นักวิจัยแนะระบบการจัดการน้ำท่วมของรัฐ ควบคู่กับการวิจัยตามหลักวิศวกรรมศาสตร์
รศ. ดร. สุจริต คูณธนกุลวงศ์ ประธานแผนงานวิจัยเข็มมุ่งด้านการบริหารจัดการน้ำ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ โดยการสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และนักวิจัยสังกัดหน่วยปฏิบัติการวิจัยระบบการจัดการแหล่งน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงสถานการณ์ฝนในปีนี้ของประเทศไทยว่ามีฝนตกเร็วในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม แต่หลังจากนั้นสภาพฝนลดลงและฝนมาตกมากอีกครั้งในช่วงกลางเดือนกันยายน เนื่องจากมีร่องความกดอากาศต่ำภายใต้ดีเปรสชั่นโกเชิน ตามด้วยดีเปรสชั่นเตี้ยนหมูในช่วงปลายเดือนกันยายน ส่งผลให้เกิดฝนตกหนักและน้ำท่วมอย่างรวดเร็วเฉพาะพื้นที่ เช่น นครราชสีมา ชัยภูมิ อ่างทอง สระบุรี อยุธยา และขึ้นเหนือด้วยอิทธิพลลมตะวันตกเฉียงใต้ไปยังพิษณุโลก กำแพงเพชร สุโขทัย ทำให้เกิดฝนตกหนักและภาวะน้ำท่วมอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะพื้นที่เชิงเขา พื้นที่ต่ำ ริมน้ำและนอกคัน โดยภาวะน้ำท่วมยังดำรงอยู่อีกระยะหนึ่ง จากน้ำท่าที่ตกด้านเหนือน้ำที่จะไหลลงมาสมทบอีก สำหรับแนวทางการบริหารจัดการน้ำในประเทศไทย ตามโครงสร้างการบริหารจัดการน้ำปรกติ ประกอบด้วย โครงสร้าง กฎกติกาการจัดการ รวมถึงการเตือนภัย การเผชิญภัยเพื่อลดความสูญเสียชีวิตและลดความเสียหาย และการพัฒนาความสามารถในการรับมือ ซึ่งที่ผ่านมามักเน้นพัฒนาโครงสร้างเพื่อบรรเทาภาวะน้ำ ซึ่งเป็นกระบวนการที่ใช้เวลายาวนานกว่าโครงการก่อสร้างจะสามารดำเนินการสร้างได้เสร็จ ทั้งนี้ การบริหารจัดการน้ำของไทยในช่วงที่ผ่านมามีการปรับปรุงขึ้นมาก โดยก่อนมหาอุทกภัย 2554 มีการแก้ไขปัญหาในแต่ละพื้นที่และเฉพาะหน้าจากประสบการณ์ที่มีอยู่
Read More