ถอดรหัสเลือกตั้งเมียนมา “ประชาธิปไตยแบบมีวินัย”
โฉมหน้าทางการเมืองของประเทศเพื่อนบ้านทางทิศตะวันตกของไทย ในนามเมียนมา กำลังเข้าสู่ห้วงเวลาที่น่าสนใจติดตาม ซึ่งอาจเป็นการกำหนดบทบาทและทิศทางการขับเคลื่อนประเทศบนหนทางประชาธิปไตยที่สำคัญที่สุดอีกครั้งหนึ่ง การเลือกตั้งทั่วไปที่กำหนดให้มีขึ้นในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2558 ได้รับความสนใจและเป็นที่จับตามองจากประชาคมนานาชาติว่าจะดำเนินไปอย่างสุจริตเที่ยงธรรมและเป็นประชาธิปไตยมากน้อยเพียงใด ซึ่งความคาดหวังเหล่านี้อาจเป็นเพียงแนวคิดอุดมคติ เพราะในความเป็นจริงที่ปรากฏในปัจจุบัน กระบวนการเปลี่ยนผ่านตาม Roadmap to Discipline-flourishing Democracy ของเมียนมาที่ประกาศไว้ตั้งแต่เมื่อปี 2003 ยังต้องเผชิญกับอุปสรรคและความไม่แน่นอนอยู่พอสมควร เงื่อนไขสำคัญอีกประการหนึ่งที่เป็นเสมือนเครื่องหมายของการกระชับอำนาจของฝ่ายทหารในการรักษาอำนาจไว้ก็คือ บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่ระบุให้มีการแต่งตั้งสมาชิกรัฐสภาในสัดส่วนที่มากถึงหนึ่งในสี่ของจำนวนสมาชิกที่พึงมี โดยสมาชิกแต่งตั้งเหล่านี้มีสิทธิที่จะยับยั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ฝ่ายทหารเป็นผู้ยกร่างอีกด้วย แม้ความเป็นไปในบทบัญญัตินี้จะได้การวิพากษ์และท้วงติงจากประชาคมประชาธิปไตย แต่ฝ่ายกุมอำนาจในเมียนมา ระบุว่านี่คือการสร้างประชาธิปไตยแบบมีวินัย หรือ Discipline-flourishing Democracy ซึ่งทำให้ผลการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น นอกจากจะได้รับการประเมินในมิติของความโปร่งใสและสะท้อนเจตจำนงที่แท้จริงของประชาชนเมียนมาเพียงใดแล้ว ยังต้องประเมินต่อไปอีกว่าจะสามารถมีนัยความหมายมากพอที่จะสร้างกระบวนการประชาธิปไตยที่แท้จริงให้เกิดขึ้นได้หรือไม่ ขณะเดียวกัน ท่ามกลางพรรคการเมืองจำนวนมากถึง 91 พรรค พรรค NLD (National League for Democracy) ที่นำโดยออง ซาน ซู จี (Aung San Suu Kyi) ผู้นำฝ่ายค้านคนสำคัญ ได้รับการคาดหมายว่าจะได้รับคะแนนเสียงท่วมท้น แต่นั่นก็เป็นการคาดการณ์จากผลการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อครั้งที่เกิดขึ้นในปี 1990 ที่
Read More