จากเถ้าธุลีสู่ฝุ่นพิษ PM2.5 ภัยคุกคามต่อชีวิตประจำวัน
สถานการณ์ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอนหรือที่เรียกขานกันในนามฝุ่นพิษ PM2.5 ที่มีค่าเกินมาตรฐานได้แปลงสภาพจากเรื่องเล็กน้อยกลายเป็นปัญหาเรื้อรังที่ขยายตัวออกไปอย่างที่ยังไม่อาจหาบทสรุปสุดท้ายได้ว่าจะสิ้นสุดลงด้วยมาตรการและแนวทางการแก้ไขปัญหาที่มีรูปธรรมในทางปฏิบัติจากกลไกภาครัฐได้อย่างไร ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมาปัญหาฝุ่นพิษขนาดเล็กน้อยได้เข้าสู่การรับรู้ของสังคมไทยมาเป็นระยะและถูกทำให้มีฐานะเป็นมลภาวะที่เกิดขึ้นตามฤดูกาลในช่วงหน้าแล้งโดยระบุว่าสาเหตุหลักเกิดจากปัญหาการเผาในที่โล่งแจ้งในกระบวนการผลิตของเกษตรกร ขณะที่กลไกภาครัฐนับตั้งแต่ยุคของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในรัฐบาลประยุทธ์ 1 ได้เคยออกมาตรการแก้ปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 .ในฐานะที่เป็นวาระแห่งชาติ ที่ประกอบส่วนด้วยมาตรการระยะเร่งด่วน มาตรการระยะกลางและมาตรการระยะยาว หากแต่ดูเหมือนว่าคำสั่งของหัวหน้าคณะ คสช. การสั่งการของนายกรัฐมนตรีและมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในช่วงที่ผ่านมากลับไม่สามารถนำมาซึ่งการขับเคลื่อนเพื่อการแก้ไขปัญหาได้อย่างจริงจังและอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด มิหนำซ้ำสถานการณ์ฝุ่นพิษกลับทวีความรุนแรงจนคุกคามการดำเนินชีวิตปกติประจำวันของผู้คนในสังคมไทยในลักษณะที่แพร่กว้างและหนักหน่วงขึ้นอีกด้วย การตระหนักรู้ถึงปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 และความพยายามของกลไกภาครัฐในการแก้ไขปัญหาในช่วงที่ผ่านมาอาจเห็นได้จากการสั่งการของหัวหน้าคณะ คสช. นับตั้งแต่เมื่อช่วงปลายปี 2561 ที่ระบุให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงกรุงเทพมหานคร เร่งดำเนินการควบคุมดูแลเพื่อบรรเทาปัญหาเฉพาะหน้า และให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งหน่วยงานในฝ่ายตำรวจ ทหาร เร่งรัดกำหนดมาตรการเพื่อดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหามลภาวะในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมและมีความยั่งยืนต่อไป ความยั่งยืนของการป้องกันและแก้ไขปัญหาภายหลังการสั่งการดังกล่าวนอกจากจะไม่ได้ช่วยบรรเทาสถานการณ์ให้เบาบางลงแล้ว ข้อเท็จจริงที่ปรากฏกลับกลายเป็นว่ารัฐต้องเร่งสั่งการเพิ่มเติมให้การดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหามลภาวะดังกล่าวให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็วและให้เป็นไปตามหลักปฏิบัติสากล โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อประชาชน รวมทั้งผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคมด้วย ขณะเดียวกันในช่วงต้นปี 2562 ยังสั่งการให้กระทรวงพลังงานเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงคมนาคม กระทรวงศึกษาธิการ กรมประชาสัมพันธ์ เร่งดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อรณรงค์ให้ประชาชนใช้น้ำมันไบโอดีเซลเกรดพิเศษ B20 แทนน้ำมันดีเซลให้มากยิ่งขึ้นเพื่อลดภาวะการเกิดมลพิษและฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศ รวมทั้งให้เร่งรัดจัดให้มีจุดบริการประชาชนในการปรับแต่งเครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมันดีเซลให้สามารถรองรับน้ำมันไบโอดีเซลเกรดพิเศษ B20 ได้ พัฒนาการในการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5
Read More