Home > ทมิฬ

ภาษา “ทมิฬ”

 Column: AYUBOWAN ช่วงเดือนเมษายนต่อเนื่องถึงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา สังคมไทยดูจะอยู่ในช่วงพักร้อนยาวจากปฏิทินวันหยุดต่อเนื่องในเทศกาลงานพิธีหลากหลาย ซึ่งไม่แตกต่างจากความเป็นไปของศรีลังกามากนัก เพราะหลังจากผ่านช่วง Avurudu หรือปีใหม่ของทั้งชาวสิงหลและทมิฬที่ไล่เรียงตั้งแต่ช่วงกลางเดือนเมษายน และหยุดยาวต่อเนื่องกว่าที่สังคมและภาคธุรกิจจะกลับเข้าสู่การทำงานปกติก็ล่วงเลยไปจะถึงสิ้นเดือนกันเลยทีเดียว เหตุที่เป็นดังนั้นก็เพราะนอกจากช่วง Avurudu จะนับเป็นช่วงเวลาของครอบครัวที่ทำให้มีการเดินทางท่องเที่ยวและใช้เวลากับครอบครัวแล้ว บรรษัทห้างร้านก็ถือโอกาสให้เป็นช่วงเวลาของการสังสรรค์ภายใน ยังไม่นับรวมถึงกิจกรรมของแต่ละชุมชนและกลุ่มสมาคมชมรมที่จัดตารางกิจกรรมหนาแน่นไปตลอด 2-3 สัปดาห์ ครั้นพอเข้าสู่ช่วงเดือนพฤษภาคม การประดับโคมประทีปเพื่อเตรียมการเฉลิมฉลองในเทศกาลวันวิสาขบูชา หรือ Vesak ซึ่งถือเป็นวันพระใหญ่สำคัญของชาวพุทธก็เริ่มดำเนินทอดยาวไปอีก ไม่ต่ำกว่า 3-4 สัปดาห์ เรียกได้ว่าหลังจากผ่านช่วงเวลาสนุกหรรษาเถลิงศกใหม่ก็มาถึงงานบุญงานกุศล เพื่อเป็นพุทธบูชาที่สะท้อนอัตลักษณ์ของสังคมชาวพุทธและความเป็นพหุสังคมของศรีลังกาได้เป็นอย่างดี ยิ่งเมื่อเข้าถึงเดือนมิถุนายนซึ่งเป็นเดือนสำคัญแห่งการถือศีลอดของผู้นับถือศาสนาอิสลาม (Holy Month of Ramadan) โดยในปีนี้เริ่มเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งนอกจากจะประกอบส่วนด้วยวัตรปฏิบัติของชาวมุสลิมแต่ละท่านแล้วยังมีกิจกรรมแวดล้อมของกลุ่มสมาคมและองค์กรการกุศลเข้าร่วมด้วย ท่ามกลางการเฉลิมฉลองและพิธีกรรมที่หลากหลายของผู้คนแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่ร่วมกันในสังคมศรีลังกา วันที่ 6 มิถุนายนปีนี้ก็นับว่าเป็นวันสำคัญไม่น้อยสำหรับชาวทมิฬ และผู้ใช้ภาษาทมิฬทั้งในศรีลังกาและอีกกว่า 80 ล้านคนทั่วโลก เพราะหากย้อนกลับไปในปี 2004 รัฐสภาอินเดียได้ลงมติยกสถานะภาษาทมิฬให้เป็น Classical Language ของอินเดีย ซึ่งถือเป็นภาษาแรกในภาษาราชการจำนวน 22 ภาษาของอินเดียที่ได้รับสถานะที่ว่านี้ แม้ว่าในอินเดียจะมีผู้ใช้ภาษาทมิฬอยู่เพียงประมาณ 70 ล้านคนจากจำนวนประชากรรวมกว่า 1,200 ล้านคนก็ตาม นัยความหมายของการเป็น Classical Language หรือภาษาคลาสสิกในด้านหนึ่งก็คือการยอมรับว่าภาษาทมิฬมีส่วนเป็นรากฐานให้กับภาษาอื่นๆ และมีคุณค่าในมิติของวรรณกรรม

Read More