ระบบขนส่งอัจฉริยะ กุญแจสำคัญในการปลดล็อคศักยภาพประเทศไทย ให้ก้าวไปสู่ “ดิจิทัลไทยแลนด์”
ด้วยจำนวนประชากรชนชั้นกลางที่ขยายตัวเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง กรุงเทพมหานครจึงเป็นเมืองที่กำลังมุ่งหน้าสู่การเป็น “เมกาซิตี้” (Megacity) หรือมหานครที่มีประชากรรวมมากกว่า 10 ล้านคน ซึ่งกว่าที่แต่ละเมืองจะก้าวสู่การเป็นเมกาซิตี้อย่างเต็มรูปแบบได้นั้น จำเป็นต้องรับมือและจัดการกับความท้าทายมากมายที่เกิดจากการขยายตัวของความเป็นเมือง การพัฒนาแผนแม่บทเชิงยุทธศาสตร์ที่สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่เมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ ต้องเร่งดำเนินการ เมื่อต้นปีที่ผ่านมา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ประกาศนโยบายในการส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ด้วยการนำเอาเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการบริหารจัดการการขยายตัวของความเป็นเมือง โดยยังคงรักษาอัตลักษณ์ท้องถิ่นของแต่ละเมืองไว้ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืนในทุกมิติ หนึ่งในแกนหลักสำคัญของวิสัยทัศน์การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ คือ การขับเคลื่อนระบบขนส่งอัจฉริยะ (Smart Mobility) ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อสร้างระบบขนส่งที่มีความยืดหยุ่น เข้าถึงง่าย และสะดวกสบายให้แก่ ประชาชนในเมือง รวมถึงนักท่องเที่ยว โดยภาครัฐได้เล็งเห็นความจำเป็นที่จะต้องมีการปฏิรูประบบขนส่งปัจจุบันให้มีประสิทธิภาพและมีการเชื่อมต่อที่คล่องตัวยิ่งขึ้น ผ่านการใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ Big Data ระบบคมนาคมขนส่งมักเป็นปัญหาหลักของหลายเมืองใหญ่ที่กำลังมุ่งพัฒนาไปสู่เมืองอัจฉริยะที่เติบโตอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาการจราจรติดขัดและมลพิษ ซึ่งเป็นผลมาจากจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงระบบการคมนาคมขนส่งที่ด้อยประสิทธิภาพ ปัจจัยเหล่านี้จึงเป็นอุปสรรคต่อการเดินทางและการพัฒนาเมือง สำหรับในประเทศไทยเองมีผลสำรวจพบว่า คนไทยเสียเวลาไปกับปัญหารถติดเฉลี่ยรวมกว่า 24 วันต่อปี (หรือเฉลี่ยมากกว่า 1.5 ชั่วโมงต่อวัน) ทั้งนี้ สาเหตุหลักของปัญหาการจราจรติดขัด คือ จำนวนรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นบนท้องถนน ในกรุงเทพฯ มีรถยนต์และมอเตอร์ไซค์ส่วนบุคคลที่จดทะเบียนกว่า 9.8 ล้านคัน
Read More