บันทึกรัตนโกสินทร์ ๒๓๔ “เจริญกรุง-เจริญนคร” ความเปลี่ยนแปลงในนามของความเจริญ
ความเป็นไปของเขตบ้านย่านเมืองของกรุงเทพมหานครในห้วงยามที่กำลังจะเข้าสู่วาระแห่งการเฉลิมฉลอง 234 ปีของการก่อตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ ดูเหมือนจะไม่มีย่านใดส่งผ่านและสะท้อนภาพการเปลี่ยนแปลงได้ครึกโครมและเป็นประเด็นให้ต้องพิจารณาดั่งเช่นกรณีที่เกิดขึ้นบนถนนเจริญกรุงและถนนเจริญนคร สองเส้นทางสัญจรทางบกที่ทอดตัวยาวเป็นคู่ขนานกันและที่ขนาบข้างอยู่คนละฝั่งฟากของแม่น้ำเจ้าพระยา สายน้ำที่เป็นประหนึ่งสัญลักษณ์ของประเทศด้วย จากจุดเริ่มต้นในฐานะถนนที่ใช้เทคนิคการสร้างแบบยุโรปสายแรกของสยามประเทศ ที่เริ่มสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 เมื่อปี พ.ศ. 2404 หรือเมื่อกว่า 150 ปีที่ผ่านมา เพื่อให้สอดรับกับความทันสมัยและเป็นที่เชิดหน้าชูตาว่าสยามก็มีความเจริญทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ โดยถนนสายใหม่ที่ถูกสร้างขึ้นรวมระยะทางกว่า 8.5 กิโลเมตรในครั้งนั้น ได้รับการเรียกขานว่า New Road ก่อนที่จะได้รับพระราชทานนาม “เจริญกรุง” ในเวลาต่อมา ความแออัดคับคั่งและการขยายตัวของชุมชนเมืองได้ส่งให้ตลอดเส้นทางของถนนเจริญกรุงอุดมด้วยเรื่องราวและสีสันหลากหลายให้ได้ร่วมพิจารณาและศึกษาในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งในบทบันทึกประวัติศาสตร์และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคมแห่งนี้ ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นด้วยเหตุแห่งการมาถึงของถนนสายใหม่ ไล่เรียงมาสู่แนวเส้นทางของรถรางรอบเมืองในอดีต ได้ช่วยปรับแต่งและต่อเติมพัฒนาการของเขตบ้านย่านเมืองบนถนนเจริญกรุงให้ได้ก่อรูปและตกผลึกขึ้นอย่างช้าๆ เป็นผลกระทบที่ผู้คนในชุมชนต่างค่อยๆ ปรับตัวเพื่อก้าวย่างสู่บริบทใหม่ หากแต่การมาถึงของความเจริญก้าวหน้าครั้งใหม่ในนามของโครงข่ายการคมนาคมระบบรางที่กำลังแทรกตัวขึ้นมาในรูปแบบของรถไฟฟ้าใต้ดิน กำลังส่งผลในการปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์ของเจริญกรุงด้วยอัตราเร่งอย่างที่ผู้คนในชุมชนไม่เคยเผชิญมาก่อน ขณะที่วิถีชีวิตและความเป็นไปในมิติของวัฒนธรรมกำลังจะถูกฉีกกระชากให้เหลือแต่ซากอดีตให้ได้จดจำและกล่าวถึง การล่มสลายและผุพังลงของชุมชนเก่าเป็นภาพสะท้อนที่วิ่งสวนทางกับภาพประชาสัมพันธ์โครงการพัฒนาที่ดินครั้งใหม่ที่มีจำนวนไม่น้อยและผุดพรายขึ้นเข้ามาเบียดแทรกและแทนที่ ช่วยถมช่องว่างของการพัฒนาและความเจริญทันสมัยของเขตนี้ไปโดยปริยาย “เจริญกรุง” อาจให้ภาพของการเป็นย่านการค้าที่รุ่งเรืองและดำเนินไปท่ามกลางพลวัตทางธุรกิจที่หล่อเลี้ยงองคาพยพเศรษฐกิจไทยมาตั้งแต่อดีต และกำลังเดินหน้าเข้าสู่บริบทใหม่ของการพัฒนาพื้นที่โดยในช่วงปลายปีที่ผ่านมา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ได้ร่วมกันนำเสนอ โครงการสร้างสรรค์เจริญกรุง (Co—Create Charoenkrung) ด้วย วัตถุประสงค์ของโครงการที่ว่านี้ ได้รับการระบุว่า เป็นไปเพื่อพัฒนาพื้นที่สร้างสรรค์ในย่านเจริญกรุง ซึ่งเคยเป็นย่านที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจและสังคมในอดีต ให้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ต้นแบบของความเจริญทางธุรกิจสร้างสรรค์ ซึ่งตอบโจทย์ความต้องการทางกายภาพ จิตใจ เศรษฐกิจ และสังคม
Read More