จาก “ทัวร์วัคซีน” ถึง “ย้ายประเทศ” ภาพสะท้อนความตกต่ำสังคมไทย?
กระแสข่าวว่าด้วยการเสนอจัดการท่องเที่ยวเดินทางไปต่างประเทศเพื่อรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคระบาด COVID-19 ที่เกิดขึ้นในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ในด้านหนึ่งนอกจากจะเป็นความพยายามของผู้ประกอบการในการดิ้นรนและปรับตัวเพื่อความอยู่รอดทางธุรกิจโดยอาศัยจังหวะโอกาสและช่องว่างว่าด้วยการจัดสรรวัคซีนที่ดำเนินอยู่ในต่างประเทศแล้ว ในอีกมิติหนึ่งได้สะท้อนความล้มเหลวของการจัดหาและจัดสรรวัคซีนในประเทศไทยอย่างชัดเจน ซึ่งกำลังกลายเป็นประเด็นที่สั่นคลอนความเชื่อมั่นของประชาชนต่อการบริหารจัดการของกลไกรัฐอย่างหนักหน่วง ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจประการหนึ่งก็คือ “วัคซีน COVID-19” ได้รับการประเมินว่าเป็นทางรอดสำคัญสำหรับผู้คนจำนวนมากทั่วโลก ความล่าช้าหรือการเข้าถึงการฉีดวัคซีนที่ยากในบางประเทศ จึงทำให้มีหลายคนมองหาลู่ทางในการฉีดวัคซีนนอกเหนือจากที่มีอยู่ในประเทศ ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวสอดคล้องกับความต้องการของบางประเทศ ที่ต้องการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ด้วยการดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวและวัคซีน COVID-19 ที่มีอยู่ในประเทศ ในฐานะที่เป็นดีลที่สมประโยชน์ (win-win) ทั้งสองฝ่าย กรณีการกระตุ้นการท่องเที่ยวควบคู่กับการฉีดวัคซีนที่ชัดเจนที่สุดกรณีหนึ่ง ดูจะเป็นยุทธศาสตร์ของ มัลดีฟส์ ที่ริเริ่มการฉีดวัคซีน COVID-19 ให้กับนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามา เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของโครงการริเริ่มมุ่งฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ภายใต้กลยุทธ์ที่เรียกว่า “3V” ประกอบไปด้วย Visit (มาเยือน) - Vaccination (ฉีดวัคซีน) - Vacation (พักผ่อน) ซึ่งจะกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวกลับเข้ามาในมัลดีฟส์ ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ แนวความคิดที่จะนำวัคซีนมาฉีดให้ผู้มาเยือนเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวนี้ ดำเนินไปหลังจากที่มัลดีฟส์ฉีดวัคซีนให้ประชากรในประเทศไปแล้วประมาณ 300,000 คน หรือคิดเป็น ร้อยละ 55 ของประชากรทั้งประเทศ โดยวัคซีนส่วนใหญ่ที่มัลดีฟส์ได้รับเป็นการจัดสรรจากโครงการ COVAX หรือวัคซีนกองกลางที่หลายประเทศนำมาบริจาคไว้แจกจ่ายให้ประเทศที่ขาดศักยภาพในการแย่งชิงวัคซีน COVID-19
Read More