ดัน ‘พริกปลอดภัย’ สู่เกษตรแปลงใหญ่ ถอดบทเรียนพื้นที่ปลูกน้อย-เหลือเงินมาก
นักวิจัยถอดบทเรียน “ปลูกพริกพื้นที่น้อย เหลือเงินมาก” หนุนโครงการพริกแปลงใหญ่ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในจังหวัดแพร่ ถือเป็นตัวอย่างที่นำนโยบายเกษตรแปลงใหญ่ของรัฐบาลมาดำเนินการและได้ผลดีเพราะมีการรวมกลุ่มวิสาหกิจดำเนินงานบนฐานงานวิจัย “พริกปลอดภัย” สกสว. และหน่วยงานรัฐสนับสนุนต่อเนื่อง หลังจากประสบความสำเร็จในการทำโครงการ “พริกปลอดภัย” ที่จังหวัดชัยภูมิในปี 2553 อ.วีระ ภาคอุทัย นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ประเมินภาพรวมทั้งจังหวัดพบว่ามีมูลค่าการขายพริกประมาณ 900 ล้านบาท มูลค่าจ้างเก็บพริกประมาณ 300 ล้านบาท ทำให้มีการขยายผลโครงการไปยังพื้นที่อื่น ๆ เช่น พริกผลใหญ่และพริกใหญ่พันธุ์ลูกผสม อ.หนองม่วงไข่ จ.แพร่ และ พริกพันธุ์พื้นเมืองใน อ.ท่าวังผา จ.น่าน ซึ่งประสบปัญหาโรคและแมลงอย่างมากทั้งโรคกุ้งแห้ง ยอดเน่า รากเน่าโคนเน่า เพลี้ยอ่อน เพลี้ยไฟ ไรขาว แมลงวันทองพริก หรือแมลงวันพริกและหนอนเจาะผล เป็นต้น ส่งผลให้ผลผลิตน้อยและราคาพริกที่เกษตรกรขายได้มีราคาตกต่ำ นักวิจัยระบุว่าปัญหาหลักเกิดจากเมล็ดที่เก็บไว้เองมีเชื้อรา ทำให้เกิดโรคกุ้งแห้งติดอยู่ การปลูกพริกหลังฤดูกาลปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หรือข้าวนาปีแล้วไม่มีการไถเตรียมดินแล้วคลุมแปลงด้วยฟางหรือเปลือกข้าวโพดก่อนปลูกพริกและปลูกถี่เกินไป เพื่อให้ต้นพริกพยุงต้นป้องกันต้นพริกล้มแปลงปลูกพริกอยู่ติดกันหรือปลูกพริกแน่น ไม่ได้วางแผนปลูกร่วมกัน หรือไม่ได้ก็บพริกที่เป็นโรคและแมลงออกจากสวน ให้น้ำแบบสายยางติดฝักบัวพ่นฝอยตลอดทำให้การแพร่กระจายของโรคกุ้งแห้งเป็นไปอย่างรวดเร็ว ดินเป็นกรด (ค่าพีเอชน้อยกว่า 6.0) ทำให้สิ้นเปลืองปุ๋ยและเกิดโรคจากเชื้อราได้ง่าย อ.วีระและคณะวิจัยจึงได้วิเคราะห์ปัญหาและจัดประชุมร่วมกับเกษตรกรและเจ้าหน้าที่เกษตร
Read More