Make-Inu: สุนัขขี้แพ้
การดูหมิ่นเหยียดหยามหรือแม้กระทั่งการทอนคุณค่าของผู้คนให้เสื่อมเสียศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ ดูจะเรื่องราวที่เกิดขึ้นในแทบทุกสังคมนะคะ และเป็นกรณีที่เกี่ยวเนื่องกับรากฐานและพัฒนาการทางวัฒนธรรมของแต่ละสังคมไม่น้อยเลย ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่นในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ก็ไม่ได้มีข้อยกเว้นให้สามารถหลีกหนีปรากฏการณ์เช่นที่ว่านี้แต่อย่างใด สังคมญี่ปุ่นได้รับการกล่าวถึงในฐานะที่เป็น Male Dominant Society มาอย่างยาวนาน แต่การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเงื่อนเวลาในปัจจุบัน ทำให้ผู้หญิงญี่ปุ่นกลายเป็นขุมพลังในการขับเคลื่อนกลไกทางสังคมและเศรษฐกิจที่ทวีบทบาทอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน บทบาทของผู้หญิงญี่ปุ่นในปัจจุบันไม่ได้ถูกจำกัดไว้เพียงการเป็นแม่บ้านที่ต้องดูแลความเรียบร้อยภายในบ้านและเลี้ยงดูกุลบุตรกุลธิดาอีกต่อไปแล้วนะคะ หากแต่สามารถยืนหยัดเลี้ยงตัวเองได้มากขึ้น โดยมีสถานะของการเป็น Office Ladies หรือ OLs เป็นภาพจำลองที่กระตุ้นเร้าให้ผู้หญิงเข้าทำงานในระบบอย่างต่อเนื่อง การเกิดขึ้นของกลุ่มผู้หญิงทำงานในสำนักงานหรือ OLs ซึ่งถือเป็นชนชั้นใหม่ในสังคมญี่ปุ่นในช่วงที่ผ่านมา ได้ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทั้งในมิติทางสังคมและเศรษฐกิจของญี่ปุ่นอย่างกว้างขวาง ขณะเดียวกันก็ติดตามมาด้วยราคาที่ต้องจ่ายพอสมควรทีเดียว อิสรภาพที่ได้มาจากการปลดเปลื้องพันธนาการของการพึ่งพิงรายได้จากฝ่ายชาย นอกจากจะส่งผลให้แนวโน้มความนิยมที่จะครองความเป็นโสดและใช้ชีวิตอิสระของสตรีญี่ปุ่น หรือแม้กระทั่งการยอมรับสถานะของผู้หญิงที่เป็น Single Parent ที่เพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ เป็นปัจจัยหนุนเสริมให้สตรีญี่ปุ่นในกลุ่มนี้พร้อมที่จะจับจ่ายเงินเพื่อบำรุงความสุขและความต้องการของพวกเธอได้อย่างเสรี วาทกรรมว่าด้วย “สุนัขขี้แพ้” (make-inu: มาเกะ-อินุ) ที่เหยียดหยามผู้หญิงในวัย 30ปีขึ้นไปที่เลือกจะใช้ชีวิตโสดโดยไม่แต่งงานและไม่มีบุตร ด้วยนัยที่บ่งชี้ว่าเป็นเพราะพวกเธอเป็นเพียงสิ่งมีชีวิตที่ไม่มีคุณค่า และไม่มีใครต้องการ จึงต้องครองความเป็นโสดและอยู่ในโลกของพวกเธอเพียงลำพัง กลายเป็นประหนึ่งหอกแหลมที่ทิ่มแทงลงไปในความรู้สึกของหญิงสาวกลุ่มนี้ให้ต้องเผชิญกับความเจ็บแปลบไม่น้อย ขณะเดียวกันประพฤติกรรมในลักษณะ self satisfaction อย่างสุดโต่งของสตรีญี่ปุ่นกลุ่มนี้ ได้ก่อให้เกิดกระแสการค่อนขอดอย่างเสียหายและถึงขั้นกล่าวหาพวกเธอว่าเป็น parasite singles หรือ “คนโสดที่เป็นพยาธิของสังคม” เลยทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ยุคเศรษฐกิจตกต่ำในช่วงที่ผ่านมา ผู้เขียนเชื่อว่าหากข้อกล่าวหาเหล่านี้ปรากฏขึ้นในสังคมไทย กลุ่มพิทักษ์สิทธิสตรีในสังคมไทยคงต้องลุกขึ้นทักท้วงและตอบโต้ผู้พูดว่าละเมิดหรือเหยียดหยามสตรีเพศอย่างไม่น่าให้อภัยแน่นอน เพราะไม่ว่าจะเทียบผู้หญิงเป็นสุนัข หรือพยาธิ ก็คงไม่งามและไม่บังควรอยู่แล้ว
Read More