จากกรุงเทพฯ ถึงฮ่องกง บทเรียนและราคาที่ต้องจ่าย?!
การชุมนุมประท้วงของชาวฮ่องกงที่ดำเนินต่อเนื่องมาเป็นสัปดาห์ที่ 10-11 และทวีความตึงเครียดขึ้นไปเมื่อมีการบุกรุกเข้าไปยังสนามบินนานาชาติ จนเป็นเหตุให้ต้องมีการยกเลิกเที่ยวบินทั้งขาเข้าและขาออกในช่วงก่อนหน้านี้ โดยที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะก้าวไปสู่บทสรุปสุดท้ายอย่างไร ทำให้หลายฝ่ายเริ่มประเมินถึงผลกระทบจากกรณีดังกล่าวไปในทิศทางที่เป็นลบ และกังวลว่าอาจเป็นฟางอีกเส้นที่ส่งให้เศรษฐกิจในภูมิภาคถดถอยลงกว่าที่เป็นอยู่ เนื่องเพราะการชุมนุมประท้วงที่ยืดเยื้อในฮ่องกงส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจนำเงินเข้าไปลงทุนในฮ่องกงของบรรดานักลงทุนต่างชาติและนักลงทุนชาวฮ่องกงโดยตรง ขณะที่การชุมนุมประท้วงที่ส่งสัญญาณความรุนแรงมากขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ก่อนที่จะนำไปสู่การปิดสนามบินในช่วงกลางเดือน นับเป็นการท้าทายต่ออำนาจของทางการและรัฐบาลจีนในกรุงปักกิ่งอย่างไม่อาจเลี่ยง การชุมนุมที่มีจุดเริ่มต้นจากการคัดค้านการที่คณะผู้ปกครองฮ่องกงเตรียมนำเสนอและผ่านร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนจากฮ่องกงไปจีน ก่อนที่จะยกระดับไปสู่การชุมนุมที่สนามบินจนเป็นเหตุให้ต้องปิดการจราจรทางอากาศ ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อนในฮ่องกง กลายเป็นการชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่สหราชอาณาจักรส่งมอบอธิปไตยของฮ่องกงคืนให้กับจีนเมื่อปี 2540 เค้าลางแห่งความไม่พึงพอใจจนนำไปสู่การชุมนุมประท้วงยืดเยื้อ ในด้านหนึ่งเป็นผลพวงมาจากข้อเท็จจริงที่ว่า สถานะของฮ่องกงหลังการส่งมอบคืนจีนเมื่อปี 2540 นั้น ดำเนินไปภายใต้ข้อตกลงพิเศษระหว่างจีนและสหราชอาณาจักร ที่ทำให้แม้ฮ่องกงจะเป็นส่วนหนึ่งของจีน แต่ก็ยังมีสิทธิปกครองตนเอง แบบ “1 ประเทศ 2 ระบบ” โดยสิทธิพิเศษและเสรีภาพที่ฮ่องกงได้รับนี้จะสิ้นสุดลงในปี 2590 ซึ่งดูเหมือนว่ารัฐบาลจีนไม่ต้องการรอจนถึงเวลานั้น ขณะที่ประชาชนชาวฮ่องกงจำนวนไม่น้อยก็เริ่มกังวลใจต่ออนาคตที่กำลังคืบคลานใกล้เข้ามา ความพยายามที่จะประท้วง คัดค้าน และแสดงออกซึ่งเสรีภาพทางการเมืองของชาวฮ่องกง เป็นกรณีที่เกิดขึ้นต่อเนื่องนับตั้งแต่เมื่อปี 2546 โดยชาวฮ่องกงจำนวนหลายแสนคนประสบความสำเร็จในการประท้วงและสามารถล้มร่างกฎหมายที่ห้ามวิจารณ์จีนได้สำเร็จ และต่อมาเมื่อปี 2557 ชาวฮ่องกงหลายหมื่นคนก็ปักหลักชุมนุมยืดเยื้อหลายสัปดาห์ เพื่อต่อต้านจีน ที่ใช้อิทธิพลต่อการเลือกตั้งของฮ่องกง ซึ่งประชาชนจำนวนมากใช้ร่มเป็นอุปกรณ์ป้องกันฤทธิ์ของแก๊สน้ำตา จนถูกขนานนามว่า “การเคลื่อนไหวร่ม” (Umbrella Movement) ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจและเกิดขึ้นในช่วง 2 ทศวรรษหลังจากที่ฮ่องกงกลับคืนสู่อ้อมอกของจีนอยู่ที่คนหนุ่มสาวชาวฮ่องกงเริ่มตระหนักและตื่นตัวเรื่องการเมืองเพิ่มขึ้นในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา โดยอัตราการลงทะเบียนเลือกตั้งของคนอายุ
Read More