ทวาย: ความเคลื่อนไหวในสายลมแล้ง กลางสนามประลองของมหาอำนาจ
ข่าวความคืบหน้าเกี่ยวกับโครงการลงทุนเพื่อพัฒนาท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย กลับมาอยู่ในความสนใจและเป็นประเด็นให้ผู้ที่ติดตามใฝ่ถามหาข้อมูลกันอย่างคึกคัก หลังจากที่ตลอดเวลาที่ผ่านมาโครงการดังกล่าวดูจะอุดมไปด้วยความคลุมเครือและไม่ปรากฏท่วงทำนองในทิศทางที่แจ่มชัด ควบคู่กับความล่าช้าที่ทำให้หลายฝ่ายกังวลและสงสัยว่าโครงการนี้จะเดินหน้าต่อหรือไม่ ย้อนหลังกลับไปอภิมหาโครงการแห่งนี้ ได้รับการประเมินจากหลายฝ่ายว่าเป็นความทะเยอทะยาน และกำลังจะเป็นการวางรากฐานการรุกคืบในเชิงยุทธศาสตร์การพัฒนาครั้งสำคัญของสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อประกอบส่วนกับข้อเท็จจริงที่ว่าโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายมิได้มีนัยความหมายจำกัดอยู่เฉพาะบริบทความเป็นไปในเมียนมาร์ หรือแม้แต่ประโยชน์ของเอกชนรายใดรายหนึ่งแต่เพียงลำพัง หากแต่โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายกำลังปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์ทั้งด้านการค้าการลงทุน อุตสาหกรรมและการคมนาคมทั้งในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอาจขยายไปสู่บริบทที่กว้างขวางกว่านั้นด้วย ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจประการหนึ่งก็คือ ด้วยระยะทาง 160 กิโลเมตรของเส้นทางที่เชื่อมโยงระหว่างท่าเรือน้ำลึกทวายกับด่านพุน้ำร้อน จังหวัดกาญจนบุรี จะมีสถานะเป็น land bridge เชื่อมโยงการค้าระหว่างมหาสมุทรอินเดียกับมหาสมุทรแปซิฟิกที่สั้นที่สุด ยังไม่นับรวมเส้นทางที่จะเชื่อมท่าเรือทวาย-กาญจนบุรี-แหลมฉบัง ในลักษณะที่จะเป็นอภิมหาโครงการที่เชื่อมโยงตะวันตก-ตะวันออกของไทย รวมถึงการต่อเชื่อมเข้ากับ Southern Corridor ที่จะมีท่าเรือน้ำลึกปากบาราที่อยู่ในแผนพัฒนาเข้ามารองรับโครงการนี้ กระนั้นก็ดี ด้วยพื้นฐานและความสืบเนื่องของโครงการที่เกิดขึ้นจากรากและผลของการที่บริษัทเอกชนไทย ได้รับสัมปทานในการพัฒนาพื้นที่ ก่อสร้าง และหาแหล่งทุน ที่มีลำดับขั้นและพัฒนาการมาตั้งแต่เมื่อช่วงกลางปี 2551 ก่อนที่จะมีการลงนามในข้อตกลงเรื่องสิทธิในการพัฒนาและดำเนินการบริหารโครงการทวายตามระยะเวลาการเช่าที่ดิน เป็นเวลามากกว่า 75 ปี ในช่วงปลายปี 2553 ทำให้ความเป็นไปของโครงการที่ว่านี้ ได้รับการประเมินในมิติที่โครงการดังกล่าวเป็นเพียงเรื่องราวระหว่างเอกชนไทยรายหนึ่ง ที่ได้เข้าไปเป็นคู่สัญญากับรัฐบาลแห่งเมียนมาร์ โดยที่เอกชนรายที่ว่าก็คงอยู่ในตำแหน่งและบทบาทไม่แตกต่างจาก “นายหน้าที่วิ่งเร่ขายโครงการ” ให้กับผู้ร่วมทุนหรือผู้ประกอบการรายอื่นๆ การดำเนินการของรัฐบาลไทย เพื่อผลักดันโครงการดังกล่าวในช่วงก่อนหน้านี้ จึงถูกประเมินอย่างเคลือบแคลงว่าเป็นไปเพื่อการโอบอุ้มผลประโยชน์ของกลุ่มธุรกิจในเครือข่ายอำนาจหรือไม่ หรือเป็นการเข้าร่วมโครงการอย่างมีวิสัยทัศน์ในเชิงยุทธศาสตร์ โดยเฉพาะการกำหนดบทบาทและการพัฒนาในระดับภูมิภาค ซึ่งต้องยอมรับว่ากระบวนการสารนิเทศเกี่ยวกับโครงการทวายนี้มีความด้อยประสิทธิภาพและไม่สามารถสื่อสารทำความเข้าใจกับประชาชน หรือแม้แต่ฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้อย่างชัดเจนว่า รัฐบาลมีแนวทางและกำหนดบทบาทในเชิงยุทธศาสตร์ในเรื่องนี้ไว้อย่างไร และเมื่อ คสช. เข้ายึดอำนาจรัฐอย่างเบ็ดเสร็จ ก็ดูเหมือนว่าโครงการทวายจะเป็นโครงการลำดับต้นๆ ที่
Read More