อุทยานจุฬาฯ 100 ปี ปอดใหม่ใจกลางเมือง
การขยายพื้นที่ธุรกิจกลางเมืองในปัจจุบัน นอกจากจะเป็นตัวชี้วัดความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจอย่างหนึ่งแล้ว ยังได้นำพาเอาความสะดวกสบายเข้ามาใกล้เรา ซึ่งช่วยให้เราใช้ชีวิตในยุคที่ทุกอย่างอาศัยความเร็วได้ง่ายขึ้น หากแต่ก็ทำให้ภูมิทัศน์ของรูปแบบเมืองแปรสภาพไปเป็นป่าคอนกรีตอย่างรวดเร็ว โครงการคอนโดมิเนียมทุกระดับราคา และห้างสรรพสินค้าที่ปักหมุดกระจุกตัวอยู่กลางเมือง ที่แทบจะถมพื้นที่ว่างจนเต็ม กระทั่งต้องขยายตัวออกไปรอบนอกตามกลยุทธ์แย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาด ที่เรียกได้ว่า เป็นเกมการแข่งขันที่ดุเดือดอยู่ตลอดเวลา การเติบโตและขยายตัวอย่างรวดเร็วของป่าคอนกรีตทำให้ในหลายๆ ครั้งที่เรามักเรียกร้องขอคืนพื้นที่สีเขียวท่ามกลางตึกรามที่ขึ้นเบียดเสียดกันอย่างรวดเร็ว แต่การเรียกร้องที่ว่าไม่ได้ปรากฏชัดในรูปแบบของการแสดงออกเฉกเช่นที่มีการแสดงออกหรือปลุกระดมในเรื่องอื่นๆ หากแต่ความต้องการพื้นที่สีเขียวของคนกรุงกลับเป็นอาการของความโหยหาพื้นที่ที่อาจจะเป็นปอดที่อุดมไปด้วยออกซิเจนอันบริสุทธิ์เท่าที่ต้นไม้ใหญ่จะสามารถสร้างขึ้นมาได้ท่ามกลางมลพิษของเมืองหลวง และสภาพของเมืองที่แออัดไปด้วยอาคารคอนกรีตที่ถูกออกแบบให้มีสภาพแข็งแรง และดีไซน์โดดเด่นที่เห็นได้จากภายนอก ซึ่งกลายเป็นจุดสนใจของผู้พบเห็น เสมือนอาหารตาอย่างหนึ่ง หาใช่อาหารที่มากไปด้วยประโยชน์เท่าอากาศบริสุทธิ์ไม่ หลายคนมักเลือกเดินทางออกต่างจังหวัดเพื่อไปสูดอากาศบริสุทธิ์ ซึ่งแม้จะเป็นผลดีต่อการท่องเที่ยวไทย ที่อย่างน้อยจำนวนนักท่องเที่ยวไทยก็เพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ กระนั้นคงจะดีหากเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ จะมีปอด หรือสวนสาธารณะเพิ่มขึ้นในจำนวนเดียวกับที่มีห้างสรรพสินค้าเกิดขึ้น บริเวณศูนย์การค้าสยามสแควร์ในวันที่เป็นแหล่งรวมร้านค้าที่มีอัตลักษณ์ของตัวเอง พื้นที่บางส่วนของคอมมูนิตี้ มอลล์ ถูกแบ่งให้กับนิทรรศการ “สถาปัตยกรรม 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ซึ่งภายในนิทรรศการนี้บอกเล่าเรื่องราวในวาระสำคัญที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีอายุครบ 100 ปี เพื่อเป็นการย้อนรำลึกถึงเรื่องราวในศตวรรษที่ 1 ก่อนจะก้าวย่างไปสู่ศตวรรษที่ 2 ของมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทย ภายในนิทรรศการมีการรวบรวมเรื่องราวของสถาปัตยกรรมที่เกิดขึ้นในจุฬาฯ ตลอด 1 ศตวรรษ ถ่ายทอดผ่านชิ้นส่วนจำลองและเทคโนโลยี AR Code ที่เปิดโอกาสให้ผู้เข้าชมดาวน์โหลดแอพลิเคชั่น A Century Of CU ที่ช่วยเพิ่มอรรถรสในการชมงานนิทรรศการ และสามารถเข้าใจเรื่องราวความเป็นไปทางประวัติศาสตร์ของจุฬาฯ
Read More