วันอังคาร, เมษายน 23, 2024
Home > Cover Story > ธุรกิจความงามพุ่งแสนล้าน “ยักษ์ใหญ่-หน้าใหม่” บุกหนัก

ธุรกิจความงามพุ่งแสนล้าน “ยักษ์ใหญ่-หน้าใหม่” บุกหนัก

ศ.ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย ประธานที่ปรึกษาคณะกรรมการ บริษัท วุฒิศักดิ์ กรุ๊ป จำกัด เคยออกมาเปิดเผยตัวเลขการเติบโตของธุรกิจเพื่อสุขภาพและความงามอย่างน่าตื่นเต้นว่า ถ้าวัดจากตลาดระดับโลกมีมูลค่ามากกว่า 900,000 ล้านบาท ตลาดอาเซียนมีมูลค่ามากถึง 500,000 ล้านบาท และในประเทศไทยมีมูลค่าสูงถึง 250,000 ล้านบาท โดยมีอัตราเติบโตต่อเนื่อง 15-20% ทุกปี

ขณะเดียวกัน ในตัวเลขกว่า 250,000 ล้านบาท หยิบเฉพาะตลาดคลินิกความงาม มีมูลค่ามากกว่า 30,000 ล้านบาท และตลาดศัลยกรรมความงามอีก 30,000 ล้านบาท ซึ่งทั้ง 2 ตลาดเติบโตเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 10% ต่อปี

นั่นเป็นเหตุผลสำคัญที่รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พยายามผลักดันร่างยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพ ระยะ 10 ปี โดยตั้งเป้าให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพของโลก 4 ด้าน ได้แก่ ศูนย์กลางบริการเพื่อส่งเสริมสุขภาพ (Wellness Hub) ศูนย์กลางทางการแพทย์ (Medical Hub) ศูนย์กลางบริการวิชาการและงานวิจัย (Academic Hub) และศูนย์กลางยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ (Product Hub)

เพราะหากสำเร็จตามแผนจะสามารถสร้างเม็ดเงินสะพัดเพิ่มขึ้นอีกนับแสนล้านบาท ซึ่งสถิติจากกลุ่มท่องเที่ยวเชิงสุขภาพพบว่า บริการทางการแพทย์ที่ได้รับความนิยมของกลุ่มเมดิคอลทัวริซึ่ม 5 อันดับแรก คือ บริการตรวจสุขภาพ บริการศัลยกรรมความงาม บริการทันตกรรม บริการศัลยกรรมกระดูก และบริการแพทย์เฉพาะทางผ่าตัดหัวใจ

จึงไม่แปลกที่กลุ่มบริษัทกรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS) ของนายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ตัดสินใจทุ่มเม็ดเงินกว่า 10,800 ล้านบาท ซื้อที่ดินบริเวณโครงการปาร์คนายเลิศ เนื้อที่ 15 ไร่ จากกลุ่มตระกูลสมบัติศิริ เพื่อพัฒนาโครงการศูนย์สุขภาพแบบครบวงจร BDMS Wellness Clinic เชื่อมโยงโรงพยาบาลทั้งหมดในเครือและสร้างอาณาจักรธุรกิจเวลล์เนสเซ็นเตอร์ หวังติดอันดับท็อปเท็นในอาเซียน และสร้างความแข็งแกร่งเทียบชั้นคู่แข่งอย่างสหรัฐอเมริกา เยอรมนี และฝรั่งเศส หรือในเอเชียด้วยกันอย่างสิงคโปร์

ทั้งนี้ ถ้าเจาะเฉพาะตลาดศัลยกรรมความงามและคลินิกความงาม ซึ่งโรงพยาบาลยักษ์ใหญ่ต่างหันมารุกธุรกิจความงามชัดเจนมากขึ้นตามเทรนด์ของกลุ่มเป้าหมายและตลาดที่ยังมีความต้องการสูง โดยเฉพาะฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ที่ต้องการใช้บริการในประเทศไทย เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ค่าที่พัก รวมถึงอัตราค่าบริการที่ถูกกว่าประเทศเจ้าแม่อุตสาหกรรมอย่างเกาหลี 30-40%

ที่สำคัญ สังคมไทยเริ่มยอมรับเรื่องการทำศัลยกรรมความงามมากขึ้น ทำให้ตลาดมีช่องว่างการทำเงินจากกลุ่มผู้บริโภคที่ต้องการบริการทางการแพทย์ที่ปลอดภัยและมีคุณภาพ

จากข้อมูลรายงานประจำปีของบริษัท อี ฟอร์ แอล เอม จำกัด (มหาชน) ผู้ประกอบธุรกิจตัวแทนจําหน่ายเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ ความงามและสุขภาพ รวมถึงเป็นบริษัทแม่ของ “วุฒิศักดิ์ กรุ๊ป” พบว่า ผู้นําในอุตสาหกรรมสถานพยาบาลเสริมความงาม หรือ Beauty Clinic ในประเทศไทยมีเพียงไม่กี่รายและสามารถแบ่งตลาดได้ 3 ระดับ คือ ตลาดระดับบน (High-end) ตลาดระดับกลาง (Mid-end) ตลาดระดับล่าง (Low-end) โดยคาดการณ์จํานวนคลินิกทั้งหมดไม่น้อยกว่า 3,000-4,000 แห่งทั่วประเทศ

สำหรับตลาดระดับบนแบ่งเป็น 2 สองกลุ่ม คือ กลุ่มโรงพยาบาล มีคู่แข่งขันหลัก 20 กว่าราย เช่น โรงพยาบาลยันฮี โรงพยาบาลบํารุงราษฎร์ โรงพยาบาลผิวหนังอโศก โรงพยาบาลเวชธานี โรงพยาบาลนครธน และ โรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ กับกลุ่มคลินิกเสริมความงาม ซึ่งมีคู่แข่งราว 30 กว่าราย เช่น ผิวดีคลินิก เอเพ็กซ์มคลินทร์คลินิก ธนิยะ เมดิคอล คลินิก เมโกะคลินิก และรมย์รวินท์

ส่วนตลาดระดับกลาง (Mid-end) เป็นกลุ่มที่มีการแข่งขันสูงและจำนวนผู้เล่นมากกว่า 100 ราย แต่เป็นกลุ่มผู้นำตลาดไม่ถึง 10 ราย ได้แก่ วุฒิศักดิ์คลินิก นิติพน แพนราชเทวี พงษ์ศักดิ์ พรเกษม ธนพร ดร.สมชาย และเดอร์มแคร์

สุดท้าย คือ ตลาดระดับล่าง มีคู่แข่งขันมากกว่า 500 ราย เช่น หมอเมืองชล ลักษณา กานต์ชนกคลินิก ศิริเพ็ญ

ต้องถือว่าตลาดความงามในประเทศไทยอยู่ในช่วงขยายตัวสูง มีผู้เล่นหน้าใหม่เกิดขึ้นตลอดเวลา ทั้งกลุ่มโรงพยาบาลและกลุ่มคลินิกความงาม ซึ่งส่วนใหญ่ต้องการขยายฐานลูกค้าใหม่ๆ เช่น กลุ่มผู้ชายวัยทํางานและเมโทรเซ็กชวล (Metrosexual) กลุ่มนักเรียน/นักศึกษา แม่บ้าน คนวัยเกษียณอายุที่มีกำลังซื้อสูง และกลุ่มนักท่องเที่ยวจากประเทศกลุ่ม CLMV ได้แก่ กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม รวมถึงประเทศจีน

อย่างไรก็ตาม แม้ธุรกิจสุขภาพและความงามมีการแบ่งเซกเมนต์ชัดเจน แต่คู่แข่งขัน โดยเฉพาะกลุ่มโรงพยาบาลและคลินิกความงามพยายามปรับกลยุทธ์ เพื่อต่อสู้แข่งขันและขยายการให้บริการแบบองค์รวม รองรับกลุ่มลูกค้าที่มีความต้องการหลากหลายมากขึ้น

อรรถวุฒิ จริงไธสง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารวุฒิศักดิ์ กรุ๊ป กล่าวว่า วุฒิศักดิ์ กรุ๊ป มีเป้าหมายยกระดับธุรกิจสู่การเป็นผู้นำธุรกิจสุขภาพและความงามอย่างครบวงจร (Wuttisak Wellness World) โดยปรับกลยุทธ์เจาะตลาด 4 ด้าน ทั้งบริการด้านสุขภาพและความงาม (Beauty & Wellness) การดูแลสุขภาพและความงามแบบองค์รวม เสริมเวชศาสตร์ชะลอวัยและเวชศาสตร์ฟื้นฟู (Wellness & Spa) การนำเสนอผลิตภัณฑ์คอสเมติกผ่านคอสเมติกชอปและบิวตี้เซ็นเตอร์ พุ่งเป้าเจาะตลาดชาวต่างชาติมากขึ้น และการจัดโปรแกรมท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Inbound Beauty & Wellness Tour) ผ่านเครือข่ายจิ๊กซอว์ 4 ตัว

คือ คลินิกความงาม บิวตี้เซ็นเตอร์ คอสเมติคชอป และโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านศัลยกรรมความงาม หรือ “W Hospital” (Aesthetic Surgery Hospital) ซึ่งจะเริ่มเปิดให้บริการในปี 2561 เพื่อสร้างจุดแข็งด้านทีมแพทย์และขยับจุดขายเจาะลูกค้ากลุ่มพรีเมียมมากขึ้น หลังจากยึดตลาดระดับกลางได้อย่างเหนียวแน่นแล้ว

ขณะที่โรงพยาบาลหลายแห่งปรับกลยุทธ์ขยายฐานกลุ่มลูกค้า ทั้งกลุ่ม BDMS ที่มีโรงพยาบาลในเครือถึง 5 แบรนด์หลัก คือ โรงพยาบาลกรุงเทพ สมิติเวช บีเอ็นเอช พญาไท และเปาโล รวมทั้งมีโรงพยาบาลในประเทศกัมพูชา ภายใต้แบรนด์ Royal International Hospital และกลุ่มโรงพยาบาลในท้องถิ่นอีกหลายแบรนด์ ซึ่งตามแผนระยะ 5 ปี ตั้งเป้ายกระดับเป็น Center of Excellence รองรับโครงการศูนย์สุขภาพแบบครบวงจร

หรือกรณีกลุ่มบริษัทโรงพยาบาลกล้วยน้ำไทเตรียมแผนพัฒนาโครงการศูนย์สุขภาพในเขตเมือง เพื่อต่อยอดและขยายบริการธุรกิจสุขภาพมากขึ้น จากปัจจุบันมีโรงพยาบาลในเครือ 2 แห่ง คลินิก 11 แห่ง โรงเรียนฝึกพยาบาลและซีเนียร์ โฮม เฮลธ์แคร์ รวมทั้งปรับเปลี่ยนศูนย์สุขภาพในเครือ ซึ่งตั้งอยู่ที่ ปากช่อง-เขาใหญ่ จ.นครราชสีมา จาก Ozone Resort เป็น Ozone Health Resort เพิ่มโปรแกรมการดูแลสุขภาพมากขึ้น

ส่วนโรงพยาบาลยันฮี ซึ่งถือเป็นโรงพยาบาลที่เคยชูจุดขายด้านสุขภาพและศัลยกรรมความงาม ล่าสุดใช้งบ 10 ล้านบาท เปิด “ศูนย์ผู้สูงอายุยันฮี” เพื่อรองรับสังคมสูงวัยอย่างเต็มรูปแบบ พร้อมๆ กับรักษาจุดแข็งด้านบริการความงามควบคู่กันด้วย

แน่นอนว่า สงครามธุรกิจสุขภาพและความงามที่ร้อนแรงตลอดทั้งปี 2560 สำรวจตรวจสอบข้อมูล ทั้งผู้เล่นยักษ์ใหญ่และคู่แข่งหน้าใหม่ต่างทุ่มทุนเต็มที่ ฟันธง ปี 2561 สมรภูมิการแข่งขันรุนแรงขึ้นหลายเท่า และไม่ใช่แค่แนวรบในตลาดไทย แต่ยิงยาวถึงตลาดต่างประเทศด้วย

ใส่ความเห็น