ขบถ : สิทธัตถะ โคตมะ (563–483 BCE )
“จงอย่าเชื่อสิ่งใดง่ายๆ แม้แต่คำพูดของเรา จนกว่าจะได้พิสูจน์ด้วยปัญญาและเหตุผลแล้ว” สิทธัตถะ น่าจะถูกเรียกได้ว่าเป็นนักปฏิวัติเปลี่ยนแปลงหัวก้าวหน้าคนแรกๆ ของโลก เพราะไม่เพียงตั้งคำถามกับบรรทัดฐานความเชื่อเดิมของสังคม ระบบวรรณะที่แบ่งคนตามลำดับชั้นพร้อมกับสิทธิติดตัวแต่กำเนิด ความสมเหตุสมผลของการบูชายัญเทพเจ้า ความศักดิ์สิทธิ์ของสถานภาพบุคคลบางจำพวกเท่านั้น แต่สิทธัตถะลงมือเปลี่ยนแปลงสร้างสังคมใหม่ตามความเชื่อของตัวเอง เรียกว่า สังคมสังฆะ เน้นภราดรภาพ ความเท่าเทียมกันของทุกคน ไม่ให้ความสำคัญกับชาติกำเนิด แต่ประเมินคุณค่าของบุคคลจากการกระทำ สิทธัตถะย้ำในหลายโอกาสว่า แนวคิดของเขาเน้นการปฏิบัติ ศึกษาทดลองด้วยตนเอง จนเป็นความรู้เฉพาะตน (ปัจจัตตัง) เพราะแต่ละคนมีเหตุปัจจัยในชีวิตที่แตกต่างกัน ดังนั้น ย่อมไม่มีความรู้ชุดมาตรฐานเดียวสำหรับทุกคน (One size fits all) หากกล่าวในมิติของสถานภาพ ตำแหน่ง เจ้าชาย (Prince) ของสิทธัตถะ ได้เปรียบบรรดานักคิดนักปรัชญาร่วมสมัย เพราะได้ร่ำเรียนวิชาวิทยาการครบทุกด้าน มีชีวิตครอบครัวที่อบอุ่น อยู่อย่างสุขสบาย แต่นั่นกลับทำให้เขาตั้งคำถามกับชีวิตมากยิ่งขึ้น ชีวิตคืออะไร ชีวิตที่ดีเป็นอย่างไร ทำไมหลายคนต้องใช้ชีวิตอย่างมีความทุกข์ตั้งแต่เกิดจนตาย เราจะหลุดพ้นจากวงจรเหล่านี้ได้อย่างไร สิทธัตถะปฏิวัติตัวเองครั้งแรกด้วยการทิ้งทรัพย์สมบัติ สถานภาพไว้เบื้องหลัง ออกเดินทางค้นหาความหมายของชีวิต ฝากตัวเป็นลูกศิษย์กับอาจารย์มีชื่อ จนสำเร็จวิชาสูงสุด เพียงเพื่อจะพบว่า มันยังไม่สามารถตอบคำถามในใจ เขาจึงต้องออกเดินทางค้นหาสิ่งที่อาจเรียกว่า สัจธรรม หรือความจริงแท้อีกครั้งโดยลำพัง เคี่ยวเข็ญเข้มงวดกับร่างกายและจิตใจ
Read More