โอสถสภาตั้งศูนย์รีไซเคิล เดินหน้าบริหารจัดการบรรจุภัณฑ์ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ
โอสถสภาเดินหน้าบริหารจัดการบรรจุภัณฑ์ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ตั้งศูนย์รีไซเคิล รับขยะบรรจุภัณฑ์ขวดแก้วไม่จำกัดแบรนด์ โอสถสภา ผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคชั้นนำของประเทศไทย เล็งเห็นความสำคัญที่ผู้ผลิตจะเป็นฟันเฟืองสำคัญในการช่วยลดปัญหาขยะ เปิดศูนย์รีไซเคิลในจังหวัดสระบุรี พร้อมพัฒนามาตรการดูแลบรรจุภัณฑ์ให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุดตั้งแต่กระบวนการผลิตจนถึงการนำบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วมารีไซเคิลเป็นวัตถุดิบในการผลิตใหม่ “โอสถสภามุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจควบคู่กับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำมาโดยตลอด เพราะเราเชื่อว่าธุรกิจที่ดีต้องไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ชุมชนและสังคม เรามีนโยบายและมาตรการดูแลกระบวนการผลิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเน้นการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ ลดการใช้พลังงานและการใช้พลาสติกในกระบวนการผลิต นอกจากนี้ เรายังให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการบรรจุภัณฑ์แม้ว่าจะส่งผลิตภัณฑ์ถึงมือผู้บริโภคแล้ว โดยได้จัดตั้งศูนย์รีไซเคิลบรรจุภัณฑ์ขึ้นเพื่อเป็นอีกหนึ่งพลังในการช่วยลดปริมาณขยะและนำขยะมารีไซเคิลเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค้าและยาวนาน นำไปสู่การสร้างความยั่งยืนให้แก่ประเทศ” นางวรรณิภา ภักดีบุตร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) กล่าว สำหรับการบริหารจัดการบรรจุภัณฑ์ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำนั้น โอสถสภาให้ความสำคัญตั้งแต่การเลือกใช้วัตถุดิบของบรรจุภัณฑ์ ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ของโอสถสภา โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มบรรจุในขวดแก้วกว่าร้อยละ 70 ซึ่งสามารถนำกลับมารีไซเคิลใหม่ได้ ส่วนบรรจุภัณฑ์พลาสติกนั้น บริษัทฯ เริ่มใช้พลาสติกที่สามารถนำมารีไซเคิลได้ อาทิ บรรจุภัณฑ์ของผลิตภัณฑ์ออร์แกนิค บาย เบบี้มายด์ และยังส่งเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์แบบรีฟีล ซึ่งใช้พลาสติกในการผลิตน้อยกว่าแบบขวด นอกจากนั้น โอสถสภายังได้จัดตั้งศูนย์รีไซเคิลขึ้นในจังหวัดสระบุรี ที่สามารถคัดแยกบรรจุภัณฑ์ในรูปแบบขวดแก้วและกระป๋องได้ถึงวันละ 1,000 ตัน โดยเมื่อขยะบรรจุภัณฑ์เข้าสู่ศูนย์รีไซเคิล จะผ่านกระบวนการแยกขยะอย่างเป็นระบบ เพื่อนำขยะที่คัดแยกแล้วแต่ละประเภทไปรีไซเคิลเพื่อนำไปใช้ให้ได้ประโยชน์สูงสุด เช่น ขวดแก้วและเศษแก้วจะถูกส่งต่อไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตขวดแก้ว โดยโรงงานผลิตขวดแก้วของโอสถสภานั้นใช้เศษแก้วเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตได้สูงสุดถึงร้อยละ 90 ช่วยให้สามารถลดการใช้พลังงานและทรัพยากรธรรมชาติในการผลิตได้เป็นจำนวนมาก
Read More