Home > Avurudu

เทศกาลแห่งการเฉลิมฉลอง

 Column: AYUBOWAN บรรยากาศที่แปรปรวนเหนือท้องนภาแห่งเมืองฟ้าอมรก่อนการเฉลิมฉลองเทศกาลสงกรานต์ในประเทศไทย คงทำให้ใครต่อใครได้ซาบซึ้งและร่วมพรรณนาถึงประสิทธิภาพในการบริหารของผู้มีหน้าที่ในการจัดการของสังคมไทยอยู่ไม่น้อยเลยนะคะ เทศกาลสงกรานต์ของไทยเป็นเทศกาลแห่งการเฉลิมฉลองที่อยู่ร่วมหรือแชร์พื้นฐานความเป็นไปกับอีกหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และรวมถึงอีกฝั่งฟากของของมหาสมุทรในดินแดนเอเชียใต้อีกด้วยนะคะ  ด้วยเหตุที่ประเทศเหล่านี้ต่างมีพื้นฐานและคติความเชื่อที่ยึดโยงกับดวงดาวและกาลเวลา โดยถือว่าปีใหม่เริ่มต้นขึ้นเมื่อดวงอาทิตย์ย้ายจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษ และถือเป็นการสิ้นสุดฤดูการเก็บเกี่ยวที่ติดตามมาด้วยการเฉลิมฉลองแห่งการได้มาซึ่งผลผลิตประจำปี แต่การเฉลิมฉลองสงกรานต์ในแต่ละประเทศคงไม่มีที่ใดสนุกครื้นเครงและระห่ำเดือดได้อย่างสุดขีดเท่าที่เกิดขึ้นในประเทศไทยหรอกนะคะ เพราะดูเหมือนว่าแม้ผู้คนในสังคมไทยจะมีความกังวลเรื่องปัญหาทางเศรษฐกิจที่ดูเหมือนจะบีบรัดและเขม็งเกลียวหนักหน่วงขึ้นเป็นลำดับ แต่คุณสมบัติหลักของคนไทยว่าด้วยความรักสนุก ทำให้แม้จะเผชิญปัญหานานาเราก็ยังเฮฮาได้ไม่ขาด แต่สำหรับอีกฟากฝั่งของมหาสมุทรอินเดีย ในดินแดนที่เรียกว่าศรีลังกา ผู้คนที่นี่ก็กำลังเฉลิมฉลอง Aluth Avurudda หรือ Avurudu ด้วยความสงบ พร้อมกับการจับจ่ายซื้อสินค้าทั้งอุปโภคและบริโภคเพื่อการเดินทางกลับภูมิลำเนาและใช้ชีวิตในช่วงวันหยุดนี้อยู่กับครอบครัว กิจกรรมหนึ่งในช่วงเทศกาล Avurudu ที่ร้านรวงต่างๆ นำเสนอต่อผู้บริโภคจึงเป็นกิจกรรมลดราคาสินค้าชนิดที่เรียกว่าลดกระหน่ำ summer sale ไม่ต่างกระแสลมในช่วงเปลี่ยนผ่านแห่งฤดูกาล และเป็นการกระตุ้นกำลังซื้อของผู้คนทุกระดับสถานะในสังคมไปในคราวเดียวกัน ตามประกาศของทางราชการศรีลังกา Avurudu ซึ่งอยู่ในช่วง 13-14 เมษายน ถือเป็นวันหยุดสำคัญประจำปี แต่สำหรับภาคเอกชนทั่วไปวันหยุด Avurudu อาจทอดยาวตลอดสัปดาห์ ซึ่งหมายรวมถึงร้านค้า ร้านอาหารและภัตตาคารด้วยนะคะ เพราะ Avurudu ถือเป็นเทศกาลของครอบครัว และ “home do” ที่ทุกคนในครอบครัวต่างมาร่วมด้วยช่วยกันมากกว่าการออกไปมะเทิ่งตามท้องถนน ภายใต้รูปแบบของสังคมเกษตรกรรม Avurudu ซึ่งถือเป็นการสิ้นสุดฤดูกาลเก็บเกี่ยว ทำหน้าที่เป็นประหนึ่งการสำรวจมาตรฐานและชื่นชมผลผลิตประจำปี เพราะผลผลิตโดยเฉพาะข้าวจากแปลงนาที่ได้หว่านกรำมาตลอดฤดูเพาะปลูกจะได้รับการปรุงเป็นอาหารมื้อแรกแห่งปีใหม่ เมนูอาหารประจำ Avurudu นอกจากจะมีข้าวสารหุงสุกจนเป็นข้าวสวยแล้ว ยังได้รับการปรุงแต่งเป็นผงแป้งเพื่อประกอบเป็นอาหารคาวหวานหลากหลายร่วมสำรับพิเศษในเทศกาลนี้ ในสังคมศรีลังกา ซึ่งก็คงไม่แตกต่างไปจากสังคมอื่นๆ ที่บางครั้งและบางห้วงอารมณ์ก็ตกอยู่ในภาวะที่โหยหาช่วงวันคืนในยุคสมัยบ้านเมืองดี ความเป็นไปของ

Read More

AVURUDU Sri Lanka

 ในขณะที่สังคมไทยกำลังเข้าสู่ช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลองรื่นเริงเนื่องในวันสงกรานต์หรือวันขึ้นปีใหม่แบบไทย ด้วยความรู้สึกระคนกันทั้งความกังวลเรื่องปัญหาทางเศรษฐกิจที่ดูเหมือนจะบีบรัดและเขม็งเกลียวหนักหน่วงขึ้นเป็นลำดับ สอดรับกับสถานการณ์ทางการเมืองที่ยังไม่สามารถแสวงหาทางออกจากภาวะชะงักงันได้อย่างชัดเจน อีกฟากฝั่งของมหาสมุทรอินเดีย ในดินแดนที่เรียกว่าศรีลังกา ผู้คนที่นี่ก็กำลังเฉลิมฉลอง Aluth Avurudda หรือ Avurudu ซึ่งก็คือเทศกาลขึ้นปีใหม่ของชาวสิงหล (Singhalese) ที่เกี่ยวเนื่องในเชิงวัฒนธรรมกับเทศกาลสงกรานต์และการเถลิงศกใหม่ของทั้งภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตามการยึดถือปฏิทินตามแบบสุริยคติไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน แต่ที่จะแตกต่างกันไปบ้างสำหรับช่วงเวลาสำคัญแห่งปีนี้ ก็คือ ดูเหมือนว่าชาวศรีลังกาส่วนใหญ่มีโอกาสได้เฉลิมฉลองวันขึ้นปีใหม่ ท่ามกลางความรู้สึกที่รื่นเริงและเปี่ยมความหวังสำหรับอนาคตที่กำลังจะงอกเงยขึ้น มากกว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เป็นการเริ่มต้นปีใหม่ ควบคู่กับความหวังถึงสันติภาพและความจำเริญที่ยั่งยืนไปพร้อมๆ กับโอกาสครบวาระ 5 ปีของการสิ้นสุดสงครามกลางเมืองในเดือนพฤษภาคมที่กำลังจะมาถึงนี้ ภาวะสงครามกลางเมือง (Civil War) ที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ระหว่างรัฐบาลศรีลังกาที่เป็นตัวแทนของเสียงส่วนใหญ่ชาวสิงหล กับชนกลุ่มน้อยชาวทมิฬ ที่ทอดระยะเวลาเนิ่นนานกว่า 3 ทศวรรษนับตั้งแต่ช่วงกลางปี 1983 จนถึงเมื่อรัฐบาลประกาศชัยชนะอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเหนือกองกำลังติดอาวุธพยัคฆ์ทมิฬอีแลม (Liberation Tigers of Tamil Eelam: LTTE) เมื่อเดือนพฤษภาคม 2009 ได้สร้างบาดแผลและร่องรอยเจ็บลึกลงไปในสังคมศรีลังกา ซึ่งเป็นพหุสังคมที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ไม่น้อยเลย ความสูญเสียในเชิงสังคมตามการประเมินของสหประชาชาติ (UN) ซึ่งนับเป็นจำนวนชีวิตของประชาชนนับแสนคน ทั้งที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐและพลเรือนที่ต้องเสียชีวิตไปในความขัดแย้งที่ยาวนานนี้ ย่อมไม่สามารถคำนวณเป็นมูลค่าใดๆ ได้ หากแต่ย่อมเป็นบทเรียนและกรณีศึกษาที่มีคุณค่าและนัยความหมายอย่างยิ่งสำหรับการก้าวเดินไปข้างหน้าในอนาคต ขณะที่มูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจตลอดระยะเวลาแห่งความขัดแย้งยาวนานเกือบ 3 ทศวรรษได้รับการประเมินว่ามีมากถึง 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ

Read More