อนาคตของสื่อไทย หมดเวลาของนักวิชาชีพ??
ข่าวการปิดตัวลงของสื่อสิ่งพิมพ์หลายสำนักในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงการรุกคืบเข้ามาของกลุ่มทุนใหญ่เพื่อถือครองหุ้นและลงทุนในธุรกิจสื่อได้ก่อให้เกิดคำถามถึงทิศทางของสื่อสารมวลชนไม่จำกัดเฉพาะในมิติของสื่อสิ่งพิมพ์เท่านั้น หากแต่หมายรวมครอบคลุมไปสู่สื่อวิทยุโทรทัศน์อย่างรอบด้านด้วย สาเหตุหลักที่ทำให้สื่อสิ่งพิมพ์หลายแห่งจำเป็นต้องยุติการพิมพ์ในด้านหลักมักดำเนินไปภายใต้คำอธิบายที่ยึดโยงกับภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง และส่งผลกระทบต่อเนื่องไปสู่รายได้จากค่าโฆษณาที่ทยอยปรับตัวลงตามแนวโน้มดังกล่าว ขณะที่ต้นทุนการผลิตไม่ได้ปรับตัวลดลง มิหนำซ้ำยังมีแนวโน้มที่จะปรับตัวสูงขึ้น ความไม่สมดุลที่ว่านี้ได้กลายเป็นกับดักให้ผู้ประกอบการสื่อสิ่งพิมพ์จำนวนไม่น้อยเริ่มขาดทุนสะสมและกลายเป็นภาระหนี้ ที่นำไปสู่การล่มสลายและปิดตัวลงไปในที่สุด กระนั้นก็ดี ประเด็นที่มีความแหลมคมยิ่งไปกว่านั้นก็คือการปรับเปลี่ยนประพฤติกรรมของผู้บริโภค และการมาถึงของสื่อดิจิทัล ออนไลน์ ที่ดูจะตอบสนองและสอดรับกับวิถีชีวิตของผู้คนร่วมสมัย ซึ่งแม้ว่าผู้ประกอบการหลายรายจะพยายามดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดด้วยการปรับเนื้อหา รวมถึงช่องทางในการเข้าถึงไปสู่การนำเสนอในรูปแบบของ e-magazine e-contents อย่างขะมักเขม้น หากแต่พัฒนาการของเทคโนโลยีที่เลื่อนไหลอย่างรวดเร็วนี้ ทำให้ผู้ประกอบการต้องเผชิญกับความท้าทายในการพัฒนาที่เกี่ยวเนื่องกับทั้งมิติของเงินทุนและกรอบเวลาใหม่ของการนำเสนอ ขณะที่กลไกการแสวงหารายได้จากสื่อที่ว่านี้วิ่งตามไปไม่ทันและบ่อยครั้งดำเนินไปด้วยความเฉื่อยจากความคุ้นชินของทีมงานฝ่ายขายที่ยังจ่อมจมอยู่กับภาพความรุ่งเรืองในอดีตของธุรกิจสิ่งพิมพ์ ก่อนหน้านี้มีการประเมินว่า มูลค่าเงินโฆษณาที่กระจายเข้าสู่สื่อสิ่งพิมพ์เฉพาะในกลุ่มนิตยสารมีอยู่ในระดับประมาณ 6 พันล้านบาทต่อปี ซึ่งการปิดตัวลงของนิตยสารหลายฉบับในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ผู้ประกอบการจำนวนหนึ่งยังเชื่อว่าหากสามารถรักษาตัวรอดต่อไปได้ก็ยังมีโอกาสในทางธุรกิจอยู่บ้างจากข้อเท็จจริงที่ว่าจำนวนหัวหนังสือที่จะมาแย่งชิงส่วนแบ่งเงินค่าโฆษณานี้มีลดลง แม้ว่าในอีกด้านหนึ่งเม็ดเงินโฆษณาในตลาดอาจลดลงไปก็ตาม ทั้งนี้ยังไม่นับรวมถึงความพยายามของผู้ประกอบการสื่อหลายแห่ง ที่พยายามต่อยอดและมีส่วนร่วมอยู่ในกระบวนการพัฒนาของโทรทัศน์ดิจิทัล ด้วยหวังว่าเนื้อหาสาระและคลังข้อมูลที่มีอยู่จะสามารถนำไปปรับใช้ และเผยแพร่ผ่านช่องทางสื่อชนิดใหม่ ซึ่งนอกจากจะเป็นไปเพื่อรักษาสถานภาพของการเป็นสื่อควบคู่กับการดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดทางธุรกิจ กรณีดังกล่าวได้กลายเป็นทั้งความพยายามและความเสี่ยงที่ทำให้สภาพและสถานการณ์ทางธุรกิจของผู้ประกอบการแต่ละแห่งดำเนินไปอย่างไร้ทางออกยิ่งขึ้นอีก ปรากฏการณ์แห่งการล่มสลายของผู้ประกอบการสิ่งพิมพ์ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในบริบทของสังคมไทยแต่โดยลำพังหากแต่เป็นกระแสธารแห่งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ Time Inc. บริษัทสื่อที่มีอายุยืนยาวนับร้อยปี และเป็นเจ้าของนิตยสาร Time และสื่อแบรนด์ดังในเครือทั้ง Sport Illustrated, People, Moneyและ Fortune ที่ประกาศปิดดีลขายกิจการให้กับ Meredith Corporation ยักษ์ใหญ่วงการสื่อของสหรัฐอเมริกาด้วยมูลค่า 2.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ
Read More