นโยบายพลังงาน เฟืองตัวใหม่ปลุกเศรษฐกิจไทย?
ท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจไทยที่ดัชนีชี้วัดหลากหลายสะท้อนภาพความตกต่ำไม่ว่าจะเป็นตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การส่งออกที่ติดลบ การชะลอตัวลงของกำลังซื้อในตลาดอสังหาริมทรัพย์ ขณะที่สถานการณ์ราคาพืชผลทางการเกษตรก็ยังไม่มีแนวโน้มจะกระเตื้องขึ้น หรือแม้กระทั่งการท่องเที่ยวที่ซบเซาจากผลของอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น จนนำไปสู่ข้อกังขาว่ารัฐบาลประยุทธ์ 2 จะนำพารัฐนาวาฝ่าคลื่นลมของปัญหาทางเศรษฐกิจที่รุมเร้า ไม่ให้เกิดเป็นวิกฤตได้อย่างไร ความเคลื่อนไหวของกลไกรัฐภายหลังการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ซึ่งเป็นประหนึ่งการเริ่มต้นบริหารราชการแผ่นดินอย่างเป็นทางการของรัฐบาลประยุทธ์ 2 จึงได้รับการจับตามองเป็นพิเศษว่าจะนำเสนอมาตรการหรือขับเคลื่อนองคาพยพของสังคมเศรษฐกิจไทยไปในแนวทางที่ได้แถลงนโยบายไว้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและสามารถก่อให้เกิดพัฒนาการที่เป็นรูปธรรมให้จับต้องได้มากน้อยเพียงใด ประการสำคัญยิ่งไปกว่านั้นคือจะสามารถพยุงหรือฉุดสภาพเศรษฐกิจที่ซบเซานี้ให้ตื่นฟื้นขึ้นมาได้หรือไม่ การประกาศของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ด้วยการระบุว่ากำลังจะปรับปรุงแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย 2561-2580 (Power Development Plan: PDP2018) ทั้งที่แผนดังกล่าวเพิ่งผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2562 และผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2562 จึงเป็นจังหวะก้าวที่น่าสนใจไม่น้อยสำหรับการปรับกระบวนทัศน์ของรัฐบาลประยุทธ์ 2 ที่อาจมีผลเกี่ยวเนื่องกับความเป็นไปของทั้งพลังงานและเศรษฐกิจไทยในอนาคต ก่อนหน้านี้ สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และประธานคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้แสดงบทบาทนำในการใช้กลไกของนโยบายด้านพลังงานเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในมาตรการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ด้วยการขยายระยะเวลาในการตรึงราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ภาคครัวเรือน (กลุ่มร้านค้า หาบเร่ แผงลอยอาหาร) และตรึงราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) สำหรับรถโดยสารสาธารณะต่อไปอีก 2 เดือน (สิงหาคม-กันยายน
Read More