พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานฉบับใหม่ ฤๅเป็นเพียงฝันค้างที่แสนหวาน
ข่าวการลงมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ... โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา นอกจากจะเป็นการปรับแก้กฎหมายคุ้มครองแรงงานเพื่อทดแทน พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ที่ใช้มานานกว่า 20 ปีแล้ว ยังมีการกำหนดเพิ่มเติมนิยาม “ค่าตอบแทน” และสาระสำคัญที่ดูเหมือนการเพิ่มสิทธิให้แก่ลูกจ้างอีกด้วย ความพยายามที่จะปรับแก้กฎหมายคุ้มครองแรงงานให้มีความทันสมัยและสอดคล้องกับสถานการณ์และบริบททางเศรษฐกิจสังคมที่เปลี่ยนไป นับเป็นเรื่องที่น่าชื่นชม เพราะตลอดเวลานับตั้งแต่มีการบังคับใช้ พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน เมื่อปี 2541 ยังพบว่ามีช่องโหว่ทำให้ลูกจ้างไม่ได้รับความเป็นธรรม โดยเฉพาะการถูกเลิกจ้าง จนนำไปสู่ปัญหาการร้องเรียน และกลายเป็นกรณีพิพาทระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของลูกจ้างมาโดยตลอด หากแต่สภาพข้อเท็จจริงและการปฏิบัติตามข้อบังคับของการใช้กฎหมายฉบับใหม่ที่ว่านี้ อาจจะดูเป็นเพียง “ฝันค้างที่แสนหวาน” และหลักประกันที่อาจไม่มีการรับรองให้เกิดผลได้จริงสำหรับลูกจ้าง เมื่อต้องเผชิญสภาพเลวร้ายจากการล่มสลายของนายจ้างที่ทำให้ต้องบอกเลิกการจ้างงานอย่างจริงจังอีกครั้งหนึ่ง สาระสำคัญที่เพิ่มเติมและมีประเด็นให้พิจารณาในกฎหมายดังกล่าว นอกจากจะอยู่ที่ประเด็นสิทธิพื้นฐานว่าด้วย กำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิลากิจธุระอันจำเป็นปีหนึ่งไม่น้อยกว่า 3 วันทำงาน และกำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างในวันลาเพื่อกิจธุระอันจำเป็นหนึ่งไม่น้อยกว่า 3 วันทำงาน หรือการกำหนดให้ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงมีครรภ์มีสิทธิลาเพื่อตรวจครรภ์ในระหว่างตั้งครรภ์ได้ โดยเมื่อรวมกับการลาเพื่อคลอดบุตรแล้วครรภ์หนึ่งไม่เกิน 90 วัน และกำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงในวันลาเพื่อตรวจครรภ์และเพื่อคลอดบุตรเท่ากับค่าจ้างในวันทำงานตลอดระยะเวลาที่ลา แต่ไม่เกิน 45 วัน และกำหนดให้งานที่มีคุณค่าเท่ากันลูกจ้างชายหรือหญิงได้รับค่าจ้างเท่าเทียมกัน แต่ประเด็นที่เป็นจุดใหญ่ใจความของร่าง พ.ร.บ. ฉบับใหม่นี้อยู่ที่การกำหนดให้เพิ่มเติมนิยาม “ค่าตอบแทน” ในมาตรา 5
Read More