยตั้งเป้ารายได้ไว้มากกว่า 2,000 ล้านบาท หากไม่มีสถานการณ์ที่เป็นปัจจัยลบ เช่น การระบาดของโรคอุบัติใหม่

พฤกษาเคยประกาศความตั้งใจเอาไว้ว่า จะมีสินทรัพย์ 100,000 ล้านบาท ที่สามารถสร้างรายได้ต่อเนื่องได้มากกว่า 25% ภายในปี 2571 ขับเคลื่อนธุรกิจในบริบทใหม่ ภายใต้กรอบแนวคิด “อยู่ดี มีสุข” หรือ Live well Stay well

หากพิจารณาจากแผนการขยายตัวของโรงพยาบาลวิมุต ภายใต้แนวนโยบายที่ส่งต่อมาจากพฤกษา เป้าประสงค์ด้านสินทรัพย์ที่พฤกษาตั้งไว้ คงไม่ไกลเกินที่จะไขว่คว้ามา

เพราะหากมองตลาดเวลเนส เรียล เอสเตท ในปัจจุบัน แม้จะมีผู้ประกอบการอสังหาฯ หลายค่าย เริ่มผนวกรวมธุรกิจเวลเนส เข้ากับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์แล้ว ก็ยังไม่เห็นค่ายใดที่วางโครงข่ายธุรกิจเวลเนสได้ครอบคลุมเพื่อรองรับการให้บริการประชาชน ที่ไม่ได้จำกัดแค่ลูกบ้านของพฤกษาเท่านั้น

แต่ธุรกิจ Wellness ในตลาดไทยยังไม่จบลงง่ายๆ และตลาดนี้ยังมีทิศทางที่สดใส คงต้องรอดูว่า เวทีแข่งขันนี้จะดุเดือดขึ้นหรือไม่ในอนาคต.