คุณค่าแห่ง “ทอง”
ทั้งประดับ-เก็บออมและลงทุน พลันที่คิดจะซื้อทองมาเป็นเครื่องประดับสถานะหรือแม้จะลงทุนในฐานะที่เป็นการเก็บออม เชื่อแน่ว่า เยาวราชเป็นสถานที่แรกๆ ที่ผุดขึ้นมาในความคิด เพราะที่นี่เป็นประหนึ่งศูนย์กลางและย่านการค้าทองคำแหล่งใหญ่ของเมืองไทย ความผันแปรของราคาทองคำในช่วงหลายปีที่ผ่านมาทำให้ประพฤติกรรมของผู้บริโภคทองคำปรับเปลี่ยนไปมาก จากเดิมที่ซื้อทองในฐานะเครื่องประดับกลายมาเป็นการซื้อทองคำเพื่อเก็บออมและมีไม่น้อยที่ซื้อทองคำในลักษณะเป็นการลงทุนหวังผลเก็งกำไรกันเลยทีเดียว “ในอดีตลูกค้าจะซื้อทองคำรูปพรรณ 95% ซื้อทองแท่ง 5% แต่ตอนนี้สลับกัน ซื้อทองคำแท่ง 95% และซื้อทองรูปพรรณ 5%” จิตติ ตั้งสิทธิ์ภักดี นายกสมาคมค้าทองคำแห่งประเทศไทย ผู้คร่ำหวอดอยู่ในวงการค้าทองคำบนถนนเยาวราชมานานกว่า 50 ปี ขยายความการเปลี่ยนแปลง ย้อนกลับไปในอดีต ทองคำนิยมใช้เป็นเครื่องประดับและเก็บออมบางส่วน ในลักษณะเก็บสะสมทีละเล็กทีละน้อย ผู้บริโภคที่ซื้อทองคำมักมีฐานะปานกลาง ในขณะที่ผู้บริโภคที่มีฐานะไม่นิยมซื้อทองคำเพื่อสวมใส่ แต่ซื้อทองคำเพื่อเป็นหลักประกันทางเศรษฐกิจมากกว่า พฤติกรรมของผู้บริโภคที่หันมาซื้อทองคำแท่งเพิ่มมากขึ้นในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะข่าวสารที่เข้าถึงได้ง่ายแม้อยู่กันคนละซีกโลก รวมถึงการเปิดตลาดซื้อขายทองคำล่วงหน้าและการปรับขึ้นอย่างรวดเร็วของราคาทองคำที่ทำให้เกิดภาวะตื่นทอง สำหรับตลาดทองในไทย มีความผันผวนตามราคาทองคำโลกอย่างไม่อาจเลี่ยงกลไกการขับเคลื่อนธุรกิจทองคำผ่านสมาคมค้าทองคำ (Gold Traders Association) ซึ่งแม้จะมีเป้าประสงค์ในการก่อตั้งสมาคมเพื่อสนับสนุนช่วยเหลือและแลกเปลี่ยนความรู้ ข้อมูลข่าวสาร และความคิดเห็นในระหว่างสมาชิกในอันที่จะอำนวยประโยชน์แก่การประกอบธุรกิจ รวมทั้งให้เกิดประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมการเงินและเศรษฐกิจโดยรวมด้วย ตลอดจนสมาคมฯ ยังทำหน้าที่เป็นตัวแทนของผู้ประกอบการค้าทองคำในการเจรจาทำความตกลงกับบุคคลหรือองค์กรต่างๆ ภายนอกเพื่อประโยชน์ร่วมกันในการประกอบธุรกิจของสมาชิก แต่บทบาทสำคัญที่สุดของสมาคมผู้ค้าทองคำก็คือ การกำหนดราคาทองคำแท่งและทองรูปพรรณเพียงรายเดียวในประเทศ โดยคณะกรรมการควบคุมราคาทองของสมาคมฯ หรือที่เรียกว่า “5 เสือเยาวราช” มาจากตัวแทนร้านทองย่านเยาวราช 5 แห่ง อันประกอบด้วยห้างทอง จินฮั้วเฮง ฮั่วเซ่งเฮง
Read More