วันพุธ, ตุลาคม 23, 2024
Home > Cover Story > พลิกปมอาณาจักร “โตทับเที่ยง” รอหุ้น POMPUI คัมแบ็ก

พลิกปมอาณาจักร “โตทับเที่ยง” รอหุ้น POMPUI คัมแบ็ก

อาณาจักร “ปุ้มปุ้ย” โลดแล่นในสมรภูมิมากกว่า 40 ปี ฟันฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจและเรื่องราวความขัดแย้ง ซึ่งหากย้อนเส้นทางความยิ่งใหญ่ของตระกูล “โตทับเที่ยง” เริ่มต้นเมื่อนายโต๋ว ง่วน เตียง และนางยิ่ง แซ่โต๋ว สามีภรรยาชาวจีนที่อพยพจากจีนแผ่นดินใหญ่มาทำมาหากินในเมืองไทย

นายโต๋วมีลูกๆ รวม 10 คน ลูกชายคนโต คือ นายสุธรรม โตทับเที่ยง และน้องๆ 9 คน ได้แก่ นางสุภัทรา สินสุข (โตทับเที่ยง) เสียชีวิตแล้ว นายสุรินทร์ โตทับเที่ยง นางจุรี สัมพันธวรบุตร (โตทับเที่ยง) นายสวัสดิ์ โตทับเที่ยง เสียชีวิตแล้ว นางจุฬา หวังศิริเลิศ (โตทับเที่ยง) นางจุรัตน์ มะนะสุทธิ์ (โตทับเที่ยง) นายสลิล โตทับเที่ยง น.ส.สุนีย์ โตทับเที่ยง และ น.ส.ศิริพร โตทับเที่ยง

ปี 2522 สุธรรมและสุภัทราพร้อมกับสามีจับมือกันเริ่มต้นธุรกิจ บริษัท ผลิตภัณฑ์อาหารกว้างไพศาล จำกัด ผลิตปลากระป๋องแบรนด์ “ปุ้มปุ้ย” และ “ปลายิ้ม” โดยมองว่า เมืองไทยต้องนำเข้าปลากระป๋องจากต่างประเทศมานาน อยากทำสินค้าของคนไทยให้ผู้บริโภคชาวไทย มีโรงงานแห่งแรกในจังหวัดตรัง และมีสำนักงานอยู่ที่กรุงเทพมหานคร

ธุรกิจเติบโต นอกจากกิจการอาหารกระป๋องแบรนด์ “ปุ้มปุ้ย” แล้วกลุ่มโตทับเที่ยงยังมีธุรกิจโรงแรมธรรมรินทร์ ขนาด120 ห้อง โรงแรมธรรมรินทร์ธนา ขนาด 280 ห้อง อยู่ในจังหวัดตรัง และมีที่ดินหลายแปลงพัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อยู่ภายใต้บริษัทกงสี คือ บริษัท กว้างโฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นของพี่น้องทุกคน

กระทั่งวันที่ 21 มิถุนายน 2558 นายสุธรรม โตทับเที่ยง พี่ใหญ่ ออกมาแถลงในฐานะตัวแทนฝ่ายพี่น้อง 9 คน ไม่ให้นายสุรินทร์พร้อมทายาทสายตรงของนายสุรินทร์ใช้นามสกุล โตทับเที่ยง อ้างว่ากระทำการที่เป็นปฏิปักษ์กับพี่น้อง โดยนายสุรินทร์ปลดพี่น้องในตระกูลทุกคนออกจากการเป็นกรรมการของบริษัท กว้างโฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทกงสีของพี่น้องและถือหุ้นในบริษัท ผลิตภัณฑ์อาหาร กว้างไพศาล จำกัด (มหาชน)

การแถลงข่าวครั้งนั้นนายสุธรรมเล่าความเป็นมาของตระกูลโตทับเที่ยงด้วยน้ำเสียงสั่นเครือว่า หลังบิดาเสียชีวิตพยายามประคับประคองพี่น้องอีก 9 คนให้อยู่รอดจนประสบความสำเร็จทางธุรกิจตามลำดับและจับมือกันเหนียวแน่นมาตลอด

พี่น้องทั้งหมดให้นายสุรินทร์เป็นตัวแทนตระกูลและบริษัทออกหน้ากับสังคมและสื่อสาธารณะ เนื่องจากมีลักษณะนิสัยชอบออกสังคม ส่วนพี่น้องที่เหลือทำงานอยู่เบื้องหลัง ขณะที่กิจการทั้งหมดเป็นระบบกงสี พี่น้องทุกคนถือหุ้นและบริหารเป็นกรรมการอยู่ในบริษัทในเครือทั้งหมด โดยนายสุธรรมขอเกษียณอายุการทำงานเมื่ออายุ 60 ปี และแต่งตั้งนายสุรินทร์ ซึ่งเป็นน้องชายเข้ามาบริหารแทน

ถัดมาเพียงวันเดียว นายสุรินทร์ โตทับเที่ยง ออกแถลงการณ์ตอบโต้ว่า หลังจากปุ้มปุ้ยเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อปี 2538 กิจการดำเนินมาด้วยดีระดับหนึ่ง กระทั่งเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินในปี 2540 ปุ้มปุ้ยเป็นอีกบริษัทที่ได้รับผลกระทบ ตนได้นำบริษัทเข้าปรับปรุงโครงสร้างหนี้ จนเป็นผลสำเร็จ หุ้นของปุ้มปุ้ยที่อยู่ในกลุ่ม SP ตั้งแต่ปี 2540 กลับมาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้อีกครั้งในปี 2546

แต่เมื่อยังมีการใช้จ่ายด้วยงบประมาณที่สูงไม่ได้สัดส่วนกับรายได้ บริษัทจึงมีผลขาดทุนและถูกตั้งสำรองหนี้ จนถูกระงับการซื้อขายอีกในปี 2548 ตนและฝ่ายบริหารต้องเจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับธนาคารอีกครั้ง

นายสุรินทร์ระบุว่า เป็นเวลากว่า 10 ปีที่ปุ้มปุ้ยไม่สามารถมีผลประกอบการที่เป็นกำไรอย่างต่อเนื่อง จนอาจทำให้บริษัทต้องถูกเพิกถอนจากตลาดทรัพย์ฯ ภายในปี 2558 และยังปรากฏว่านับแต่ต้นปี 2557 ฝ่ายบริหารชุดเดิมมีการกระทำผิดธรรมาภิบาล โดยสนับสนุนธุรกรรมกับบริษัทการค้าแห่งหนึ่งที่จัดตั้งด้วยทุนจดทะเบียนชำระแล้วเพียง 600,000 บาท นำธุรกรรมการค้าเงินสด บุคลากร และอุปกรณ์ รถยนต์ฝ่ายขายของปุ้มปุ้ยไปใช้ดำเนินการ ซึ่งฝ่ายตรวจสอบพบความสุ่มเสี่ยงต่อการกระทำผิดทางกฎหมายและก่อให้เกิดความเสียหายแก่การทำธุรกรรมทางการค้าของบริษัท คณะกรรมการบริษัทเสียงส่วนใหญ่จึงมีมติให้หยุดธุรกรรมที่มีปัญหาทั้งหมด และเปลี่ยนแปลงฝ่ายบริหารที่เกี่ยวข้อง เป็นสาเหตุของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น

7 ตุลาคม 2558 นายสลิล โตทับเที่ยง ในฐานะกรรมการบริษัท ผลิตภัณฑ์อาหารกว้างไพศาล จำกัด (มหาชน) เดินทางเข้ายื่นหนังสือร้องทุกข์ต่ออธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ให้ตรวจสอบหาตัวผู้กระทำผิด กรณีการปลอมแปลงแก้ไขเอกสารบางส่วน คาดว่าจะเป็นการกระทำเพื่อต้องการยักยอกเงิน ของ บมจ. ผลิตภัณฑ์อาหารกว้างไพศาล มูลค่าความเสียหายกว่า 100 ล้านบาท ในช่วงเวลาที่นายสลิลยังดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แต่ไม่เคยรับรู้และไม่เคยเห็นเอกสารดังกล่าว

ความขัดแย้งของพี่น้องยืดเยื้อและมีการแจ้งความดำเนินคดีกันไปมา ทั้งที่จังหวัดตรังและกรุงเทพฯ รวมกว่า 10 คดี ระหว่างฝ่ายนายสุธรรมพี่ชายคนโต ที่มีน้องๆ รวม 8 คน กับนายสุรินทร์ที่มีเพียงคนเดียว จากพี่น้องทั้งหมด 10 คน ซึ่งเสียชีวิตไปแล้ว 1 คน

ขณะที่คดีในกลุ่มธุรกิจกงสี ซึ่งสุธรรมกับพวกรวม 9 คน ยื่นฟ้องสุรินทร์กับพวกรวม 6 คน ต่อศาลแพ่งธนบุรี เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2559 ข้อหากรรมสิทธิ์รวมเรียกทรัพย์คืน ขอแบ่งทรัพย์ (กงสี) ในเวลาต่อมา ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้ง 6 คน ที่ถือกรรมสิทธิ์ในหุ้นแทนโอนหุ้นในบริษัทรวม 19 บริษัท ให้แก่โจทก์ทั้ง 9 คน และจำเลยที่ 1 คนละ 1 ส่วน ใน 10 ส่วนของหุ้นในแต่ละบริษัท และให้โอนที่ดินที่จำเลยทั้ง 6 ถือกรรมสิทธิ์ไว้แทนให้แก่พี่น้องในตระกูลโตทับเที่ยงทั้ง 10 คน คนละ 1 ส่วน ใน 10 ส่วน

แม้มีการอุทธรณ์ แต่ทุกอย่างปิดฉากตามคำพิพากษาศาลฎีกาเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2565 โดยสุธรรมออกมาเปิดเผยผลสรุปของคำพิพากษาในคดีธุรกิจครอบครัว ซึ่งศาลฎีกาพิพากษาว่า หุ้นทั้ง 19 บริษัท ตลอดจนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นกรรมสิทธิ์รวมของธุรกิจครอบครัวหรือกงสีของตระกูลโตทับเที่ยง และเป้าหมายจากนี้ คือการพลิกฟื้นธุรกิจในกงสีทั้ง 19 บริษัทให้กลับมาดำเนินธุรกิจและมีผลการดำเนินงานเติบโตขึ้น

ขณะเดียวกัน มีการดึงลูกหลาน Generation ใหม่เข้ามาร่วมในคณะกรรมการบริหารและกระจายความรับผิดชอบตามงานที่แต่ละคนเชี่ยวชาญหรือสนใจ พร้อมปลุกปั้นภาพลักษณ์ใหม่ของ “ปุ้มปุ้ย” ทั้งในแง่องค์กร แบรนด์และรายการสินค้าต่างๆ

สำหรับหุ้น POMPUI เริ่มซื้อขายในตลาดหุ้นไทยเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2538 ซึ่งเทรดวันแรก ราคาหุ้นเคยพุ่งสูงสุดมากถึง 64 บาท จากราคาพาร์ 10 บาท แต่กลับร่วงลงต่อเนื่องหลังวิกฤตต้มยำกุ้งที่ระดับ 3 บาท จนถึงปี 2546 ได้รับอานิสงส์จากการวิ่งขึ้นของดัชนีตลาด วิ่งขึ้นมาถึง 17.60 บาท แล้วกลับร่วงลงไปอีกพร้อมๆ กับฐานะการเงินที่ระส่ำระสาย ต้องเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการ เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ก่อนหยุดซื้อขายเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2548 ราคาปิดสุดท้ายของ POMPUI อยู่ที่ระดับ 2.16 บาท และหยุดซื้อขายจนถึงปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม บริษัทเริ่มมีรายได้เติบโตต่อเนื่อง โดยปี 2561 มีรายได้รวม 1,278 ล้านบาท ปี 2562 มีรายได้รวม 1,372 ล้านบาท ปี 2563 ขยับเพิ่มขึ้นเป็น 1,547 ล้านบาท ปี 2564 เพิ่มขึ้นเป็น 1,605 ล้านบาท และตัวเลขไตรมาส 2 ปี 2565 ทำรายได้ครึ่งปีแรกอยู่ที่ 714 ล้านบาท ซึ่งกลุ่มผู้บริหารเชื่อมั่นว่า ภาพรวมของผลการดำเนินงานในปี 2565 จะเติบโตก้าวกระโดด จากการกลับมาฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการส่งออกเติบโตขึ้น

ปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนการขายในประเทศ 80% และส่งออก 20% ซึ่งแน่นอนว่า “โตทับเที่ยง” รุ่นใหม่กำลังเร่งพลิกฟื้นธุรกิจและผลักดันหุ้น POMPUI กลับมาผงาดได้อีกครั้ง.