มช. มุ่งพัฒนาสปาล้านนาและผลิตภัณฑ์ ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพสู่สากล
สกสว.หนุนมหาวิทยาลัยเชียงใหม่พัฒนาสปาล้านนาและผลิตภัณฑ์จากพืชหอมประจำถิ่น ว่านเสน่ห์จันทร์หอมและตะไคร้ภูเขา หวังยกระดับมาตรฐานสากล ตามแผนงานวิจัยการบริหารจัดการแผนงานการเตรียมความพร้อมประเทศไทยเชิงรุกให้เป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่มีคุณภาพ ศาสตราจารย์ ดร.วิภาดา คุณาวิกติกุล คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะผู้อำนวยการแผนงานวิจัยการบริหารจัดการแผนงานการเตรียมความพร้อมประเทศไทยเชิงรุกให้เป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่มีคุณภาพ เปิดเผยว่า ปัจจุบันการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจอนาคตของโลกและของประเทศ มีมูลค่าการตลาดสูงเป็นอันดับ 4 รองจากการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การท่องเที่ยวเชิงอาหาร และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ โดยรายได้จากการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพคิดเป็นร้อยละ 15.6 จากรายได้การท่องเที่ยวทั้งหมด คณะวิจัยจึงได้ศึกษาหาแนวทางการพัฒนาประเทศไทยสู่การเป็นจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวเชิงกีฬา ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ทำให้ได้ชุดความรู้ใหม่และข้อมูลการวิเคราะห์สังเคราะห์เพื่อจัดทำแผนการบริหารจัดการเพื่อเตรียมความพร้อมประเทศไทย และร่างแนวทางการบริหารจัดการโครงการวิจัยที่สามารถนำไปบริหารจัดการโครงการวิจัยให้มีประสิทธิผลตามเป้าหมาย พร้อมกับผลักดันสู่กระบวนการกำหนดนโยบายที่มีความเหมาะสม เช่น การส่งเสริมด้านกลยุทธ์ในระดับต่าง ๆ ระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง การสร้างความร่วมมือ การผลักดันระบบสาธารณะที่เกี่ยวข้อง นำมาซึ่งการสร้างโอกาสด้านการท่องเที่ยวและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค ระดับจังหวัด ระดับท้องถิ่น หรือระดับหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งเข้าสู่กระบวนการวิจัยในชุมชนและพื้นที่ โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ ขยายผลต่อผู้ประกอบการกีฬาและสปาชุมชนและท้องถิ่นเพื่อสร้างความยั่งยืน ขณะที่ ศาสตราจารย์ ดร.อารีวรรณ กลั่นกลิ่น หัวหน้าโครงการการพัฒนาสปาล้านนาสำหรับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ระบุว่าการให้บริการสปาเป็นรูปแบบการท่องเที่ยวหนึ่งของไทยที่ได้รับความนิยมอย่างมาก และมีแนวโน้มการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
Read More