อนาคตปาล์มน้ำมันไทย บนมาตรฐานใหม่ของ EU
ความพยายามของกลไกรัฐภายใต้รัฐบาลประยุทธ์ 2 ในการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก โดยเฉพาะการแก้ปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ ดูจะเป็นหนึ่งในมาตรการเร่งด่วนที่ต้องได้รับการแก้ไขและเสริมเติมให้สังคมเศรษฐกิจไทยพลิกฟื้นจากอาการป่วยไข้ที่ดำเนินต่อเนื่องและซบเซามาเนิ่นนานตลอดห้วงเวลาการบริหารราชการแผ่นดินของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่เพิ่งพ้นสภาพและละจากอำนาจไปหลังจากที่รัฐบาลประยุทธ์ 2 แถลงนโยบายรัฐบาลต่อที่ประชุมรัฐสภา เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ประเด็นว่าด้วยราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ กลายเป็นหัวข้อและกระทู้ถาม ซึ่งนอกจากจะสะท้อนสภาพปัญหาของภาคการเกษตรไทยที่มีร่วมกันในแต่ละผลิตภัณฑ์แล้ว ยังมีนัยแฝงถึงการเรียกร้องให้กลไกรัฐเร่งแสวงหาและดำเนินมาตรการเพื่อลดทอนความยากลำบากของเกษตรกรผู้ประกอบการ และวางมาตรการระยะยาวเพื่อส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนในอนาคต การกล่าวถึงบทบาทของพืชพลังงานในนโยบายด้านพลังงานของรัฐบาล นอกจากจะเป็นไปเพื่อการเสริมสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยกระจายชนิดของเชื้อเพลิงทั้งจากฟอสซิลและจากพลังงานทดแทนอย่างเหมาะสมแล้ว กรณีดังกล่าวยังมีเนื้อหาที่มุ่งส่งเสริมให้มีการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B20 และ B100 เพื่อเพิ่มการใช้และดูดซับน้ำมันปาล์มดิบ (Crude Palm Oil: CPO) ด้วยหวังว่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยยกระดับราคาน้ำมันปาล์มให้สูงขึ้นได้ ท่วงทำนองแห่งมาตรการดังกล่าวได้รับการขับเน้นขึ้นอีก หลังจากที่การประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ซึ่งมี สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นประธาน มีมติขยายระยะเวลาให้ระดับราคาขายปลีกน้ำมันไบโอดีเซลบี 20 ต่ำกว่าดีเซลปกติ (บี 7) ที่อัตรา 5 บาทต่อลิตร จากเดิมที่มาตรการดังกล่าวจะสิ้นสุดอายุในวันที่ 31 กรกฎาคม ออกไปอีก 2 เดือน
Read More